ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สะใภ้เจ้าที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก หรือ “สะใภ้แหม่ม” เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในราชสำนักไทย ที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อันเป็นผลพลอยได้จากการที่พระองค์ส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อต่างประเทศ
กระแสสะใภ้ต่างชาติ
สะใภ้เจ้าที่เป็น “แหม่ม” คนแรกของราชสำนักไทย คือ คัทริน เดสนิตสกี หรือ หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก ชายาชาวรัสเซียในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่พบรักกันในขณะที่พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารที่ประเทศรัสเซีย
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงพาหม่อมคัทรินกลับมาด้วย ทำให้รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีทรงพิโรธอย่างมาก เพราะพระองค์ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ของการสืบราชสันตติวงศ์
ตลอดรัชสมัย หม่อมคัทรินจึงไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 ส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เมื่อหม่อมคัทรินให้กำเนิดพระโอรสซึ่งเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรก ก็ทรงคลายความพิโรธลงไป และทรงพระเมตตาต่อพระสุณิสาและพระราชนัดดา
เข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงให้การรับรองฐานะการเป็นสะใภ้หลวง และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่หม่อมคัทริน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ และสถาปนาพระโอรสของหม่อมคัทรินขึ้นเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์”
สมัยรัชกาลที่ 6 เกิดสะใภ้แหม่มคนที่ 2 คือ หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา หรือ ลุดมิลา เซียร์เกเยนา บาร์ซูโควา หม่อมชาวรัสเซียในหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ นายทหารคนสนิทของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทั้งสองเดินทางกลับไทยเมื่อ พ.ศ. 2454
จากนั้นไม่นาน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศเยอรมนี ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 เพื่อสมรสกับ เอลิซาเบธ ชาร์นแบร์เกอร์ หรือ หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา สตรีชาวเยอรมัน ทั้งสองพบรักกันที่ประเทศเยอรมนี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 หม่อมเอลิซาเบธได้รับพระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน” นับเป็นสะใภ้หลวงคนเดียวที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดนี้
ประกาศเรื่องเจ้านาย “แต่งงาน” กับชาวต่างชาติ
แม้รัชกาลที่ 6 จะทรงเปิดกว้างกับ “สะใภ้ต่างชาติ” แต่เมื่อทรงเห็นแนวโน้มที่เกิดขึ้น ก็โปรดเกล้าฯ ให้ร่างประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังความตอนหนึ่งในร่างประกาศว่า
“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดที่จะให้พระบรมวงษานุวงษ์ไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศ…อย่าให้พระบรมวงษานุวงษ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า อันเสด็จประทับอยู่ในเมืองต่างประเทศไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถ้าท่านพระองค์ใดฝ่าฝืนขืนกระแสทำผิดต่อพระราชนิยมนี้จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ…” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
การออกประกาศข้างต้น ได้กลายเป็น “ธรรมเนียม” สำหรับเจ้านายที่จะสมรสกับชาวต่างชาติ ที่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน และปฏิบัติต่อเนื่องมา แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังปฏิบัติอยู่ ตัวอย่างเช่น
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ “พระองค์ชายพีระ” นักแข่งรถชาวไทย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสกับ ซีริล เฮย์คอค เมื่อ พ.ศ. 2480, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสกับ เอลิซาเบธ ฮันเตอร์ เมื่อ พ.ศ. 2481 และ หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต ขอพระราชทานเสกสมรสกับ อเมเลีย มอนตาลตี เมื่อ พ.ศ. 2489
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียง “สะใภ้แหม่ม” รุ่นบุกเบิกของไทย
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2567