ที่มาของพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกตน้อย) พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๖ จากรัสเซีย

ที่มาของภาพ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (ภาพสี): บุษยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (บรรณาธิการ), ๒๕๔๙, พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์, ๙ เล่ม (กรุงเทพฯ: ดีเอ็มจี), เล่ม ๖: น. ๘๓. / พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (ภาพขาวดำ): สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร / จารึกใต้ฐาน: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกตน้อย สลักจากหินหยกรัสเซียสีเขียวเข้มทึบ (Nephrite) พุทธลักษณะได้แบบอย่างจากจากพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงค์จำลองของล้านนาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนชั้นแรก” (ดำรงราชานุภาพ ๒๔๖๙, ๑๐๐)

กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายแบบบัวฟันยักษ์ตกแต่งด้วยเกสรบัว พระศกเป็นก้นหอยใหญ่ และพระเกตุมาลาเป็นดอกบัวตูม ตามที่นิยมนับถือกันในสมัยนั้นว่าพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชร ปางมารวิชัย โดยเฉพาะที่ได้จากหัวเมืองทางเหนืออันเป็นแหล่งช่างเชียงแสนว่าเป็นพระดี (ดำรงราชานุภาพ ๒๕๔๔, ๔)

Advertisement

ปรับปรุงพุทธลักษณะให้สมจริงมากขึ้น ทั้งพระพักตร์ พระวรกาย และจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วเหมือนผ้าตามธรรมชาติ ทรงคล้องสังวาลเฉียงพระอังสะซ้าย ๒ องค์ จำลองแบบจากพระมหาสังวาลนพรัตน์และพระสังวาลพระนพเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์

องค์พระพุทธรูปประดิษฐานบนพุทธสิงหาสน์ (ราชกิจจานุเบกษา ๒๔๕๗) ประกอบด้วย ฐานสิงห์รูปไข่รองรับองค์พระพุทธรูป เบื้องหลังพระปฤษฎางค์เป็นพนักพุทธสิงหาสน์ตั้งรับศิรัสจักรรูปเปลวเพลิง ปิดทองระบายสีเขียวรับกับสีแก้วของพระพุทธรูป ภายในศิรัสจักรด้านหน้าเป็นรูปยันต์เดาะ ด้านหลังมีพระปรมาภิไธยย่อ วปร. เปล่งรัศมีใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและเลข ๖ พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปลายคานนอนพนักพุทธสิงหาสน์เป็นรูปมกร รองรับด้วยคานตั้งประกอบรูปราชสีห์และคชสีห์พนมมือเทินคานนอนและยืนเหยียบอยู่บนหลังช้างหมอบข้างละตัว

ด้านหลังพุทธสิงหาสน์มีช่องสำหรับสอดพระมหาเศวตฉัตรคันดาลกางกั้นถวายพระพุทธรูป ทั้งหมดประดิษฐานบนฐานเขียง รองรับด้วยฐานสิงห์แบกจำลองจากพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงทำฐานสิงห์แบกและพนักบัลลังก์ขึ้นใหม่ เพื่อทรงใช้แทนพระที่นั่งภัทรบิฐในนามว่า “พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารามราชอาสน์” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔ (จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว๒๔๖๖, ๘๑)

โดยน่าจะทรงได้แบบอย่างจากพุทธบัลลังก์ของพระพุทธรูปในศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย เช่นที่วิหารเมนดุตจากช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๔

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรขึ้น ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์ถึงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งนอกจากจะเป็นพระราชสิริสวัสดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ยังถือเป็นสิริและเกียรติยศแห่งสยามประเทศและกรุงรัตนโกสินทร์ ยังความเลื่อมใสให้แก่มหาชน อีกประการหนึ่งคือพระราชวังดุสิตอันเป็นที่ประทับแห่งใหม่ควรจะมีเจดียสถานอันประเสริฐไว้เป็นที่สำหรับทรงสักการบูชา เช่นพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในพระบรมมหาราชวัง

จึงได้ทรงเสาะแสวงหาหยกสีเขียวเช่นเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาสร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้นใหม่ ประกอบกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ (พระยศในขณะนั้น) จะเสด็จทวีปยุโรป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปขึ้นจนงามต้องพระราชหฤทัย จนในที่สุดสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอก็ทรงได้หยกสีเขียวขนาดใหญ่และช่างในประเทศรัสเซียช่วยเจียระไน

การเจียระไนพระพุทธรูปในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จเพราะทำแล้วหยกชำรุด ต่อเมื่อได้แก้วมาใหม่ลักษณะงามบริสุทธิ์จึงสำเร็จลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยใช้เวลาปีเศษ

ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ อุบัติขึ้นพอดี แต่เรือที่เชิญพระพุทธรูปก็เดินทางด้วยความปลอดภัยจนถึงพระนคร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีพุทธาภิเษกสมโภชพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ มีขั้นตอนคล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันแรกของการพระราชพิธีได้เชิญพุทธสิงหาสน์ของพระพุทธรูปประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลาภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ราชบัณฑิตทำพิธีโรยแป้งและกล่าวคาถาบูชาพุทธสิงหาสน์ตามวิธีอาสนบูชา

