แรกเริ่มล่าพระพุทธรูปเพื่ออะไร?

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปรอบระเบียงคด วัดเบญจมบพิตรฯ

จากบทความเรื่องแอนนาของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในศิลปวัฒนธรรม (ธ.ค.) ที่กล่าวถึงทัศนะของวอลเตอร์ เบนจามิน นักคิดชาวเยอรมันว่า งานศิลปะที่ถูกผลิตซ้ำ (reproduction) ได้ทำให้คุณค่างานศิลปะดั้งเดิมเปลี่ยนไป จากเดิมที่ความหมายและความงามรวมศูนย์อยู่ที่พิธีกรรม ความเชื่อ และความศักดิ์สิทธิ์ของงานนั้นๆ เช่น รูปปั้นนักบุญและพระพุทธรูป…มาสู่คุณค่าใหม่ที่ความสำคัญของงานศิลปะอยู่ที่การแสดงออก (exhibition value) นั้น ทำให้ผมคิดถึงปรากฏการณ์เรื่องพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นในแวดวงชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕

ในช่วงดังกล่าวได้เกิดวัฒนธรรมใหม่ประการหนึ่งที่เกิดจากกระแสตะวันตกก็คือ การเฟื่องฟูของการสะสมพระพุทธรูป โดยหันมาให้ความสำคัญกับ “ความงาม” ของพระพุทธรูปมากขึ้น เกิดการหล่อพระพุทธรูปขึ้นใหม่เลียนแบบพระพุทธรูปองค์เดิม ซึ่งเห็นว่า “งาม” ขึ้นหลายองค์ ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชประสงค์จัดตั้ง “มิวเซียม” พระพุทธรูป ณ ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรฯ วัดสำคัญในรัชสมัยนั้น ให้เป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปที่ “งาม” จากทั่วประเทศให้คนมาเที่ยวดู

Advertisement

นี่อาจถือว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงบทบาทของพระพุทธรูปในสยาม จากเดิมที่มีคุณค่าจิตวิญญาณ มาเป็น “วัตถุแสดง” ที่ชื่มชมได้ หรือเป็น exhibition value ตามที่อาจารย์ธเนศเขียนไว้ในบทความนั่นเอง

นอกจากนี้ยังได้โปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชจากพิษณุโลก ซึ่งทรงเห็นว่างามเหมือนเทวดาสร้าง มาประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถอีกด้วย เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า นอกจากพระพุทธชินราชจำลองจะเป็นปูชนียวัตถุแล้ว ยังเป็น “วัตถุแสดง” เหมือนๆ กับพระพุทธรูปรอบระเบียงคดได้หรือไม่

วัฒนธรรมสุนทรยศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ที่มาจากตะวันตก ก็เริ่มโดดเด่นขึ้นในยุคนี้ และช่วงนี้นี่เองอาจเป็นยุคที่มีการนำพระพุทธรูปเข้าบ้านพร้อมๆ กับโต๊ะหมู่บูชาเริ่มแพร่หลาย (ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่นิยมนำพระพุทธรูปเข้าบ้าน ดังที่ อ.ศรีศักร เคยอธิบายไว้)

แต่ที่น่าสงสัยประการหนึ่งก็คือ ในยุคนั้น พิพิธภัณฑ์ถูกใช้ไปในทางใด? เพื่ออะไร?

ธงชัย วินิจจะกูล เคยอธิบายไว้ว่าพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการในยุคดังกล่าวเป็นวาทกรรมของสยามเพื่อแสดงความเจริญศิวิไลซ์ และความไม่ล้าหลังป่าเถื่อนของประเทศ ในช่วงเวลานั้นได้เกิดนิทรรศการ หรือที่ยุคนั้นเรียกว่า “เอ๊กซ์ฮิบิชั่น” เกิดขึ้นหลายแห่ง ที่โดดเด่นก็คือการเข้าร่วมงานเอ็กซ์โปของต่างประเทศและการจัดแสดงสินค้า เพื่อแสดงผลิตผล ทรัพยากรของสยาม ณ ท้องสนามหลวง จะเห็นได้ว่านิทรรศการในช่วงนั้นล้วนมีแนวโน้มไปในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชั่วคราวที่เป็นการแสดงพลังทางการค้าของสยามในกระแสระบบทุนนิยมเกือบทั้งสิ้น

แล้วพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปที่วัดเบญจมบพิตรฯ เป็นอย่างไร

ผมคิดว่าประการแรกเกิดขึ้นจากการที่นักสำรวจชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาล่าสมบัติทางวัฒนธรรม เช่นพระพุทธรูปกันมากมาย อาจทำให้เกิดกระแสหวงแหนพระพุทธรูปขึ้น และเริ่มหันมานิยม “เล่น” พระพุทธรูปในแง่ศิลปวัตถุ

อีกประการหนึ่ง ผมคิดว่าเกิดจากแนวคิดเรื่องการค้า และแสดงทรัพยากรของสยามนั่นเอง

ในพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ในการรวบรวมพระพุทธรูปมาไว้ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรฯ ทรงมีข้อกำหนดประการหนึ่งคือ ต้องเป็นพระหล่อหรือพระสัมฤทธิ์เท่านั้น

การที่มีข้อกำหนดให้ “ต้อง” เป็นพระสัมฤทธิ์หรือพระหล่อเท่านั้น ก็เพราะว่าสัมฤทธิ์ไม่ใช่ดิน หิน ปูนธรรมดาๆ แต่ทำขึ้นจากแร่ธาตุที่ผสมจากดีบุกและทองแดง อันเป็นทรัพยากรสำคัญในกระแสทุนนิยมในช่วงนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรแร่ธาตุ และมีเทคโนโลยีมาแต่อดีตเป็นการให้ค่าพระพุทธรูปในเชิงทางคุณประโยชน์

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปที่วัดเบญจมบพิตรฯ จึงไม่น่าจะเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เพื่อนุรักษ์รวบรวมศิลปวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังน่าจะเป็นสถานที่แสดงพลังทรัพยากรสยามและความมั่งคั่งด้วย

คิดอย่างนี้เว่อไปไหม?

ทางไท บ่วงสกุล

ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

ตอบ

ไม่เว่อหรอกน่า ผมเองก็เคยคิด แต่ไม่กล้าเขียนบอกใคร


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2560