ผู้เขียน | บัณฑิตา คงสิน |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดรายชื่อ “พระตำหนักและพระที่นั่ง” ในพระราชวังสนามจันทร์ ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานนาม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับรู้เหตุการณ์การล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ทรงเกิดความหวั่นพระราชหฤทัย
เมื่อเสด็จกลับจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ พระองค์ทรงหาเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะแก่การต่อต้านการรุกราน ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่เหมาะสมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากไม่มีแม่น้ำไหลผ่านเมืองอย่างกรุงเทพฯ แต่มีลักษณะเป็นที่ราบ เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำนครชัยศรีและแม่น้ำแม่กลอง ทำให้ตัวเมืองมีพื้นที่สูงกว่าบริเวณอื่น
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ ใน พ.ศ. 2450 เพื่อเป็นพระราชฐานอีกแห่งหนึ่ง มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 5 พระที่นั่งและ 4 พระตำหนัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้คล้องจองกัน ดังนี้
1. พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งองค์แรก เป็นอาคาร 2 ชั้นแบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง ๆ เช่น ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฏถึงปัจจุบัน ในอดีตใช้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดนครปฐม
2. พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งหลังย่อมติดกับพระที่นั่งพิมานปฐมออกไปทางทิศใต้ มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น
3. พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งฝาแฝดกับพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ แต่สร้างขึ้นภายหลัง เป็นพระที่นั่งทรงไทย 2 ชั้น มีหลังคา 2 ชั้น มุงกระเบื้องเช่นเดียวกับพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง ทางทิศใต้มีมุขเด็จและมีชานชาลายื่นออกไปจรดกับพระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่บรรทมเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์
4. พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งโถงใหญ่เชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา หลังคาเชื่อมติดต่อกัน เครื่องประดับตกแต่งเหมือนกัน ด้านที่ต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยามีประตูเปิดถึงกันสองข้าง รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต เป็นที่อบรมเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่าง ๆ เพราะบรรจุคนได้มาก ชาวบ้านจึงเรียกติดปากกันว่า โรงโขน
5. พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย พระที่นั่งองค์เล็ก ตั้งอยู่บนชานชาลาชั้นบนระหว่างพระที่นั่งพิมานปฐมกับพระที่นั่งวัชรีรมยา ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์ หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต สำนักพระราชวังได้ย้ายพระที่นั่งไปไว้ที่ชานชาลาพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
6. พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมปราสาทสไตล์เรเนซองส์ของฝรั่งเศสและอังกฤษ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ ด้านหน้าพระตำหนักมี “อนุสาวรีย์ย่าเหล” เป็นอนุสรณ์ถึงสุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 6 พระตำหนักองค์นี้มี 2 ชั้น ทาสีไข่ไก่หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 พระองค์โปรดประทับ ณ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็นประจำ
7. พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ ตำหนักไม้ 2 ชั้นแบบตะวันตก มีเสาไม้กลม แกะสลักแบบนีโอ-คลาสสิก ทาสีแดง สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ มีสะพานจากชั้นบนทางด้านหลังของพระตำหนักชาลีฯ พระตำหนักนี้เป็นที่พักของพระยาอนิรุทธเทวา หัวหน้ามหาดเล็กห้องบรรทม ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
8. พระตำหนักทับแก้ว อาคาร 2 ชั้นขนาดกะทัดรัด อยู่เชิงสะพานสุนทรถวาย ภายในมีเตาผิง และหลังคามีปล่องไฟตามแบบชาวตะวันตก ทับแก้วเป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองร้อยเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์
9. พระตำหนักทับขวัญ เรือนไทยสมบูรณ์แบบ สร้างคู่กับทับแก้ว ตั้งอยู่ทางตะวันออก คนละฟากถนนกับทับแก้ว ภายหลังทรุดโทรมมาก กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ของบประมาณ และขอรับบริจาคจากหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการบูรณะจนเสร็จ
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพิเศษของพระราชวังสนามจันทร์ที่เป็นพระราชฐานที่ต้องพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก และยังใช้เป็นที่ว่าราชการและรับราชทูตจากต่างประเทศอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ร.6 ทรงเล่าเหตุที่ร.4 ทรงย้ายห้องเสวย-จุดที่ร.2 โปรดประทับทรงไพ่ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
- พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม ลักษณะบ้านเพื่ออาศัยมิใช่วังเจ้านาย ที่ประทับราชสกุลมหิดล
- “หัวหิน” เมื่อชนชั้นสูงฮิต ทำไม ร. 6 ทรงไม่เสด็จฯ ทรงพอพระราชหฤทัย “หาดเจ้าสำราญ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544). สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ : ศิลปากร.
https://service.christian.ac.th/acs/wp-content/uploads/2022/07/Name001.pdf
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2567