เผยแพร่ |
---|
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ที่รู้จักกันว่าเป็นพระยาพระคลังข้าหลวงคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์ ทราบกันดีว่าถูกสมเด็จพระนารายณ์สั่งลงทัณฑ์โดยการเฆี่ยนจนถึงอสัญกรรม หนังสือบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เขียนโดย บาทหลวง เดอะ แบส แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร เล่าถึงเหตุการณ์ที่โกษาเหล็กหรือพระยาพระคลังต้องราชทัณฑ์ไว้ว่า มร. ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เขาเข้าเฝ้าอยู่เนืองๆ ทรงพอพระราชหฤทัยให้เขาเล่าถึงพระกฤดาภินิหารแห่งกษัตริย์ต่างๆ ในทวีปยุโรป กำลังทหารของแต่ละประเทศ วิธีการปกครองบ้านเมืองและตำราพิชัยสงคราม ในการเข้าเฝ้ากราบทูลตามกระแสรับสั่งนี้เอง ที่เขาได้สำแดงออกให้ประจักษ์ซึ่งความจงรักอันยิ่งใหญ่ และความภักดีอันลึกซึ้งที่เขามีอยู่เป็นนิจ ในองค์พระผู้เป็นคริสต์ศาสนูปถัมภก ด้วยว่ากิตติศัพท์ได้กำจายไปในชมพูทวีป ถึงการพิชิตและชัยชนะอันใหญ่หลวงที่พระองค์ได้ทรงมีต่อกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจหลายพระองค์ในยุโรปที่ได้รวมกำลังกันกระทำยุทธนาการต่อพระองค์ท่าน
มร. ก็องสตังซ์ถวายความพอพระทัยให้แก่พระเจ้ากรุงสยาม โดยเล่ารายละเอียดถวายให้ทรงทราบในขณะนั้นมิใช่ว่าเขามีใจผูกพันอยู่กับประเทศฝรั่งเศสโดยตรงนักแต่หากเขาตระหนักในพระราชอัธยาศัยในการรณรงค์ของพระเจ้ากรุงสยามดีอยู่ ว่าไม่มีสิ่งไรที่พระองค์จะโปรดปรานการเล่าพระราชอิริยาบถของวีรบุรุษผู้เป็นที่ชื่นชมแด่ชนทั้งปวงไปทั่วสกลโลกพระองค์นั้นถวายให้ทรงทราบ พระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงปรารถนาจะดำเนินตามรอยพระบาทอยู่ทุกประการ ถ้าว่าสามารถที่จะเป็นไปได้อย่างน้อยที่สุดก็ใคร่ที่จะทรงเอาอย่างในพระปัญญาสามารถที่ทำให้ข้าศึกไม่อาจล่วงล้ำเข้ามาได้
โดยอาศัยป้อมปราการที่พระองค์ทรงตีได้หรือที่โปรดให้สร้างขึ้นไว้ตามชายราชอาณาเขตนั้น พระองค์รับสั่งแก่ มร. ก็องสตังซ์ว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์โดยทำนองเดียวกันนั้น และทรงปรารถนาให้เขาออกเดินทางสำรวจไปให้ทั่วราชอาณาจักรเพื่อพิจารณาแหล่งแห่งที่ที่ควรจะได้สร้างป้องปราการขึ้นให้เขาทำแผนผังมาถวายเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงพิจารณาสั่งการต่อไป
มร. ก็องสตังซ์ไม่ได้เป็นนายช่าง แต่ด้วยอัจฉริยวุฒิของเขาประกอบกับความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะปฏิบัติการให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย แม้จะมีความรู้ด้อยในศิลปะ (การก่อสร้าง) แต่เขาก็ได้เคยเห็นการก่อสร้างป้อมปราการในทวีปยุโรปมาแล้ว จึงพยายามฟื้นความทรงจำทำแผนผังขึ้นมาได้อย่างค่อนข้างจะถูกต้องพอที่จะจัดสร้างขึ้นได้ ณ แหล่งแห่งที่ที่เขาเห็นสมควร โดยพิจารณาพื้นที่ประกอบกับชัยภูมิ ตอนขากลับจากการสำรวจก็ได้นำแผนผังนั้นไปให้พวกชาวอังกฤษช่วยกันดูเพื่อขอรับคำแนะนำบ้าง
ครั้นแล้วก็นำเข้าถวายให้ทอดพระเนตรในหลวงทรงมีน้ำพระทัยกรุณาผู้ออกแบบอยู่แล้วก็พอพระราชหฤทัย และทรงมีหมายรับสั่งให้หัวเมืองต่างๆ ที่ถูกกำหนดนั้นให้สร้างป้อมปราการขึ้นตามแผนผังนั้นโดยมิชักช้า คนสยามนั้นโดยธรรมดาแล้วเป็นคนขี้เกียจ ยิ่งเป็นงานหลวงแล้วยิ่งคร้านใหญ่ด้วยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญชาไปโดยค่าใช้จ่ายของตนเองไม่ได้รับค่าแรงเป็นเครื่องยังชีพแต่ประการใด ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือในการหักร้างถางพงหรือก่อสร้างก็ไม่จ่ายให้ทั้งสิ้น การกะเกณฑ์ครั้งใหม่นี้เป็นที่สะดุ้งหวาดเสียวกันอยู่ และเพื่อที่จะเอาตัวรอด จึงได้ชวนกันเข้าติดต่อกับท่านพระคลัง โดยรวบรวมเงินได้ห้าสิบชั่ง ประมาณเท่ากับ ๑,๕๐๐ ลีวร์ของเรา มามอบให้เป็นกำนัลเพื่อขอให้กราบทูลในหลวงให้ทรงยับยั้งการก่อสร้างนี้ไว้
พระคลังจึงได้เข้าเฝ้าถวายความเห็นแก่ในหลวงว่า อันเมืองป้อมนี้มิได้เคยมีเป็นประเพณีมาในราชอาณาจักรอย่างเช่นในทวีปยุโรป ด้วยคนสยามนั้นไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไขการถูกล้อม (อยู่ภายในป้อม) ได้ กลับจะทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าจะเป็นประโยชน์เสียอีกเพราะข้าศึกจะสามารถเข้าทำการยึดเอาได้โดยง่าย และยากนักที่คนสยามจะขับไล่ให้พ้นไป กลับจะทำให้ฝ่ายข้าศึกมีสถานที่อันมั่นคงอยู่ในราชอาณาจักรเสียอีกอนึ่งนั้น มร. ก็องสตังซ์ผู้ออกแบบแปลนแผนผังการก่อสร้างป้อมปราการนี้ก็เป็นคนหนุ่ม ซึ่งไม่มีความชำนิชำนาญในงานประเภทนี้ และจะทำให้ในหลวงทรงเปลืองพระราชทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็นเสียอีก
เหตุผลของท่านพระคลังนั้นไม่เลวเลย แต่เป็นคราวเคราะห์ร้ายของท่านโดยในหลวงทรงทราบว่า ท่านได้นำความนี้มากราบทูลเพราะเงินที่ได้รับ มากกว่าจะมีความผูกพันอย่างจริงใจในผลประโยชน์แห่งราชบัลลงก์ พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะให้พระคลังสารภาพความจริงนี้ออกมาด้วยตนเอง และทรงมีรับสั่งสอบถามว่า มิได้รับสิ่งไรบ้างเทียวหรือที่เข้ามากราบทูลให้ทรงยับยั้งการก่อสร้างเมืองป้อมไว้เช่นนี้ พระคลังเข้าใจว่าในหลวงมิได้ทรงล่วงความรู้นัย จึงกราบทูลปฏิเสธและยืนกรานไม่ยอมสารภาพอยู่กระนั้น ข้างฝ่ายในหลวงนั้น
เมื่อทรงมีรับสั่งตำหนิความประพฤติอันขลาดที่เห็นแก่ได้ในผลประโยชน์เล็กน้อยดังนั้นแล้ว ก็รับสั่งต่อไปว่า พระองค์เป็นบุคคลแรกที่จะกล่าวประณามคนที่พระองค์เคยทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งมาแต่หนหลัง แล้วทรงขับพระคลังออกเสียจากที่เฝ้าอย่างกริ้วเป็นที่สุด และรับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่ง ติดตามไปโบยเสียด้วยหวายในทันใดนั้น อันเป็นการลงทัณฑ์ที่เป็นสิ่งธรรมดาที่สุดในหมู่ชนชาวสยาม แต่ไม่เคยได้กระทำแก่ผู้มีหน้าที่ราชการในตำแหน่งสูง นอกจากว่าจะมีความผิดเป็นอุกฤษฏ์โทษเท่านั้น
วิธีลงทัณฑกรรมนี้คือ เขาจับผู้กระทำผิดมัดมือโยงทั้งสองข้าง แล้วเฆี่ยนหลังอันเปลือยเปล่าลงมาถึงบั้นเอว ด้วยหวายเส้นเล็กๆ พันด้วยเชือกเส้นเล็กๆ ที่แข็งมาก จำนวนครั้งที่โบยนั้นเป็นไปตามโทษานุโทษ แต่โดยธรรมดาแล้วการโบยนั้นก็ถลกหนังออกจากหลังนั่นทีเดียว ท่านพระยาพระคลังได้รับการลงโทษทัณฑ์โบยอย่างหนัก ประกอบด้วยความอับอายขายหน้าจึงล้มป่วยลงเป็นไข้มีอาการหนัก พระยาพระคลังนั้นถึงแก่อนิจกรรมในเวลาไม่ช้าต่อมา “
ที่มา
“บันทึกความทรงจำ ของ บาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน”. เขียนโดย บาทหลวง เดอะแบส. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. ศรีปัญญา. 2550