“แจงพระรูป” ขั้นตอนในการเก็บพระบรมอัฐิและพระอัฐิ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินในการเก็บพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ บนพระเมรุมาศ

แจงพระรูป เป็นขั้นตอนในการเก็บพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า แจงรูป เป็นคำนามหมายถึง วิธีเอาเถ้าถ่านและกระดูกศพที่เผาเสร็จแล้วบนกองฟอนมาเรียงลำดับเป็นอย่างรูปคน ให้หัวอยู่ทางทิศตะวันตกแล้ว หันกลับมาทางทิศตะวันออก หรือเรียกอีกอย่างว่า แปรรูป หรือ แปรธาตุ  

ส่วนคำ แจงพระรูป เป็นคำราชาศัพท์ซึ่งใช้กันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเพราะปรากฏใน “คำให้การขุนหลวงหาวัด” กล่าวถึงงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและพระมเหสีของพระองค์ ความว่า

Advertisement

“ครั้นเพลิงสิ้นเสร็จสรรพจึงให้ดับด้วยน้ำหอมและน้ำกุหลาบ แล้วจึงแจงพระรูปทั้งสองพระรูป พระสังฆราชาและพระราชาคณะทั้งปวงก็เข้ามาสดับพระกรณ์พระอัสถิทั้งสองพระองค์ อันใส่ในผอบทองทั้งสองพระองค์”

วิธีการแจงพระรูปเป็นขั้นตอนเดียวกับการแปรรูปที่ทำกันในหมู่ราษฎร ซึ่งท่านเสฐียรโกเศศได้อธิบายขั้นตอนและความหมายของการแปรรูปว่า เป็นการเอาอัฐิในกองฟอนมาเรียงเป็นรูปคน บางแห่งเรียงบนแผ่นกระดาน โดยเก็บส่วนกระดูกเข้าลำดับของรูปเท่าที่ทำได้ และให้หันหัวของรูปไปทางตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระภิกษุมาบังสุกุลผู้ตาย เสร็จแล้วเกลี่ยกลบรูปทำเป็นรูปใหม่ ให้หันหัวไปทางตะวันออก สมมติว่าเกิด และเอาเงินปลีกไว้บนอัฐิด้วย บางรายใช้ดอกไม้เงินทองโปรยและประพรมด้วยของหอมบนอัฐิอีกที แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุลเป็นเสร็จ แล้วเก็บอัฐิกับถ่านเถ้าไว้ในที่อันควร ส่วนเงินปลีกทิ้งไว้เป็นสมบัติของสัปเหร่อผู้ทำ ถ้าโปรยด้วยดอกไม้เงินทองลูกหลานจะเก็บไปรักษาด้วยถือว่าเป็นอัฐิเงินอัฐิทองเป็นสิริมงคล

ส่วนการเก็บอัฐิจะเลือกเก็บศีรษะ แขน ขา และตัวอย่างละน้อยใส่โกศไว้บ้าง และอัฐิที่เหลือรวมทั้งถ่านเถ้าจะรวบรวมไว้ก่อนนำไปบรรจุในเจดีย์หรือสถานที่อื่นใดในวันหลัง แต่การแปรรูป กับแจงรูป ยังเรียกต่างกันในขั้นตอนเดียวกันนี้ กล่าวคือ เมื่อทำถ่านและอัฐิเป็นรูปทีแรกหันหัวไปทางทิศตะวันตกเรียกว่า แจงรูป แล้วโกยถ่านและอัฐิกลับรูปใหม่หันหัวไปทางทิศตะวันออกเรียกว่า แปรรูป