ป้อมมหากาฬ : “อนุรักษ์” หรือ “ทำลาย” ประวัติศาสตร์?

ภาพในอดีต สังเกตมุมบนซ้ายของภาพคือหลักฐานที่แสดงให้เห็นความีอยู่มาอย่างต่อเนื่องของชุมชนบริเวณ “ชานกำแพงพระนคร”

ความไม่เข้าใจในการเลือกเก็บ “เรื่องราวทางประวัติศาสตร์”

จากมติสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๕ ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรและกรุงเทพมหานครร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการปรับปรุงป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะ (ตามแบบที่นำมาเสนอข้างล่างนี้) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์ป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมือง และเพื่อปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศพักผ่อนหย่อนใจ เป็นเหตุให้จำเป็นต้องรื้อย้ายชุมชนที่อยู่บริเวณหลังแนวกำแพงและป้อมมหากาฬออกทั้งหมด

โครงการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แต่จนกระทั่งปัจจุบัน โครงการดังกล่าวก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ เนื่องจากได้มีความขัดแย้งทางความคิดกับชาวบ้านภายในชุมชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

(ซ้าย) อาชีพการหลอมทอง, (ขวา) บ้านไม้สองชั้นหลังคาจั่ว บ้านลักษณะหนึ่งที่พบในชุมชนป้อมมหากาฬ

ชาวบ้านในชุมชนได้เสนอทางออกที่จะประนีประนอมกับทางกรุงเทพมหานคร โดยเสนอขอใช้พื้นที่ร่วมกับโครงการเป็นจำนวน ๑ ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด ๔ ไร่เศษ (LAND SHARING) เพื่อใช้พักอาศัย โดยที่ชาวบ้านได้เสนอว่าจะอนุรักษ์รักษาบ้านเรือนโบราณที่มีคุณค่าภายในพื้นที่ ตลอดจนรักษาวิถีชีวิตชุมชนไปพร้อมๆ กับการเข้าไปดูแลรักษาสวนสาธารณะที่ทางกรุงเทพมหานครจะจัดสร้างขึ้นด้วย

แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง เหตุผลประการสำคัญจากฝ่ายผู้รับผิดชอบคือ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นจึงไม่อาจยินยอมให้มีชุมชนอยู่ภายในพื้นที่ได้

จากเหตุผลข้างต้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมกรุงเทพมหานครจึงมองว่าตัวปัญหาที่ขัดขวางการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของป้อมมหากาฬนั้นคือการมีอยู่ของชุมชนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ชุมชนดังกล่าวมิได้สร้างความเสียหายทางกายภาพทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อโครงสร้างของโบราณสถานแต่อย่างใด สิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นโครงสร้างขนาดเล็กที่ไม่สามารถส่งผลกระทบขนาดที่จะทำลายความมั่นคงของตัวป้อมหรือแนวกำแพงได้ รวมไปถึงการปลูกสร้างโดยเว้นระยะห่างจากแนวกำแพงเมืองประมาณ ๒ เมตรโดยตลอดยิ่งทำให้ไม่มีการรบกวนผิวภายนอกของโบราณสถานอีกด้วย

หรือจะว่าเป็นการรบกวนทางด้านทัศนียภาพที่มองจากภายนอกเข้ามา ความเป็นจริงก็พบว่าแทบมองไม่เห็นว่ามีบ้านเรือนของชาวบ้านซ่อนอยู่หลังแนวกำแพงแต่อย่างใด

มุมมองที่มองเข้ามาเห็นเฉพาะตัวป้อมและแนวกำแพงเท่านั้น ทำให้ประเด็นการทำลายโบราณสถานในด้านกายภาพหรือทางทัศนียภาพฟังไม่ขึ้น อีกทั้งชาวบ้านทั้งหมดต่างพร้อมยินดีที่จะปรับปรุงที่พักใหม่ทั้งหมดให้มีสภาพที่ดีขึ้นในกรณีที่ทางกรุงเทพมหานครยินยอมที่จะให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน

