ราชรถ สำหรับงานพระเมรุ

พระมหาพิชัยราชรถ ในริ้วขบวนซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2560

ราชรถที่ใช้ในการนี้น่าจะมีขนาดต่างๆ ตามฐานะ หากเป็นพระมหากษัตริย์ พระมเหสี และเจ้าฟ้า จะใช้ราชรถที่มีขนาดใหญ่ตระการตา มีบุษบกพิมานประดิษฐานเพื่อเป็นที่อัญเชิญพระบรมศพ ราชรถนี้มีการแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกสีต่างๆ อย่างงดงาม เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย และตามชั้นของราชรถได้สลักเป็นรูปเทพนม และพญานาค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทพเจ้าชั้นรองที่อยู่รอบเชิงเขาพระสุเมรุ และพระบรมศพนั้นเปรียบได้ดุจเทพเจ้าองค์หนึ่ง จึงประดิษฐานไว้บนบุษบกพิมาน

สำหรับเจ้านายที่มีฐานันดรต่ำลงมา ราชรถก็มีความงามน้อยลง และขนาดเล็กลง เช่นรถจัตุรมุขและรถโถง เป็นรูปคล้ายประทุน มีล้อ ๔ ล้อ สะดวกต่อการอัญเชิญพระศพด้วยพระโกศและโลงตามลำดับ

ราชรถที่ใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพของไทย ที่ยังมีอยู่และจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวม ๕ องค์ โดยสร้างใน พ.ศ. ๒๓๓๘ เพื่อใช้ในการพระศพ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาในพระองค์ราชรถที่ทรงโปรดให้สร้าง คือ พระมหาพิชัยราชรถ และราชรถน้อย ๓ องค์ ราชรถนี้ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๓๔๒ และในครั้งนั้นได้สร้างราชรถอีก ๑ องค์ คือ เวชยันตราชรถ

ทั้งนี้ใช้ในงานพระศพพระพี่นางสองพระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งราชรถนั้นในประวัติศาสตร์ไทยมีการใช้ราชรถมาเป็นเวลายาวนาน และมีรูปแบบที่พัฒนาการ สืบทอดมานานหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลจาก : หนังสือ “เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ”. กรมศิลปากร. ๒๕๓๙