ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพ่อค้าชาวต่างชาติรายหนึ่งคือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) หรือที่ชาวไทยเรียกกันติดปากว่า “นายห้างหันแตร” ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มเจ้านายและชนชั้นสูงของสยาม ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในพ่อค้าต่างชาติผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคได้เลยทีเดียว ทั้งยังเป็นผู้ค้นพบแฝดสยาม “อิน-จัน” อีกด้วย
นายห้างหันแตร พ่อค้าผู้ทรงอิทธิพลยุครัชกาลที่ 3
แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือ “หมอบรัดเลย์” มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาสยามเมื่อ พ.ศ. 2378 ในสมัยรัชกาลที่ 3 บันทึกถึงนายห้างหันแตรไว้ว่า
ในปีที่เดินทางมาถึงสยาม “แฟคตอรี่” ของฮันเตอร์อย่างที่เรียกกัน เป็นบริษัทค้าขายของชาวยุโรปเพียงแห่งเดียวในบางกอก ฮันเตอร์สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวสก็อต และมาทำธุรกิจทางตะวันออกโดยตั้งสาขาขึ้นที่สิงคโปร์ จากนั้นก็ค้าขายกับเมืองต่างๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างราบรื่น เช่นเดียวกับที่ค้ากับเกาะต่างๆ ของอังกฤษ

ฮันเตอร์ติดใจบางกอก จึงตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี-ผู้เขียนบทความ) ใน พ.ศ. 2367 ก่อนที่ต่อมาจะได้รับพระบรมราชานุญาตให้อยู่ได้อย่างถาวร
เรียกว่าพ่อค้าต่างชาติผู้นี้อยู่ถูกที่ถูกจังหวะก็อาจจะได้ ดังที่หมอบรัดเลย์เล่าว่า ฮันเตอร์รู้จักหาประโยชน์จากโอกาสต่างๆ มากที่สุด อย่างย้อนไปช่วงที่สยามติดพันการสู้รบกับเวียงจันทน์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฮันเตอร์ก็นำสิ่งของที่ติดมาด้วย คือ ปืนคาบศิลา 1,000 กระบอก ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 2 เพื่อเป็นบรรณาการแสดงไมตรีจิต
พระองค์ทรงรับไว้ด้วยความพอพระทัย และทรงรับสั่งให้เสนาบดีฝ่ายต่างประเทศของพระองค์หาเรือนแพให้ฮันเตอร์อยู่จนกว่าจะถึงเวลาหาที่พักอันเหมาะสมให้ได้ เขาตั้งถิ่นฐานในแถบที่อยู่ของชาวต่างชาติในตัวเมืองในหมู่ชาวโปรตุเกส จากนั้นได้แต่งงานกับ แองเจลินา ทรัพย์ หญิงสาวชาวสยามเชื้อสายโปรตุเกสในท้องที่นั้น ซึ่งอ้างว่าตนเองสืบสายมาจากคอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางต่างชาติสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีทายาทด้วยกันหลายคน
ฮันเตอร์เป็นที่รู้จักกันดีทั่วเมือง เนื่องมาจากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และใจกว้าง บ้านของเขาซึ่งเป็นที่พำนักชั่วคราวของอาคันตุกะที่มีชื่อเสียงทุกคนที่มาเยือนบางกอก เป็นบ้านก่อด้วยอิฐหลังใหญ่แบบยุโรปหลังแรกสุดที่สร้างขึ้นในเมืองนี้
“โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นชาวต่างชาติที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลที่สุดในบางกอกเกือบตลอดเวลา 20 ปี เขาเป็นเจ้าของเรือ 4 ลำ และยังมีลำอื่นๆ สำหรับให้เช่าอีกด้วย ทุกลำจะแล่นออกจากบางกอกเป็นประจำ หลายครั้งที่เขาต้องช่วงชิงในเชิงการค้าอย่างสุขุมและอดทน แต่ก็ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จในการซื้อขายเสมอไป…” หมอบรัดเลย์ เล่า

ค้นพบแฝดสยาม
มิชชันนารีชาวอเมริกาที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดในสยาม ยังบันทึกเรื่องที่นายห้างหันแตรค้นพบแฝดสยามไว้ด้วยว่า
ปีนั้นเป็น พ.ศ. 2367 เมื่อเด็กคู่นั้นอายุเพียง 13 ปี ฮันเตอร์ได้เห็นพวกเขาเป็นครั้งแรกในเย็นวันหนึ่งตอนใกล้ค่ำ ขณะที่กำลังจะข้ามแม่น้ำกลับไปบ้านซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก
“นัยน์ตาของเขาก็มองไปเห็นสิ่งแปลกประหลาดอย่างหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในน้ำห่างจากเรือของเขาไปไม่ไกล สิ่งนั้นเป็นตัวอะไรอย่างหนึ่งที่ดูแล้วมี 2 หัว 4 แขน กับ 4 ขา ซึ่งล้วนขยับเขยื้อนได้อย่างสัมพันธ์กันดี ขณะที่ฮันเตอร์จ้องดูอยู่ เจ้าสิ่งนั้นก็ปีนขึ้นไปบนเรือลำหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ และแล้วเขาก็นึกออกด้วยความอัศจรรย์ใจว่า สิ่งที่เขาจับตามองดูเมื่อครู่นี้ก็คือเด็กชายเล็กๆ 2 คนที่มีหน้าอกเชื่อมติดกันนั่นเอง”
ฮันเตอร์ต้องการส่งเด็กทั้งสองไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่พ่อแม่ของเด็กไม่เห็นด้วย นายห้างฝรั่งต้องใช้เวลาพูดคุยอยู่นานหลายปี จนในที่สุด ฮันเตอร์และเอเบล คอฟฟิน กัปตันจากสหรัฐอเมริกา หุ้นส่วนของฮันเตอร์ก็ช่วยกันเกลี้ยกล่อมสำเร็จ เมื่อเจรจากับรัฐบาลสยามได้แล้ว แฝดสยามจึงออกเดินทางไปต่างแดน
แม้ฮันเตอร์จะได้ชื่อว่าเป็นพ่อค้าต่างชาติที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับการทำผิดกฎหมาย อย่างใน พ.ศ. 2382 ที่มีพระบรมราชโองการประกาศห้ามค้าฝิ่นในสยาม ทว่าฮันเตอร์และพ่อค้าชาวอังกฤษคนอื่นๆ ก็ยังคงลักลอบค้าฝิ่น ทั้งฮันเตอร์ยังกระทำการไม่เหมาะสมอีกหลายประการ
ท้ายสุด โรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือ “นายห้างหันแตร” จึงถูกขับไล่ออกจากสยาม และกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่สก็อตแลนด์จนลมหายใจสุดท้ายปลิดปลิว
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงถามหมอบรัดเลย์ หากอเมริกาน่าอยู่ “ถ้างั้นท่านมาที่นี่ทำไมกันล่ะ”
- เหตุใดอินจึงตายตามจัน? ดูการจากไปของ อินจัน “แฝดสยาม” และควันหลงที่ตามมา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิลเลียม แอล. บรัดเลย์ รวบรวม. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2568