“เกริน” แปลว่าอะไร

สะพานเกรินบันไดนาคสำหรับอันเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานภายในพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙

เมื่อคราวงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น ได้ยินคำว่า “เกรินŽ” จากวิทยุและโทรทัศน์ สองหรือสามครั้งในภาคข่าว. ทั้งนี้ก็เพราะการถ่ายโกศจากยานมาศมาสู่ราชรถนั้น ไม่ได้ถ่ายแบบคนหามหรือคนยกอย่างแต่ก่อน, แต่ใช้บันไดรอกกว้าน (ซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒). คือพระโกศตั้งอยู่บนพระราชยานคานหาม เมื่อขันรอกขึ้นไปเสมอกับราชรถแล้ว ก็ทอดสะพานเข็นพระโกศไปสู่ราชรถ.

คำนี้ในภาษาไทยเราใช้น้อย ต่อมีงานพระศพหรืองานพระเมรุของหลวงจึงจะได้ยินสักทีหนึ่ง, เราจึงไม่ค่อยเข้าใจกัน. บางคนเรียกลายกนกที่ประดับอยู่ตรงคนนั่งประคองโกศว่า “ลายเกรินŽ” หรือ “ลายท้ายเกรินŽ”, ก็เลยกลายเป็นชื่อลายไปเลย, แท้จริงแล้ว “เกรินŽ” คือบันได.

ในตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน เล่าว่า :-
“(พระอินทร์) แล้วก็ใช้มาตลีเทวบุตรลงมายืนอยู่ยังอากาศป่าวร้องแก่คนทั้งหลายฝูงอันอยู่ยังเวียงปรึกษาเชียงแสนที่นั้นว่า ‘เจ็ดวันข้างหน้านี้ ลวะจังกราชเทวบุตรจักลงมาเปนเจ้าแก่ฝูงทั้งหลาย, สูท่านทั้งหลายจงเอารถไปสู่หนเหนือแห่งเวียงฝูงนี้ประมาณพันวา คอยท่ารับเอาเทอญ’.

“ว่าดังนั้นแล้วมาตลีเทวบุตรก็กลับคืนยังที่อยู่แห่งตนนั้นแล.

“กาลนั้น ชาวเวียงทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า เราควรจะกระทำตามคำแห่งเทวบุตรหากมาบอกกล่าวนั้นทุกประการ.

“กาลนั้นลวะจังกราชเทวบุตรตนนั้นพร้อมด้วยบริวารมีเทวดาและเทวบุตรทั้งหลายพันคน ก่ายเกินเงินลงมาแต่จอมเขายุคุนธร มาสู่ต้นไม้หมากทันต้นหนึ่ง, แล้วลวะจังกราชเทวบุตรพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายพันหนึ่ง ก็ยืนอยู่เหนือแท่นเงินอันหนึ่ง ร้องกล่าวแก่คนทั้งหลายว่า  ‘เรานี้ชื่อว่าลวะจังกภูมเทวดา จักมาเปนเจ้าสั่งสอนสูทั้งหลาย…’

แล้วก็เอาโอปปาติกชาติเหนือแท่นเงินลูกหนึ่งอันมีภายใต้ร่มไม้หมากทันที่นั้น แล้วก็เกิดเปนมนุษยชาติใหญ่ประมาณ ๑๖ ปี พร้อมด้วยราชธิดานั้นแล. ส่วนว่าเหรัญญเสนียา เกินเงินนั้นก็สูญหายไปแลŽ”.

“ก่ายเกินŽ” คือพาดบันได.