เผยแพร่ |
---|
“หนังสือทั้ง 3 เล่มเป็นชุดข้อมูลที่มีความหมาย มีความสำคัญ และจะทำให้เราเข้าใจว่าเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กาลสมัยเดียวแล้วหยุดนิ่ง แต่มีวิวัฒนาการ” หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของ “ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” ที่พูดถึงหนังสือ 3 เล่มออกใหม่ จาก “สำนักพิมพ์มติชน” ซึ่งอาจารย์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือทั้งหมดได้ครบมิติ ทั้งเรื่องความมั่นคง การจัดการน้ำ และธรรมเนียมปฏิบัติ
ในคลิป “Honor History: เล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์สยาม” EP.2 ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทยในหนังสือชุด “กษัตราธิราช” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ได้พูดถึงทุกมิติของหนังสือชุดใหม่ “กษัตราธิราช” ประกอบด้วย…
“ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย”, “ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” โดย อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม และ “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” จาก “สำนักพิมพ์มติชน” ได้อย่างน่าสนใจ จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้…
📍ความสำคัญของการศึกษา “ประวัติศาสตร์องค์กษัตราธิราชไทย”
ผมอยากจะเกริ่นขึ้นต้นถึงการทำความเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า เป็นธรรมชาติของประเทศทั้งหลาย สังคมทั้งหลายที่จะต้องมีประมุข ซึ่งลักษณะของการปกครองที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ถ้ากวาดสายตามองให้ทั่วเราจะพบว่าแบ่งรูปแบบของประมุขออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่
กลุ่มที่หนึ่งคือมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะใช้คำเรียกขานแตกต่างกันไป ทั้ง “Emperor” “Sultan” และบางประเทศก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิง เป็นสมเด็จพระราชินีนาถหรือ “Queen” ก็ได้
ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือประเทศที่มีผู้ปกครองเป็น “ประธานาธิบดี” แต่รูปแบบการปฏิบัติจริงในแต่ละประเทศก็อาจแตกต่างกันออกไป เช่น ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสปป.ลาว เรียกประธานาธิบดีว่า “ประธานประเทศ”
ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างรูปแบบประมุข 2 แบบ คือ รูปแบบประมุขแบบพระมหากษัตริย์เป็นการเข้าสู่ตำแหน่งผ่านสายโลหิต โดยการสืบทอดตำแหน่งในครอบครัวตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
ในขณะที่ประมุขแบบประธานาธิบดีเข้าสู่ตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมือง เราไม่สามารถตอบได้หรอกครับว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์กับประเทศที่มีประธานาธิบดีอะไรดีหรือด้อยกว่ากัน เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องว่าขานกันเองซึ่งก็แล้วแต่ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ บริบททางการเมือง ความประสงค์ของผู้คน และอีกหลากหลายเรื่องราวที่เรียงร้อยกัน
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรา ประเทศไทยอยู่ในสังกัดกลุ่มประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ประเทศของเรามีรูปแบบประมุขที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในความรับรู้ของคนไทยทั้งหลาย เรารับรู้ คุ้นเคยกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาช้านานแล้ว
กรณีศึกษาหนึ่งที่ผมอยากจะยกขึ้นมากล่าวถึงคือ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันนั้น คณะราษฎรมีจดหมายกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน มีใจความว่า ขอทูลเชิญกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญ
แต่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ผมขีดเส้นใต้ เนื้อความส่วนนั้นกล่าวว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงรับ คณะราษฎรจะเชิญเจ้านายพระองค์อื่นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป
สำหรับผมส่วนนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าคณะราษฎรจะต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจล้นพ้นมาเป็นระบอบใหม่ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจอย่างจำกัดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ คณะราษฎรก็ยังไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบของประมุขให้เป็นแบบอื่น