ดังนี้เองจึงทำให้เกิดความสนใจว่า เหตุใดกรุงเทพมหานครจึงมีแนวทางการรักษาประวัติศาสตร์โดยมีคำตอบอยู่ที่การรื้อย้ายชุมชนให้ออกห่างจากโบราณสถาน ซึ่งจากการพิจารณาทำให้พบว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่พื้นฐานทัศนคติในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนความไม่เข้าใจอย่างน้อย ๒ ประการ อันนำมาสู่การไม่รู้ว่าควรเลือกที่จะเก็บเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ช่วงไหนและอย่างไรดี

ประการที่หนึ่ง คือความไม่เข้าใจว่าอะไรมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และอะไรไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า “เรื่องราวทางประวัติศาสตร์” นั้นมีหลายมิติ และหลายช่วงเวลา อีกทั้งยังมีมากมายนับไม่ถ้วน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้วหรือเมื่อวานนี้ต่างก็ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ได้ทั้งสิ้นถ้ามีคนเห็นคุณค่า ดังนั้นการที่จะเลือกว่าสิ่งใดหรือเหตุการณ์ใดเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรเก็บรักษาหรือไม่นั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า ของสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน อย่างไร และมีความหมายต่อคนกลุ่มใด ของสิ่งหนึ่งอาจมีคุณค่าและความหมายทางประวัติศาสตร์ต่อคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงในทัศนะของอีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นได้

ดังนั้นความขัดแย้งในการมองคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงมิใช่เรื่องแปลก การหาทางออกจึงต้องตั้งอยู่บนเหตุผลของทั้งสองฝ่ายว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน และเหตุผลของฝ่ายใดสามารถโน้มน้าวจิตใจของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของการรื้อ “เฉลิมไทย” ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มองคุณค่าของ “โลหะปราสาท” ว่ามีความสำคัญมากและไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถูกบดบังทัศนียภาพด้วยตึกคอนกรีตที่ไม่มีคุณค่า ในขณะที่คนอีกกลุ่มกลับมองว่า “เฉลิมไทย” เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของสังคมไทยเช่นกันดังนั้นจึงไม่ควรรื้อทิ้ง เป็นต้น

ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเห็นด้วยกับฝ่ายหลังมากกว่าก็ตาม แต่ก็ยอมรับได้ต่อการตัดสินใจที่จะรื้อ “เฉลิมไทย” ทั้งนี้เป็นเพราะว่าอย่างน้อยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็ตั้งอยู่บนความคิดเห็นที่แตกต่างในการเลือกที่จะเก็บเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน มีเหตุผลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนทั้งสองฝ่าย

แต่ในกรณีของป้อมมหากาฬนี้ ข้ออ้างในการเก็บรักษาพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โดยต้องรื้อชุมชนออกไปไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความคิดในการที่จะเก็บเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ช่วงไหนเลย ในขณะที่ชาวบ้านในชุมชนโต้แย้งด้วยประเด็นการเก็บรักษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชน กล่าวคือ ชาวบ้านยกประเด็นว่าพื้นที่ดังกล่าวที่ในอดีตเรียกว่า “ชานกำแพงพระนคร” นั้น เป็นที่ที่ได้รับพระราชทานให้เป็นบ้านพักอาศัยของข้าราชบริพารมาหลายยุคหลายสมัย มีความเป็นมา มีอดีตที่น่าจดจำ มีวิถีชีวิตที่หาดูได้ยาก และมีสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าตกทอดสืบเนื่องมายาวนาน (ซึ่งจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป)

ภายใต้คำกล่าวอ้างเรื่องการอนุรักษ์และรักษาประวัติศาสตร์ของทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายชาวบ้านได้ยกมิติทางประวัติศาสตร์ของชุมชนขึ้นมาต่อสู้ แต่ทางกรุงเทพมหานครกลับไม่ได้เสนอมิติทางประวัติศาสตร์ใดๆ เลยขึ้นมาโต้แย้ง อีกทั้งกลับเสนอ “สวนสาธารณะ” ที่มิได้มีมิติหรือความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ใดๆ เลยขึ้นมา ไม่มีหลักฐานแม้เพียงชิ้นเดียวที่จะโน้มน้าวให้เชื่อได้เลยว่าพื้นที่ “ชานกำแพงพระนคร” ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์จะได้เคยมีลักษณะที่เป็น “สวนสาธารณะ” (ในความหมายที่เข้าใจอยู่ในปัจจุบัน)

