อดีตชาติของ “รามสูร” ผู้มี “ขวาน” เป็นอาวุธประจำกาย-ถูกเยาะเย้ย

"รามสูร" ภาพจำหลักไม้บนฝาปะกนศาลาเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

รามสูร เป็นตัวละครในเรื่องเฉลิมไตรภพ ชาติหนึ่งในอดีตรามสูรเกิดเป็นชาวป่าใช้ขวานเป็นเครื่องมือหักร้างถางพง ได้ประกอบการกุศลสร้างที่พักถวายพระสงฆ์ บุญกุศลจึงส่งให้ไปเกิดเป็นยักษ์นามว่า เหมหิรัญ มีฤทธิ์อำนาจมาก นิสัยดุร้าย ชอบจับสัตว์นานาชนิดกินเป็นอาหาร ต่อมาเหมหิรัญเกิดอหังการ คะนองว่าตนมีฤทธิ์มาก มุ่งหมายจะม้วนแผ่นดินจึงถูกพระนารายณ์สังหาร

ยักษ์เหมหิรัญจุติมาปฏิสนธิบนก้อนเมฆลมฝน เป็นยักษ์นามว่า “รามสูร” กล้าหาญ มีฤทธิ์มากถือขวานเป็นอาวุธประจำกาย รามสูรท่องเที่ยวไปและได้มาพบพระราหู และเป็นสหายกัน เมื่อพระอิศวรประกาศให้ติดตามค้นหาแก้วมณี และนางเมขลากลับคืนมา แต่ไม่มีผู้ใดพบเห็นนาง พระราหูได้กราบทูลรับอาสาพระอิศวรว่าจะให้รามสูรไปติดตามนางเมขลาและแก้วมณีกลับมาถวายพระอิศวรจะประทานนางเมขลารวมทั้งวิมานพร้อมทรัพย์ศฤงคารทั้งหลายเป็นรางวัลให้แก่ผู้ที่นำแก้วมณีมาถวายได้

“นางเมขลา” ภาพจำหลักไม้บนฝาปะกนศาลาเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
“รามสูร” ภาพจำหลักไม้บนฝาปะกนศาลาเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

เมื่อราหูนำความนี้มาบอก รามสูรมีความยินดียิ่งเพราะปรารถนาจะได้นางเมขลามาครองคู่ จึงออกติดตามนางอย่างไม่ลดละ และตั้งใจว่าจะขว้างขวานวิเศษไปผูกมัดนาง แต่เมื่อพบนางรามสูรก็ตามไม่ทันจึงต้องร้องตะโกนขู่นางเมขลาให้ยอมกลับไปรับโทษ แล้วตนจะทูลขออภัยโทษให้และขอนางไปเป็นคู่ครอง แต่นางเมขลาไม่เกรงกลัว กลับหัวเราะเยาะเย้ยและขยับแก้วมณีส่องแสงวาบวับจับตา รามสูรจึงขว้างขวานออกไปหมายจับนาง ทำให้เกิดเสียงดังกึกก้องกัมปนาท

รามสูรถูกนางเมขลากล่าวเย้ย หลังจากนางได้เล็งญาณแลเห็นอดีตชาติของรามสูร จึงยกเรื่องราวครั้งรามสูรเป็นชาวป่าจนมาเกิดเป็นยักษ์เหมหิรัญ ต้องสิ้นชีวิตเพราะถูกพระนารายณ์สังหาร เนื่องจากอหังการจะม้วนแผ่นดินแล้วจึงเกิดเป็นรามสูร มีขวานที่ใช้ตัดฟืนเป็นอาวุธประจำกายแต่นางมิใช่ฟืน รามสูรย่อมไม่อาจจับนางได้จึงควรกลับไปทำไร่นา อีกทั้งนางก็บรรลุโสดามรรคญาณ จึงไม่ปราถนายักษ์อันธพาลมาเป็นคู่

เมื่อรามสูรได้ฟังคำเย้ยของนางก็โกรธมาก จึงขว้างขวานออกไปมุ่งสังหาร แต่ขวานก็พลาดเป้าหมายไปทุกครั้ง รามสูรเหาะไล่ติดตามจับนางเมขลาตลอดมา ยามนางเมขลาล่อแก้ววาบวับทำให้เห็นว่าฟ้าแลบแปลบปลาบ และเมื่อรามสูรขว้างขวานใส่นาง เกิดเสียงดังกึกก้องเป็นสาเหตุของฟ้าร้องและฟ้าผ่าตามฤดูกาล ดังคำประพันธ์ที่ว่า

แก้วสว่างขวานขว้างกลางหน  พะยับยุฝน

ระคนทำนุกคลุกคลี

พิรุณโปรยโรยปัถพี   ฤดูเดือนปี

ทั้งสี่ทวีปจักรวาล


ที่มา : สุปาณี พัดทอง. “รามสูร๑” ใน“นามานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ ๓ ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่และชื่อปกิณกะ เล่มที่ ๒ อักษร น-ฤาป”. จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา