วัฒนธรรมสุวรรณภูมิ ในงานพระเมรุ

เขาพระสุเมรุในสมุดภาพไตรภูมิ

งานพระสุเมรุ หรือการทำศพเจ้านายชั้นสูงนั้นตั้งอยู่บนฐานความเชื่อเกี่ยวกับการกำจัดศพอยู่สามอย่าง คือ ความเชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏในหมู่ลายชนชาติของอุษาคเนย์ ศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนา ทั้งสามส่วนนี้ประกอบพิธีขึ้นโดยผสมกลมกลืนกัน แต่ความเชื่อดั้งเดิมเป็นแกนหลัก ส่วนอื่นประกอบเข้ามาในภายหลังและออกจะอยู่ที่ผิวนอก

โลกนี้โลกหน้า : และพิธีศพในความเชื่อดั้งเดิม
มีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วว่า ผู้คนในอุษาคเนย์เชื่อว่าคนตายจะไปอยู่ในดินแดนบรรพบุรุษ ซึ่งอาจอยู่อีกฝั่งหนึ่งของห้วงน้ำ หรือบนยอดเขาสูง นั่นก็คือดินแดนของบรรพบุรุษ ภาพสลักบนกลองมโหระทึกชิ้นหนึ่งแสดงการเดินทางของวิญญาณผู้ตายไปยังดินแดนบรรพบุรุษโดยทางเรือ

บรรพบุรุษในดินแดนแห่งนี้คือพลังชีวิต หรือพลังที่ก่อให้เกิดความงอกงามบนพื้นโลก อาจติดต่อกับลูกหลานในโลกได้โดยผ่านพิธีกรรม และตราบเท่าที่ลูกหลานยังรักษาความสัมพันธ์ของบรรพบุรุษไว้
พลังชีวิตก็จะหลั่งเข้ามาชีวิตและแผ่นดินของลูกหลานตลอดไป ฉะนั้นการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้องเพื่อให้ได้รับพลังชีวิตที่ขาดหาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและหนึ่งในพิธีกรรมนี้ก็คือการทำศพ เมื่อคนตายกำลังเดินทางไปสู่แผ่นดินบรรพบุรุษ

ในท้าวฮุ่งขุนเจือง ดูเหมือนวิญญาณของบรรพบุรุษเจ้าเท่านั้นที่จะกลายเป็นแถนซึ่งสื่อสารกับชนชั้นเจ้าที่ยังมีชีวิตอยู่เสมอช่วยปกปักรักษาลูกหลานที่เป็นเจ้าทั้งด้วยอิทธิฤทธิ์และการยกทัพลงมาช่วยทำสงคราม (หรือลงโทษลูกหลานที่ไม่อยู่ในฮีต ในคอง) ส่วนวิญญาณของสามัญชนและคนอื่นๆ ไม่ได้ร่วมเป็นพวกแถนด้วยส่วนจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไรไม่ทราบได้

จารึกกัมพูชาดูเหมือนจะส่อทำนองเดียวกัน ผู้ “ไป” (บถ อันเป็นคำลงท้ายของพระนามกัตริย์ที่สวรรคตแล้ว) เป็นพระเจ้ามักเป็นกัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงเสมอ

(ในความเชื่อของชวาและบาหลี ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถรับพลังชีวิตจากบรรพบุรุษได้เท่าๆ กัน มีบางคนนั้นที่สามารถรับได้มากกว่าคนอื่น และเมื่อรับได้มากกว่าคนอื่นจึงสามารถระบายไปสู่คนอื่นหรือสังคมโดยรวมได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เจ้าในท้าวฮุ่งเจือง คือกลุ่มคนที่สามารถรับพลังชีวิตได้มากกว่าคนธรรมดา)

พิธีกรรมในการทำศพของชาวอุษาคเนย์โบราณ ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งวิญญาณผู้ตายไปยังดินแดนของบรรพบุรุษ แต่เรารู้รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรมไม่มาก อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาพิธีกรรมทำศพของชาวบาหลี ซึ่งน่าจะรักษาคติเก่าไว้ได้มาก จึงขอนำมากล่าวสังเขปในที่นี้