ด้วยเหตุนี้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการรักษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตอนใดเลยของพื้นที่บริเวณนี้ มีแต่เพียงการอ้างอย่างลอยๆ ว่าต้องการรักษาตัวโบราณสถานเอาไว้เพียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมใดๆ อีกเช่นกันว่าชุมชนหลังแนวกำแพงเป็นสาเหตุในการทำลายโบราณสถานทั้งทางด้านกายภาพหรือทัศนียภาพ แม้ว่า “สวนสาธารณะ” จะเป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองและชุมชนที่มีคุณประโยชน์อย่างมากในสังคมปัจจุบัน แต่ “สวนสาธารณะ” ก็ไม่ใช่คำตอบของปัญหาทุกปัญหาและในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องการการโต้แย้งในมิติคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากกว่าการสนองความต้องการสร้างสวนให้ชาวต่างชาติมาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ

(ซ้าย) การเลี้ยงไก่ชน, (กลาง) บ้านเลขที่ ๙๗ เป็นเรือนไทยใต้ถุนสูงที่สวยงามหลังหนึ่ง น่าเสียดายถ้าต้องถูกรื้อทิ้ง, (ขวา) สภาพบรรยากาศที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกระหว่างธรรมชาติ ความเชื่อ และวิถีชีวิต ที่ไม่อาจหาได้จากสวนสาธารณะ

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายทั้งเอกสาร รูปถ่าย ตลอดจนแผนที่ต่างแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีอยู่ของชุมชนบริเวณ “ชานกำแพงพระนคร” นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าสภาพในปัจจุบันชุมชนป้อมมหากาฬอาจเสื่อมโทรมในทางกายภาพ แต่ชุมชนก็พร้อมที่จะร่วมมือปรับปรุงอย่างเต็มที่ หรือแม้ว่าชาวบ้านที่อยู่ในปัจจุบันจะไม่อาจกล่าวได้ว่าสืบทอดเชื้อสายจากเจ้าของเดิมทั้งหมด แต่ชุมชนนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีเอกลักษณ์ และมีวิถีชีวิตบางอย่างที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

คุณค่าทั้งหมดอาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่อลังการเหมือน “ประวัติศาสตร์รัฐ” เป็นได้ก็เพียง “ประวัติศาสตร์ชุมชน” แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประวัติศาสตร์ทั้งสองส่วนต่างก็มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

ชุมชนหลังแนวกำแพงนี้จะช่วยส่งเสริมมิติทางประวัติศาสตร์ของป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมืองได้มากกว่า “สวนสาธารณะ” ที่ไร้ซึ่งความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจว่าอะไรมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และอะไรไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของทางกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน

ประการที่สอง คือทัศนคติที่มุ่งแต่จะเก็บรักษาโบราณสถานโดยไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตที่แทรกอยู่กับตัวโบราณสถาน อันส่งผลเสียต่อการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นอย่างยิ่ง ในประเด็นนี้ผู้เขียนมิได้ตั้งใจที่จะอวดอ้างว่าเป็นผู้รู้ในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการเสนอมุมมองมุมหนึ่งของคนจากวงนอกต่อประเด็นดังกล่าวเท่านั้น

จากการพิจารณาทำให้เห็นได้ชัดว่า ลักษณะเด่นประการหนึ่งในวิธีการเก็บรักษาหรืออนุรักษ์โบราณสถานของกรุงเทพมหานครเป็นเสมือนการ “เก็บซากที่ไม่มีชีวิต แต่ไม่เคยคิดที่จะเก็บชีวิตที่อยู่ในซาก” (คำพูดบางตอนในนวนิยาย “ตลิ่งสูง ซุงหนัก” ของคุณนิคม รายยวา) กล่าวคือ เป็นการรักษาโบราณสถานด้วยการไล่ผู้คนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของโบราณสถานออกไป ให้เหลือเพียงซากของโบราณสถาน เป็นเพียงสิ่งที่ถูก “สตัฟฟ์” ไว้ให้คนมาเที่ยวดู ขาดซึ่งจิตวิญญาณของเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่

กรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเมืองประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไป เช่นสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัย ตรงที่เป็นเมืองที่มีความต่อเนื่องและมีผู้คนอาศัยอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน มิใช่เมืองที่เหลือแต่ซากของสิ่งก่อสร้างต่างๆ