📍จุดร่วมของหนังสือทั้ง 3 เล่มในชุด “กษัตราธิราช”
ในยุคสมัยปัจจุบัน ผมคิดว่าความรู้ของคนไทยในด้านที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อาจจะต้องการความรู้ที่เป็น “ความรู้แท้” มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดขึ้นจากข่าวลือ หรือเกิดขึ้นจากการเห็นโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียสั้นๆ เพียง 2-3 บรรทัดเพราะพื้นที่มีจำกัด
ผมคิดว่าการที่เราจะเสริมความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นระบบและเป็นวิชาการแต่ไม่น่าเบื่อน่าจะเป็นการเสริมความมั่นคงให้กับความรู้ ความเข้าใจของเรา รวมทั้งเป็นการเสริมความมั่นคงให้กับการดำรงคงอยู่อย่างยาวนานของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยด้วย
แม้หนังสือจะเป็นสื่อจารีต แต่การหาความรู้จากหนังสือ สำหรับผมที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือและเขียนหนังสือด้วย ผมเชื่อว่าในการเขียนหนังสือ การทำหนังสือแต่ละเล่มมันต้องผ่านการกลั่นกรอง การคิด การตรวจสอบหลายอย่างหลายขั้นตอนมากกว่าการโพสต์อะไรลงไปในสื่อโซเชียล ซึ่งแบบหลังนี้ความรับผิดชอบมันเบาบางมาก
แต่พอเป็นหนังสือมันอยู่ยั้งยืนยงมากกว่าการแสดงความคิดเห็นด้วยลมปากเฉยๆ เพราะฉะนั้นหนังสือจึงยังคงเป็นสื่อที่ทรงคุณค่า และเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
📍ความน่าสนใจของหนังสือ “ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย” โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ
หนังสือ “ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย” โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ เป็นหนังสือที่ผมช่วยเขียนคำนิยม ในเล่มนี้ ประเด็นสำคัญคือผู้เขียนได้ทบทวนและทำการพิจารณาเรื่องการเรียนการสอนชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์กับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กันอย่างไร
ผมอยากจะขอกล่าวว่า วิชาประวัติศาสตร์ที่เราใช้กันในความหมายปัจจุบันเป็นของที่เพิ่งเกิดใหม่ ถ้าไปถามบรรพบุรุษเราสมัยอยุธยาหรือสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่าเคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์หรือไม่ รู้จักไหมว่าคืออะไร ไม่มีใครรู้จักนะครับ
ตัวอย่างเช่น ในละครเมื่อหลายปีก่อนเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ในเรื่องเป็นเหตุการณ์สมัยพระนารายณ์ ตัวละครพระเอกสงสัยและไปสอบถามกับนางเอกที่หลุดจากยุคสมัยนี้ไปในอดีตว่า “ทำไมจึงรู้เรื่องอะไรมากนัก” นางเอกบอก “รู้จากประวัติศาสตร์” พระเอกก็งงว่าอะไรคือประวัติศาสตร์
ที่เป็นแบบนี้เพราะคนสมัยก่อนรู้จักแต่ตำนาน พงศาวดาร เช่น นี่คือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่ประวัติศาสตร์เป็นกระบวนการบันทึกเหตุการณ์ในยุคสมัยที่ประเทศไทยมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น ซึ่งผมอนุมานว่าน่าจะมาพร้อมระบบโรงเรียนของเรา
เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์คือวิชาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่โดยประมวลข้อมูลเก่าจากพงศาวดาร ตำนาน ศิลาจารึก จากคำบอกเล่า และหลักฐานอื่นๆ เพื่อจะนำมาเขียนเล่าเป็นชุดความรู้ขึ้นมาสำหรับการศึกษาค้นคว้า
ยุคแรกๆ ของชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ตรงกับช่วงประมาณรัชกาลที่ 4-6 เป็นยุคที่บ้านเมืองของเรากำลังเผชิญกับโจทย์สำคัญ คือ ในขณะที่ประเทศแวดล้อมตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก ประเทศไทยต้องสร้างความเป็นตัวตนให้ปรากฏ จากเดิมที่เราเป็นแว่นแคว้นใหญ่น้อย
ความสัมพันธ์ระหว่างนครหลวงกับหัวเมืองต่างๆ ห่างไกลกันพอสมควร เราจำเป็นต้องสร้างรัฐชาติขึ้น ทำให้ประวัติศาสตร์ในยุคแรกต้องร้อยต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ตอบโจทย์ ซึ่งแน่นอนว่าในประเด็นของการสร้างรัฐชาติที่ว่านี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐชาติขึ้นในเวลานั้น
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสถานการณ์ที่ประเทศของเราไปเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ แพ้บ้างชนะบ้าง ประวัติศาสตร์ในยุคนี้ก็อาจจะต้องเน้นไปตามประเด็นที่เป็นนโยบายของรัฐในเวลานั้น เราอาจจะนึกถึงละครหลวงวิจิตรวาทการที่พูดถึงเรื่องชนชาติไทยเป็นใหญ่ในบูรพามาก่อน หรือคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภาพจำของคนรุ่นหนึ่ง
