พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ : พระพุทธรูปปกป้องบ้านเมืองด้วยพระราชหฤทัยร.9

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ประดิษฐานในวิหารบนเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี (ภาพจากหนังสือ "๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน" จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (พระพุทธรูปสี่มุมเมือง) สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบ โลหะหล่อสำริดหน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว พระพักตร์แจ่มใส พระเนตรเปิด พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็นจตุรพุทธปราการ หมายความถึง พระพุทธรูปปกบ้านคู่เมือง หรือพระอารามที่มีมหิทธานุภาพล้ำลึกปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายอัปมงคล เสริมดวงชะตาเมือง ตลอดทั้งคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่ร่มเย็น ตามตำราพุทธไชยปราการที่สืบทอดมาแต่โบราณ

Advertisement

ย้อนเวลาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๑  สืบมาระยะหนึ่ง สถานการณ์บ้านเมืองมีภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ มีผู้คิดร้ายที่กระจายอยู่กว้างขวางรอบทิศ ที่มุ่งครอบครองประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีพระราชหฤทัยปราถนาแรงกล้าให้บ้านเมืองผ่านพ้นภัยพิบัติ พลเมืองดำรงชีวิตเป็นสุขราบรื่น ตั้งมั่นอยู่ในธรรมไม่หลงเป็นเครื่องมือความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงต่อสู้ประหัตประหารกันเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หล่อ “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ ซึ่งประมวลคุณวิเศษอันเอกอุที่บุรพมหากษัตริย์ทรงปกป้องภัยบ้านเมืองและพสกนิกรในอดีตมารวมไว้กรมการรักษาดินแดน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม เป็นผู้จัดสร้าง

(ภาพจากหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

กรมการรักษาดินแดน คือหน่วยปกป้องรักษาบ้านเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนา ทรงมีพระพุทธนิรโรคันตราย ความหมายว่า “การปราศจากภยันตรายทั้งปวง” เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาล เมื่อรวมพลังแห่งพระพุทธชัยวัฒน์แล้ว พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ย่อมบริบูรณ์แก่การปกปักรักษาบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ในแผ่นดินทั้งสี่ทิศให้รุ่งเรืองเป็นที่สุด

วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๔ จังหวัด ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อัญเชิญไปประดิษฐานคุ้มครองแผ่นดินในทิศทั้งสี่ตามพระราชปณิธานสืบไป

องค์ที่ ๑ ประจำทิศเหนือ ประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง

องค์ที่ ๒ ประจำทิศใต้ ประดิษฐานภายในศาลาจัตุรมุขหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง

องค์ที่ ๓ ประจำทิศตะวันออก ประดิษฐานในศาลาจัตุรมุข วัดศาลาแดง ถนนพิชัยรณรงค์สงคราม ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดสระบุรี

องค์ ๔ ประจำทิศตะวันตก ประดิษฐานในวิหารบนเขาแก่นจันทร์ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี


ที่มาข้อมูลและภาพ : “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน”. จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ.2561