
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ที่ประสูติในสมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดาหลายพระองค์ ทั้งที่ประสูตินอกเศวตฉัตร คือก่อนการทรงครองราชย์ และประสูติในเศวตฉัตร คือระหว่างการทรงครองราชย์ แต่มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ที่ประสูติเมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตไปแล้ว นั่นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์
หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ต่อมาราว 5 เดือนเศษ เจ้าจอมมารดาห่วงจึงมีประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 11 ค่ำ ปีมะเส็ง สัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2412 (นับศักราชอย่างใหม่)
พระราชธิดาทรงมีพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์
โดยพระนามพระราชโอรส และพระราชธิดา ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาห่วงจะมีความไพเราะคล้องจองกัน คือ บุษบันบัวผัน ไชยันตมงคล เจริญกมลสุขสวัสดิ์

ไม่ปรากฏภาพถ่ายหรือเรื่องราวของพระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์มากนัก สันนิษฐานว่า พระองค์เจริญพระชันษา และได้รับการอบรมเลี้ยงดูภายในพระบรมมหาราชวังเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อพระชันษา 5 ปี ก็สิ้นพระชนม์ในวันพุธ เดือน 10 แรม 12 ค่ำ ปีจอ ฉศก จ.ศ. 1236 ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2417
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ณ พระเมรุผ้าขาว วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419

ในงานพระศพพระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ปรากฏว่าเจ้านายทุกพระองค์ทรงฉลองพระองค์ดำเป็นการไว้ทุกข์ แต่มีเพียงพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี) พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงฉลองพระองค์ขาว และทรงผ้าสีน้ำเงินแก่ ดังความในราชกิจจานุเบกษาว่า
“พระบรมวงษานุวงษทั้งนั้น ทรงผ้าพื้นดำทรงฉลองพระองคดำ แต่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองคเจ้าศรีวิไลย ทรงผ้าศรีน้ำเงินแก่ ฉลองพระองคขาว ทรงสภักษขาว เพราะพระชนมพรรษาของท่านนั้นแก่กว่า พระองค์เจ้าที่สิ้นพระชน”
ทั้งนี้ ธรรมเนียมการแต่งกายไว้ทุกข์ในอดีตนั้นจะแต่งกายสีดำ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่าผู้ตาย, แต่งกายสีขาว สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่าผู้ตาย และแต่งกายสีม่วงแก่ หรือน้ำเงินแก่ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นญาติเกี่ยวข้องกับผู้ตาย
พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 ประสูติก่อนพระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ราว 8 เดือน ตามธรรมเนียมพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์จึงต้องทรงฉลองพระองค์ดำ แต่น่าจะด้วยเพราะเรื่องการนับพระญาติที่พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ทรงเป็นพระขนิษฐา (น้องสาว) ของรัชกาลที่ 5 จึงถวายพระเกียรติให้สูงกว่าพระองค์ด้วยการที่ทรงใช้ผ้านุ่งสีน้ำเงินแก่ ซึ่งเป็นสีที่เป็นกลางที่สุดเมื่อประกอบกับฉลองพระองค์ขาว
การใช้สีในลักษณะก้ำกึ่งจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาเรื่องสถานภาพของการใช้สีไว้ทุกข์ ขณะที่เจ้านายพระองค์อื่นทรงฉลองพระองค์ดำ เพราะมีพระชนมพรรษาและพระชันษามากกว่าพระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- พระนามคล้องจองของพระราชสันตติวงศ์ในรัชกาลที่ 4-5
- กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส “พระราชโอรส” พระองค์แรกในรัชกาลที่ 4
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 3, จาก www.pmsf.or.th
นนทพร อยู่มั่งมี และธัชชัย ยอดพิชัย. ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว, 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2568