ที่มาที่ไปของ “ช้างทรง” ในสมเด็จพระนารายณ์ ถึงช้างทรงเชือกโปรดคู่บารมี

สมเด็จพระนารายณ์ พร้อมด้วย พระราชเทวี ประทับ ช้างทรง
สมเด็จพระนารายณ์พร้อมด้วยพระราชเทวี ประทับบนหลังช้างทรง วาดโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส (ภาพจาก "สยามในโลกสากล" โดย ไกรฤกษ์ นานา)

ช้างเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานาน ในสมัยสมเด็จพระนารยณ์มีการล่าช้างเพื่อใช้งานและแบ่งช้างออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

ช้างทรงชั้น ๑ เป็นช้างเผือกและที่โปรดเป็นพิเศษ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีช้างเผือกคู่บุญญาธิการ ๒ เชือก คือพระอินทร์ไอยราวรรณวิสุทธราชกิรินี เป็นช้างพังเผือก คล้องได้ที่ป่าตำบลห้วยทราย เมืองศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี) เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๐๒๐ กับช้างพลายเผือกอีกเชือกหนึ่งชื่อเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ คล้องได้ที่ป่าแขวงนครสวรรค์ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๒๒ โทศก

ส่วนช้างทรงคู่บารมีอีกเชือกหนึ่งที่โปรดมาก คือพระบรมรัตนากาศ ไกรลาศคีรีวงศ์ คงจะอยู่ในกลุ่มช้างทรงชั้น ๑ ด้วย เล่ากันว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต (๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑) พระบรมรัตนากาศฯ ก็ถึงกับกาลล้มตามในไม่ช้า

ช้างทรงชั้น ๑ เหล่านี้น่าจะมีตำหนักพิเศษทำด้วยไม้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้น ๒ ในพระราชวัง อาจอยู่ในลานระหว่างพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท กับพระที่นั่งจันทรพิศาล

ช้างทรงชั้น ๒ ณ พระราชวังลพบุรี น่าจะมี ๒-๔ เชือก ที่ทรงใช้ประจำเวลาเสด็จงานพิธีเสด็จไปตำหนักทะเลชุบศรและเสด็จล่าโพนช้างในป่า รวมทั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรในบางคราวด้วย ช้างทรงเหล่านี้จะมีตำหนักก่ออิฐถือปูนแข็งแรง ปัจจุบันยังมีให้เห็น ๒ ตำหนักระหว่างกำแพงเขตพระราชฐานชั้นในด้านประตูหน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ กับกำแพงด้านหลังตึกรับแขกเมืองและตึกพระเจ้าเหา

ช้างศึก มีอยู่เป็นจำนวนมากและส่วนหนึ่งน่าจะมีโรงเรือนช้างศึกอยู่รอบนอกกำแพงพระราชวังในระดับเดียวหรือใกล้เคียงกับกรมอัศวราช


ที่มา : “ทุ่ง ป่า และภู เพื่อล่าโพนช้าง ของสมเด็จพระนารายณ์”. โดย สีมา สมานมิตร. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2548


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ.2561