เมื่อคนสำคัญ เช่นนักบวชหรือหัวหน้าหมู่บ้านถึงแก่กรรม เขาจะปล่อยให้ศพเน่าเปื่อยผุพังไปจนเหลือแต่โครงกระดูก แล้วจึงนำกระดูกนั้นลงไห นำไหไปฝังแล้วก็ตั้งรูปหินหรือไม้ของผู้ตายไว้เหนือหลุมศพ รูปเคารพนี้เจตนาให้อยู่เป็นการถาวรเพื่อให้ผู้ตายหมายรู้ได้ อาจหลั่งพลังชีวิตผ่านสถานที่นั้นได้ต่อไป

นี่คือการฝังศพครั้งที่สอง การปล่อยให้เน่าเปื่อยผูพังเป็นครั้งที่หนึ่ง กระดูก (ที่ที่เผาแล้วและยังเผา) ในไหพบได้ทั่วไปในอุษาคเนย์ รวมทั้งแหล่งมีชื่อเช่นทุ่งไหหิน โกศน่าจะสืบมาจากไหนี้เอง

นอกจากนี้ การที่หัวหน้าหรือนักบวชถึงแก่กรรม ย่อมหมายความว่าผู้ที่มีความสามารถพิเศษในการรับพลังชีวิตจากบรรพบุรุษได้สูญสิ้นไปเป็นช่วงเวลาที่สังคมหรือชุมชนขาดความสมดุลย์อย่างยิ่ง น่ากลัวอันตรายเพราะขาดพลังชีวิตที่เหมาะสมจากบรรพบุรุษ จึงต้องมีการจัดเลี้ยงฉลองเป็นการเลี้ยงหลายวันเพื่อดึงเอาพลังชีวิตที่ชุมชนสูญเสียไปกลับคืนมา และเพื่อปลอบขวัญคนที่ยังมีชีวิตอยู่

หนึ่งในมหรสพที่ใช้ในพิธีศพคือการเล่นหนังชวา (วายัง ปุรวา) หนังชวามีกำเนิดมาจากการบูชาบรรพบุรุษโดยแท้เพราะเงาที่เป็นรูปคนอันบิดเบี้ยวนั้นเป็นตัวแทนอย่างดีของวิญญาณบรรพบุรุษ (เชื่อกันในเมืองไทยว่าเพราะศาสนาอิสลามห้ามทำรูปคนหรือสัตว์แข่งพระเจ้า จึงทำให้หนังชวาต้องมีรูปบิดเบี้ยว แต่ได้พบภาพแกะสักรูปวายัง ปุรวา บนหินสมัยมัชปาหิต ก่อนที่จะรับนับถือศาสนาอิสลามแสดงว่าประเพณีทำรุตัวหนังให้บิดเบี้ยวมีมาก่อน) แม้เรื่องที่เล่นคือมหาภารตะ แต่ก็มีการแต่เติมเสริมต่อ จนอาจถือได้ว่าเป็นการบรรยายวีรกรรมของบรรพบุรุษ

หลังจากชาวบาหลีรับนับถือศาสนาฮินดูแล้ว พระบรมศพของกษัตรย์ (ซึ่งเหลือแต่อัฐิ) จะถูกถวายพระเพลิง แต่ก่อนจะถวายพระเพลิงจะมีพิธีกรรม เรียกเอาดวงพระวิญญาณกลับมาสิงที่อัฐินั้นเป็นการชั่วคราว และเรียก “ร่าง” นั้นว่า “ปุษปะศรีระ” หลังการถวายพระเพลิงแล้ว ก็จะลอยส่วนใหญ่ของพระบรมอัฐิลงทะเลไป แต่อีกส่วหนนึ่งจะเก็บฝังไว้ใต้รูปเคารพที่เป็นหินดังกล่าวแล้ว

มีอะไรหลายอย่างในการ”ทำศพ” เจ้านายไทยที่อาจเข้าใจได้จากพิธีกรรมของบาหลี เช่นการที่พระโกศมีช่องให้พระบุพโพไหออกนั้น(และมีพิธีกรรมที่ต้องกระทำแก่พระบุพโพนั้น) เป็นไปได้หรือไม่ว่าการทำศพให้แห้งจากเนื้อหนังมังสาจนเหลือแต่ส่วนที่อาจกลายเป็น ปุษปศรีระมากที่สุด

หลังจากบรรจุพระศพลงพระโกศแล้ว ก็ต้องเอาหน้ากากทองปิดพระพักตร์จะว่าเพื่อป้องกันความไม่น่าดูเมื่อพระศพเน่าเปื่อยแล้วก็ได้ แต่น่าสังเกตด้วยว่า “หน้ากาก” มักเป็นตัวแทนของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ผู้สวมเสมอ ซ้ำหน้ากากทองที่ใช้สวมนั้นก็ทำเป็นรูปหน้าที่ปราศจากความรู้สึกใดใด เรียบเฉย และสงบ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือพิธีกรรมขั้นหนึ่งในการเตรียมพระศพไปสู่ความเป็นบรรพบุรุษ สู่ดินแดนไกลโพ้นของบรรพบุรุษ

ในประเพณีโบราณงานพระเมรุเป็นมหกรรมใหญ่ ประกอบด้วยมหรสพหลายๆ ชนิด (เช่นเดียวกับงานศพของชาวบ้าน) นี่คือการชดเชยพังชีวิตที่ขาดหายไปเพราะการสูญเสีย “เจ้า” นายที่สามารถรับพลังชีวิตได้สูงและเป็นการปลอบขวัญผู้มีชีวิตอยู่ใช่หรือไม่

ส่วนการเก็บพระอัฐิไว้ในเจดีย์สถาน เช่นวัดประจำรัชกาล หรือวัดที่เจ้านายทรงอุปถุมภ์ ก็สอดคล้องกับการฝังอัฐิไว้ไต้รูปเคารพแทนตนเพื่อให้สามารถกลับมาคืนพลังชีวิตแก่แผ่นดินได้ตลอดไป

 ฮินดูและพุทธ
นักประวัติศาสตร์ที่เป็นที่เคารพนับถือคนหนึ่งเสนอความเห็นว่า การสร้างพระเมรุเพื่อทำศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่นั้น คงเริ่มมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททองซึ่งรับเอาประเพณีของเขมรเข้ามาหลายอย่าง แทนที่จะสร้างด้วยศิลาขนาดใหญ่ ก็ทำให้เป็นเครื่องไม้ที่อลังการแทน

พระเมรุมาศก็คือเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ “บรรพบุรุษ” ของชาวอุษาคเนย์ได้ถูกเปลี่ยน หรือถูกปรับให้สอดคล้องกับความเชื่อของเทพเจ้าของฮินดูพุทธมานานแล้วการนำเอาพระบรมศพไปตั้งทื่ยอดเขาพระสุเมรุก็คือการส่งดวงพระวิญญาณคืนกลับไปสู่พระเป็นเจ้าโดยตรง หรือหากพูดด้วยภาษาความเชื่อดั้งเดิมคือการจำลองที่อยู่ของบรรพบุรุษขึ้นบนพื้นโลก นำพระบรมศพไปส่งถึงที่นั่นเอง

รูปโฉมภายนอกของงานพระสุเมรุอาจดูเป็นฮินดูพุทธ แต่ลึกลงไปจริงๆ แล้วก็คือการปฏิบัติสืบความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์นั่นเอง

(จากสูจิบัตร  “พระเมรุ” แรกมียุคกรุงศรีอยุธยา เลียนแบบนครวัด “วิษณุโลก” : สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. กระทรวงวัฒนธรรม. 2551)