ส่วนในช่วงหลัง ประวัติศาสตร์มีความเป็นวิชาการ มีเหตุผล มีข้อมูลสนับสนุน ต้องการหลักฐานและการพิสูจน์มากกว่าเพียงแค่การสรุปโดยเร็ว แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์แบบเดิมที่ต้องการสร้างรัฐชาติ ประวัติศาสตร์ที่พัฒนามาจนถึงยุคสมัยที่ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นใหญ่ หรือในสมัยรัชกาล 9 ซึ่งเป็นเวลายาวนานกว่า 70 ปี
เรามีหลักฐานใหม่ๆ มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นเส้นทางหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งระหว่างหนทางมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน เพราะการมีรัฐไทย ประเทศไทยกับการมีพระมหากษัตริย์มันเป็นของที่เชื่อมโยงแนบสนิทกันอยู่แล้ว
หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องราวต่างๆ เช่น การพัฒนาชุดความรู้เรื่องเหล่านี้ หรือการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความโดดเด่น การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าอ่านครับ
📍ความน่าสนใจของหนังสือ “ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” โดย อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม
ดังที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้นว่าสังคมไทยของเราเป็นสังคมของการเกษตร การใช้น้ำจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของเรา ทั้งการเพาะปลูก ทำไร่ไถนา รวมไปถึงการสัญจรคมนาคมและประเพณีต่างๆ ดังที่ในปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดือนตุลาคมจะมีพยุหยาตราทางชลมารค คนกำลังตื่นเต้น อยากจะชม อยากจะเห็นกัน เพราะเว้นว่างมาหลายปีแล้ว
เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์และหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่ต้องทำให้ชาวบ้านมีน้ำท่าบริบูรณ์ ไม่มากไม่น้อยเกินไป เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยมาแต่ไหนแต่ไร และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นโจทย์นี้อยู่ ในอดีต พระมหากษัตริย์อาจต้องดำเนินพิธีไล่น้ำ ฟันน้ำ มีพยุหยาตรา มีพระราชพิธีที่จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลตามคติในเวลานั้น
แต่เมื่อวิวัฒนาการทางวิทยาการของเรามีมากขึ้น ก็เกิดระบบชลประทานขึ้นในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 และต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการชลประทานเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญมาก
📍ความน่าสนใจของหนังสือ “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี
เราทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นการสืบสันตติวงศ์ สืบสายโลหิตระหว่างพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ นี่พูดโดยหลักทั่วไป ไม่รวมข้อยกเว้น เช่น การปราบดาภิเษก การเปลี่ยนพระราชวงศ์
ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานวาระพิเศษ 200 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์และน่าจะเชื่อมโยงกับเนื้อหาเล่มนี้ด้วย
ในเวลานั้น พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระราชกุมาร พระองค์น่าจะได้ราชสมบัติเมื่อรัชกาลที่ 2 สวรรคต ซึ่งเมื่อท่านผนวชได้ 2 สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็สวรรคต แต่พระองค์ก็ไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเจ้าฟ้ามงกุฎในเวลานั้นมีพระพี่ยาเธอหรือเรียกง่ายๆ ว่าพี่ของท่านอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งคือรัชกาลที่ 3 ที่แม้ว่าจะมีสถานะเป็นพระองค์เจ้า เทียบยศกับเจ้าฟ้าไม่ได้เลย แต่ก็ได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ตรงนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการสืบสันตติวงศ์ของบ้านเราโดยหลักการลูกที่มียศใหญ่ก็ควรจะได้ก่อน แต่คำว่าควร บางทีก็ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น มันมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ
ยิ่งถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลาย มีตำแหน่งหนึ่งที่อาจกล่าวว่าเกิดขึ้นในช่วงกลางอยุธยาก็ว่าได้ คือ ตำแหน่งวังหน้าหรือมหาอุปราช ตำแหน่งนี้โดยมากพระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งน้องชายซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมรบคู่ใจและช่วยราชการ