วันต่อมาจึงเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนตั่งไม้อุทุมพรเหนือแผ่นไกรสรราชสีห์ปักดิ้นเลื่อมไว้บนพุทธสิงหาสน์ ผินพระพักตร์พระพุทธรูปไปยังทิศตะวันออก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายน้ำอภิเษกสรงพระพุทธรูปด้วยพระเต้าเบญจคัพย์รัชกาลที่ ๑ และพระมหาสังข์ พราหมณ์ถวายสรงด้วยพระมหาสังข์ ๓ และพระมหาสังข์ ๕ ถวายพระสังวาลธุรำ พระนพ และพระสังวาลแฝดนพรัตน์ และทรงเจิมแล้ว พราหมณ์โหรตาจารย์เชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนพุทธสิงหาสน์ พระราชทานพระมหาเศวตฉัตร ๙ ชั้นให้พราหมณ์พฤฒิบาศเชิญขึ้นปักถวายพระพุทธรูป

ขณะนั้นเจ้าพนักงานยิงปืนพระฤกษ์ มหาฤกษ์มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค ๑๐ นัดตามกำลังวัน ครั้นทรงจุดธูปเทียนเงินทองถวายสักการบูชา พราหมณ์โหรตาจารย์จึงกล่าวมนต์เปิดทวารศิวาลัยไกรลาส ๑ จบ พราหมณ์เป่าสังข์แล้วเจ้าพนักงานจึงประโคม

เวลาบ่ายจึงเวียนเทียนสมโภชเป็นอันเสร็จการ จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์สามเณร ข้าราชการ และประชาชน เข้ามาสักการบูชาเป็นเวลา ๓ วัน นับจำนวนราษฎรที่มาสักการบูชาได้กว่า ๒๐,๐๐๐ คน (ราชกิจจานุเบกษา ๒๕๔๗)

ที่มาของภาพ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (ภาพสี): บุษยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (บรรณาธิการ), ๒๕๔๙, พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์, ๙ เล่ม (กรุงเทพฯ: ดีเอ็มจี), เล่ม ๖: น. ๘๓. / พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (ภาพขาวดำ): สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร / จารึกใต้ฐาน: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์

ใต้ฐานพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร มีจารึกว่า “FABERGÉ 1914” เป็นนามของห้าง “ฟาแบร์เช่” และปีที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ถือเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของไทยที่ปรากฏนามเครื่องหมายการค้า

ห้างฟาแบร์เช่เป็นห้างเครื่องทองและอัญมณีประจำราชสำนักรัสเซีย ดำเนินกิจการโดยปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่ (Peter Carl Fabergé) (พ.ศ. ๒๓๘๙ – ๒๔๖๓) มีชื่อเสียงมากในการผลิตงานประณีตศิลป์ที่โดดเด่นทั้งฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ ดังการสลักอันคมชัดและการตกแต่งพื้นผิวขององค์พระพุทธรูปที่ดูเรียบและเกลี้ยงเกลา แต่ยังให้ความรู้สึกเสมือนช่างไทยเป็นผู้แกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้เอง ทั้งที่ช่างฝีมือของห้างที่ตั้งในรัสเซียมีโอกาสพบเห็นพระพุทธรูปน้อยมาก ไม่น่าจะคุ้นเคยกับการสร้างพระพุทธรูปมาก่อน

ผลงานของห้างได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากทางราชสำนักและชนชั้นสูงในยุโรป รวมถึงราชสำนักสยามนับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงซื้อหรือสั่งทำผลงานมาโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงกับปีที่สร้างพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร ห้างฟาแบร์เช่ต้องระงับการผลิตงานประณีตศิลป์เพราะการอุบัติของสงครามโลกครั้งที่ ๑ จนต้องหันมาผลิตเครื่องใช้ทางทหารแทน ท้ายที่สุดอีก ๔ ปีต่อมาก็ได้ปิดกิจการลง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากรจึงน่าจะเป็นหนึ่งในบรรดาประณีตศิลป์เพียงไม่กี่ชิ้นที่ผลิตขึ้นในยุคสุดท้ายของห้างฟาร์แบร์เช่ (ฟาแบร์เช่ ๒๕๒๖, ๖๕)

และยังถือเป็นผลงานจากห้างดังกล่าวซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย  

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากรได้เชิญประดิษฐานในพระราชพิธีใหญ่และสำคัญมาแล้วหลายครั้ง เช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เชิญประดิษฐานคู่กับพระสัมพุทธพรรณีภายในพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประกอบพระราชพิธีทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถพุทธรัตนสถาน ได้เชิญประดิษฐานด้านหน้าบุษบกทรงพระพุทธบุษยรัตน์เป็นประธานท่ามกลางหมู่สงฆ์ (ราชกิจจานุเบกษา ๒๔๙๙)

 


บรรณานุกรม

๑. จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๔๖๖. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิรรฒธนากร (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร รวบรวมพิมพ์พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ. ๒๔๖๖).

๒. ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. ๒๔๖๙. ตำนานพุทธเจดีย์สยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔ ทจว, รัตน มปร, ๒ วปร. ๓ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙).

๓. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ๒๕๔๔. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.

๔. ฟาแบร์เช่. ๒๕๒๖. บรรณาธิการโดย บุษยา ไกรฤกษ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: อักษรสัมพันธ์.

๕. ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๕๗. “พระราชพิธีพุทธาภิเษกและสมโภชพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกตน้อย).”http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/2327.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐).

๖. ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๙๙. “หมายกำหนดการ ที่ ๑๕/๒๔๙๙ พระราชพิธีทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙,” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/…/2499/D/084/3180.PDF (สืบค้นเมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐).


© 2017 by Pitchaya Soomjinda, https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom
ทุกท่านสามารถแชร์บทความพร้อมภาพประกอบได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ การตัดทอนเนื้อหา การอ้างอิง บรรณานุกรม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายในการนำบทความทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในนามของท่านไม่ว่ากรณีใด (ศิลปวัฒนธรรม ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2560