“สะใภ้เจ้า” จากการเมืองระบบเครือญาติ เปลี่ยนผ่านสู่สามัญ

(ซ้าย) หม่อมแผ้ว ณ นครราชสีมา (ขวา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา กับชายา หม่อมแผ้ว ณ นครราชสีมา (ภาพจากหนังสือ “จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์-พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย”)

สำหรับประเทศไทย การเมืองระบบเครือญาติที่เกิดจากการแต่งงาน ระหว่างครอบครัวเจ้านายด้วยกัน, ระหว่างขุนนางด้วยกัน, ระหว่างลูกเศรษฐีด้วยกัน มีให้เห็นมาตั้งแต่อดีต

เพราะการแต่งงานของคนสองคนมีผลต่อคนหลายคน

วันนี้อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านติดตามเรื่องราวของสตรีที่เป็นสะใภ้ แต่พวกเธอไม่ใช่สะใภ้ธรรมดา แต่เป็น “สะใภ้เจ้า” จากงานของวีระยุทธ ปีสาลี นักเขียนที่ให้เวลากับการค้นคว้าเอกสารกว่า 50 รายการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเขียนบทความชื่อ “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล”  ลงใน ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2561

หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก ชายาชาวรัสเซียในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ภาพจากหนังสือ “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม”)

สะใภ้เจ้า คือสตรีที่แต่งงานมีสามีเป็นเจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป เดิมผู้หญิงที่มาเป็นสะใภ้เจ้ามักเป็นระดับเจ้านายในราชสำนักฝ่ายใน ก่อนจะขยายวงมาเป็นบุตรสาวของบุคคลสำคัญ (เช่น ขุนนาง, พ่อค้า ฯลฯ) เพื่อให้สถานของครอบครัว “เธอ” และ “เขา” ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน แล้วพัฒนาไปสู่การแต่งงานกับสามัญชน (ชาวไทย/ชาวต่างชาติ) ดังจะเห็นได้ว่า

ในรัชกาลที่ 5 “สะใภ้เจ้า” ที่เป็นเจ้านายฝ่ายในจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ก็ไม่โปรดให้พระราชโอรสเสกสมรสกับพระขนิษฐาต่างพระมารดาเฉกเช่นที่เคยมีมาแต่เดิม สะใภ้หลวงของรัชกาลที่ 5 ทุกพระองค์จึงเป็นพระธิดาของพระอนุชาในพระองค์ นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น

หากปรากฏการณ์ใหญ่ที่โจษจันไปทั่วคือ หม่อมคัทรินชายาชาวรัสเซียในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สะใภ้เจ้าต่างชาติที่ทำให้พระราชชนกพระราชชนนีทรงผิดหวังและพิโรธเป็นอย่างมาก เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ของการสืบราชสันตติวงศ์

ในรัชกาลที่ 6 สะใภ้เจ้าต่างชาติเริ่มมีเพิ่มขึ้น แต่พ.ศ. 2457 พระองค์ทรงให้ร่างประกาศการสมรสของพระบรมวงศานุวงศ์กับชาวต่างชาติต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถ้าท่านพระองค์ใดฝ่าฝืนก็จะมีการลงโทษ

และเริ่มมีสะใภ้เจ้าที่เป็นสามัญโดยหม่อมที่เป็นสามัญชนชาวไทยที่สำคัญคือ 1. หม่อมแผ้ว ณ นครราชสีมา (ต่อมาคือท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี) ชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา 2. หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม ๒๕๖๑

นี่คือรายการเรียกน้ำย่อยที่ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม”

เพราะยังมีเรื่องราวอีกหลายมุมที่ไม่ค่อยมีใครใคร่กล่าวถึง เช่น มุมมองจากครอบครัวและญาติพี่น้องของ “สะใภ้แหม่ม” ในอดีตว่ามีรู้สึกอย่างไรที่ลูกสาว, หลานสาวของตนจะแต่งงานกับเจ้าชายไทยไปอยู่ในดินแดนที่ไกลโพ้น, สถานะภาพของสะใภ้เจ้าหรือพระมารดาที่มีผลต่อเจ้านายพระองค์น้อยในอนาคต ฯลฯ ซึ่ง “สะใภ้เจ้า” จะสะท้อนภาพให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม