ศิลปะไม่ใช่ภาพเปลือย ภาพเปลือยก็ไม่ใช่ศิลปะทั้งหมด แยกศิลป์กับโป๊อนาจารอย่างไร

ในฐานะที่ต้องมายืนอยู่บนถนนสายศิลปะ เมื่อมีใครที่จะมาบิดเบือน ให้ร้าย โจมตี ให้ความหมายขอคำว่าศิลปะแปรเปลี่ยนไปจากความเชื่อความเข้าใจที่ได้เคยอบรมรับการสั่งสอนมา ทำให้อดรนทนไม่ได้ต้องชี้แจงกันให้เข้าใจเสียที ความจริงเรื่องที่จะพูดถึงในคราวนี้ เคยแสดงความคิดเห็นไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติความเข้าใจผิดความหลงผิด ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกที

เรื่องของเรื่องก็คือว่าเดี๋ยวนี้ทุกคนเข้าใจกันไปแล้วว่า ถ้าหากเห็นรูปของหญิงสาวในชุดวอบ ๆ แวบ ๆ หรือสาวเปลือยก็เป็นต้องเรียกว่า “ภาพศิลป์” ซึ่งที่จริงมันคือภาพโป๊ หรือภาพอุจาดอนาจาร ปฏิทินที่พิมพ์แจกกันประจำทุกปี ข้อแก้ตัวของผู้จัดทำหรือเจ้าของสินค้าเพื่อดึงดูดในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียวก็คือ สิ่งพิมพ์เหล่านี้ก็คืองานศิลปะ เรื่องอย่างนี้ต้องเชื่อมโยงไปถึง ช่างภาพหรือจิตรกร ซึ่งต้องได้รับการยกย่องว่าเขาคือศิลปิน และนางแบบคือผู้เสียสละ ชีวิตต้องตกระกำลำบาก การที่มาถ่ายภาพโป๊ก็เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ และน้อง ๆ ที่กำลังหิวโหยอยู่อีกหลายคน

น่าสลดหดหู่ที่งานอันไม่เกี่ยวข้องกับคำว่าศิลปะอย่างนี้ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึง ซ้ำยังบิดเบือนให้สังคมมองเห็นว่าเป็นค่านิยมที่ดีอีกด้วย และองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบในด้านจริยธรรมของสังคมก็ไม่มีความรู้ที่จะชี้ขาดลงไปให้ชัดเจนเสียด้วย ที่จริงแล้วศิลปะกับภาพโป๊อนาจารนั้นแตกต่างกันอย่างกับขาวกับดำ อย่างกับสูงกับต่ำ และอย่างสวรรค์กับนรก

นรก ผมเชื่อว่าสิ่งใดต่ำหรือโน้มไปทางต่ำทรามนั้นทุกคนรู้ดี และอำนาจใฝ่ต่ำของมนุษย์ธรรมดาพร้อมที่จะไหลไปตามกระแสอยู่แล้ว เช่น ถ้าหากใครมาถามว่า อยากดูรูปโป๊ไหม มนุษย์ธรรมดาอย่างเราคงไม่ปฏิเสธ แต่ว่าจะมีคุณค่าเป็นศิลปะหรือไม่คืออีกประเด็นหนึ่งที่ต้องแยกแยะให้ถูกต้อง

ศิลปะนั้นคืองานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากมันสมองและจินตนาการของมนุษย์ งานผู้หญิงเปลือยเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของงานศิลปะ และภาพเปลือยที่เห็นกันอยู่ ไม่ใช่ทุกภาพที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะ น้อยชิ้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะอมตะ ดังนั้นภาพเปลือยที่เป็นศิลปะ จะต้องมีความหมาย มีเนื้อหาสาระสำหรับคนดู ไม่ใช่สักแต่ว่าถ่ายให้เป็นภาพ หรือว่าสักแต่จะเปลื้อเสื้อผ้าอาภรณ์แล้วจะเรียกว่าศิลปะ

ผมคงเอาภาพตัวอย่างที่โลกได้ยกย่องกันแล้วว่าเป็นภาพเปลือยที่มีศิลปะ และบางภาพเป็นอมตะมีอายุยืนยาวมาแล้วถึง ๕๐๐ ปีก็ยังมี ภาพเหล่านี้เป็นภาพหญิงสาวไม่นุ่งผ้าจริง แต่ศิลปินไม่ได้สื่อความหมายไปในทางยั่วยุทางกามารมณ์เลย ผมจะลองรีวิวภาพเหล่านี้ไปทีละภาพ

กำเนิดวีนัส (The Birth of Venus)” โดย ซานโดร บอตติเชลลี, พ.ศ. ๒๐๓๓ (ภาพจากเว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Birth_of_Venus#/media/File:Sandro_Botticelli_-_La_nascita_di_Venere_-_Google_Art_Project_-_edited.jpg)

ภาพแรกคือ “กำเนิดวีนัส” ของ ซานโดร บอตติเชลลิ จิตรกรชาวอิตาเลี่ยนเขียนภาพนี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๓๓ ภาพนี้ปัจจุบันเป็นศิลปะชิ้นเยี่ยมของพิพธภัณฑ์อูพีจิ นครฟลอเรนซ์ ใครที่ได้ไปประเทศอิตาลี จะต้องเข้าชมภาพนี้เป็นบุญตา วีนัสเธอเป็นเทพที่มีความงดงามขั้นเทพี เธอเกิดจากทะเล ดังนั้นจิตรกรจึงวาดภาพแรกเกิดของเธอผุดขึ้นมาจากเปลือกหอย เป็นภาพที่แสดงถึงความบริสุทธิ์อ่อนหวาน นับเป็นการเกิดที่ยิ่งใหญ่และงดงามเท่าที่มนุษย์ได้จินตนาการขึ้นบนโลกนี้ ภาพวีนัสนี้ไม่ใช่ภาพโป๊ลามกแน่นอน

ภาพงดงามของสาวเปลือยที่เป็นหนึ่งของโลกคือภาพ “อาบน้ำ” ของ ฌอง อังเกรอส์ เป็นภาพสมัยนีโอคลาสสิคซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบกรีกโรมัน ภาพหญิงเปลือยชิ้นนี้จิตรกรจึงเขียนได้อย่างนุ่มนวล เขาฉลาดที่เขียนภาพของหญิงสาวทางด้านหลัง เธอเตรียมตัวจะอาบน้ำโพกผ้าลายไว้บนศรีษะ แต่ช่วงหลังเปลือยเปล่าอวบอิ่ม ภาพนี้งดงามด้วยการให้แสงเงาที่นุ่มนวล และการที่จิตรกรให้นางแบบหันหลังให้ทำให้ภาพนี้มีความหมายมากขึ้น การจัดท่าของนางแบบที่เรียบง่ายทำให้นึกไปถึงศิลปะที่คลาสสิคในยุคของกรีกโบราณ

ภาพ “หลังอาบน้ำ” ของเรอนัวร์ พ.ศ. ๒๔๓๑ เป็นภาพแห่งความประทับใจที่เรอนัวร์ได้จับภาพอิริยาบถของหญิงสาวโดยฉับไวในขณะที่เธอกำลังเช็ดตัวอยู่ตามสไตล์ของภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสม์ เรอนัวร์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเขียนภาพสาวเปลือย มีผลงานที่เป็นชิ้นครูชิ้นเยี่ยมของโลกอยู่หลายชิ้น แต่ละชิ้นได้แสดงถึงบรรยากาศอันงดงามและสีอันแจ่มใสบนผิวของหญิงสาว

(ซ้าย) “อาบน้ำ (The Valpinçon Bather)” โดย ฌอง อังเกรอะส์ (ภาพจากเว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Valpin%C3%A7on_Bather#/media/File:Jean-Auguste-Dominique_Ingres_-_La_Baigneuse_Valpin%C3%A7on.jpg)
(ขวา)“หลังอาบน้ำ (After the Bath)” โดย ออกุสต์ เรอนัวร์, พ.ศ. ๒๔๓๑ (ภาพจากเว็บไซต์ https://www.allartclassic.com/subj_pictures_zoom.php?p_number=&p=&number=REP016&stt=13&forder=1)

ภาพประติมากรรมชื่อ “จูบ” ของ ออกุสต์ โรแดง ศิลปินยุคเดียวกับเรอนัวร์ แม้วารูปนี้จะเป็นภาพที่หญิงและชายเปลือยกายกันแสดงความรักต่อกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ศิลปินได้สร้างรูปของทั้งสองให้มีความหมายถึงความรัก การทะนุถนอมต่อกัน เส้นรอบนอกอันนุ่มนวลของรูปทรงที่สร้างจากหินอ่อนสีขาว กลับให้ความรู้สึกที่เบาลอยตัว เป็นความฝันราวกับก้อนเมฆที่ล่องลอยบนท้องฟ้า

“จูบ (The Kiss)” ออกุสต์ โรแดง, พ.ศ. ๒๔๒๙ – ๒๔๑๑ (ภาพจากเว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Kiss_(Rodin_sculpture)#/media/File:The_Kiss.JPG)

คงเห็นชัดเจนแล้วใช่ไหมว่าว่าภาพเปลือยที่มีคุณค่าทางศิลปะจะต้องแฝงแนวคิดและการแสดงออกของศิลปินออกมา อย่าได้นำภาพเปลือยโป๊เพื่อเจตนาที่จะให้ผู้ดูเกิดอารมณ์ความรู้สึกทางเพศมาเรียกว่า ภาพศิลป์ กันต่อไปอีกเลย ยิ่งกระพือข่าวภาพศิลป์ลามกนี้ออกไป ก็ยิ่งเป็นผลกระทบต่อความเสื่อมของสังคมยิ่งขึ้น

ผมคงไม่ต้องเอาภาพโป๊ลามกมาลงพิมพ์เป็นตัวอย่างหรอกนะครับ เพราะหาซื้อหาดูได้ง่ายตามแผงหนังสือได้ทั่วไปอยู่แล้ว

 


(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ศิลปะ – ไม่ใช่ภาพเปลือย และภาพเปลือยไม่ใช่ศิลปะไปทั้งหมด” เขียนโดย พิษณุ ศุภ. ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม ๒๕๓๖)


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2561