เมื่อวันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ตามทฤษฎีพระมหาอุปราชตามก็ควรได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็มักจะเกิดปัญหาหนึ่งขึ้น คือ ลูกของพระเจ้าแผ่นดินเจริญวัยขึ้นจนทันกับอา หรือมีบทบาทสำคัญ ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่าใครควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินระหว่างอากับหลาน ดังราชวงศ์บ้านพลูหลวงในตอนท้ายของกรุงศรีอยุธยาอยุธยา
กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์เองก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ตำแหน่งวังหน้ายังเป็นตำแหน่งที่กำกวม และหากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะยิ่งทำให้ฝรั่งงงเข้าไปใหญ่เพราะบางทีเรียก “Second king” ซึ่งในเมืองนอกจะมีพระมหากษัตริย์ “Second” ได้อย่างไร บางทีเรียก “Prince of the front palace” ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่เลย
สิ่งเหล่านี้กำกวมมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งวังหน้าคนสุดท้ายคือ “กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ” ตอนใกล้จะจบเหตุการณ์ช่วงนั้นมีเหตุการณ์วิกฤตวังหน้าเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตก็มีการเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ ไม่มีวังหน้าอีกต่อไป มีแต่ตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร”
ในประวัติศาสตร์ของเรามีทั้งหมด 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน แต่แม้จะมีตำแหน่งนี้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้มีกฎหมายที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2467 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 6 จึงเกิดการตรากฏมณเฑียรบาลในการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นเป็นกฎหมาย เป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงในการสืบราชสมบัติมาจนถึงปัจจุบัน
กล่าวได้ว่า หนังสือทั้ง 3 เล่มในชุด “กษัตราธิราช” แม้จะพูดถึงคนละประเด็น เน้นคนละเรื่อง แต่ทุกเล่ม ทุกเรื่องกล่าวถึงความเป็นมาของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เชื่อมโยงกับความรู้ของคนไทย
📍เรื่องราวที่ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุอยากกล่าวทิ้งท้าย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผมคิดว่าคนกำลังต้องการความรู้ การตัดสินใจ การมองภาพสังคมไทยให้เห็นว่าเราเดินมาทางไหน ปัจจุบันเราอยู่ที่ใด และในวันข้างหน้าเราจะเดินไปทิศไหน สิ่งเหล่านี้ห้ามมโนหรือนึกเอาเองเป็นอันขาด ชุดข้อมูลความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งถึงแม้หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้จะไม่สามารถเล่าความรู้ทั้งปวงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้
แต่ก็เป็นความรู้ที่น่าสนใจที่เราจะได้รับรู้แล้วนำมาปรุงเข้ากับความรู้เดิมในสมองของเรา ผมคิดว่าหนังสือทั้ง 3 เล่มเป็นชุดข้อมูลที่มีความหมาย มีความสำคัญ และจะทำให้เราเข้าใจว่าเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กาลสมัยเดียวแล้วหยุดนิ่ง แต่มีวิวัฒนาการ
เรื่องราวในหนังสือทั้ง 3 เล่มเป็นเพียงวิธีคิด วิธีศึกษาหาความรู้ แต่ถ้าเราคุ้นเคยกับวิธีการเหล่านี้แล้วซึ่งเป็นวิธีการที่มีเหตุผลและอ่านเพลิน อ่านสนุก เราก็จะสามารถทำความเข้าใจกับตัวเองได้ว่าจากนี้ไปเวลาที่เรารับรู้เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะมีกระบวนการทางความคิดอย่างไรบ้าง
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามีความหมายและมีความสำคัญในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทย อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศมาอย่างยาวนาน
เรื่อง: ธัญลักษณ์ ทองสุข
ออกแบบภาพ: ณัชชา เชี่ยวกล
📍สามารถรับชม “Honor History: เล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์สยาม”
EP.2 ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทยในหนังสือชุด “กษัตราธิราช” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เพิ่มเติมผ่าน….
สั่งซื้อหนังสือชุดกษัตราธิราช (3 เล่ม)
✏️เว็บไซต์ : https://bit.ly/3RVVGm2
✏️Shopee : https://bit.ly/4ctd8qi
✏️Line Shop : https://bit.ly/3VUUT6a
✏️Tiktok : https://bit.ly/4cEUrQm
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรฎาคม 2567