แม้ว่าเมืองร้างดังกล่าวจะทำให้เราสามารถมองเห็นหลักฐานในอดีตที่หลงเหลืออยู่มากกว่าเมืองที่ยังมีผู้คนอาศัยอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ว่าเมืองที่มีความสืบเนื่องของการอยู่อาศัยมาโดยตลอดก็มีเสน่ห์ไปในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือมีประวัติศาสตร์ของผู้คน มีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ตกทอดกันมาให้มองเห็นได้ และจะเป็นการช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ในมิติที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเสน่ห์ที่แตกต่างตรงจุดนี้ก็มีอยู่อย่างมากมายในกรุงรัตนโกสินทร์ที่ไม่อาจหาได้จากเมืองเก่าสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัย

ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานครจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพยายามทำกรุงรัตนโกสินทร์ให้กลายเป็นเมืองที่มีเพียงซากของสิ่งก่อสร้างแต่ไร้ชีวิต

นอกจากนี้ควรทำความเข้าใจด้วยว่าการสร้างสวนเขียวๆ ล้อมรอบโบราณสถานนั้นอาจใช้ได้ดีและส่งเสริมคุณค่าของโบราณสถานได้ในหลายๆ แห่ง แต่มิใช่ว่าวิธีการนี้จะใช้ได้ดีเสมอในทุกสถานการณ์ การตัดสินใจควรที่จะพิจารณาจากบริบทแวดล้อมของพื้นที่เป็นกรณีๆ ไป เห็นได้ชัดจากกรณีนี้

ถ้าเราลองจินตนาการถึงภาพของสวนสาธารณะตามโครงการของกรุงเทพมหานคร แล้วลองนึกถึงความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นตามมาก็จะเห็นว่า สวนสาธารณะที่นี่จะเป็นสวนที่เปลี่ยวและอันตรายที่สุดแม้ในเวลากลางวัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีแนวกำแพงขนาดใหญ่ปิดล้อมไว้ อีกด้านก็เป็นคลอง ซึ่งทำให้ปลอดจากสายตาของผู้คนแม้ว่าจะอยู่กลางเมืองก็ตาม คนเร่ร่อนจรจัด คนติดยา ต้องพากันเข้ามาอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในเวลากลางคืนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ขนาดสนามหลวงซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งรอบด้านยังเต็มไปด้วยกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์มากมาย นับประสาอะไรกับสวนสาธารณะที่อยู่หลังแนวกำแพง

ชุมชนป้อมมหากาฬ : พื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการรักษาวิถีชีวิตของกรุงรัตนโกสินทร์คือการเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือวิถีชีวิตทุกอย่างในอดีตไว้ทั้งหมดก็หาไม่

ก็อย่างที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ประวัติศาสตร์ที่มุ่งจะอนุรักษ์นั้นเกิดจากการเลือกสรรของผู้คนในสังคมว่าสิ่งไหนควรค่าแก่การเก็บรักษาและสิ่งไหนไม่ควรแก่การรักษา ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานข้อมูลที่นำมาแสดงให้ประจักษ์เป็นสำคัญ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีของชุมชนป้อมมหากาฬที่เกิดอยู่ในปัจจุบันก็เนื่องมาจากการมองไม่เห็นคุณค่าของ “ประวัติศาสตร์ชุมชน” ในบริเวณนี้นั่นเอง

ดังนั้นในบทความนี้จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าชุมชนป้อมมหากาฬมีคุณค่าสมควรแก่การรักษาหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่สาธารณชนคนทั่วไปในการพิจารณาตัดสินต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น

จากการศึกษาและเข้าไปสำรวจในเบื้องต้นตลอดจนสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ทำให้พบเห็นคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬนี้อยู่ ๒ อย่างที่สำคัญ คือวิถีชีวิตและอาชีพภายในชุมชน กับคุณค่าของอาคารบ้านเรือนที่มีอายุเก่าแก่ร่วมร้อยปีที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชน

วิถีชีวิต อาจกล่าวได้ว่าชุมชนแห่งนี้แม้เป็นเพียงชุมชนขนาดเล็กแต่กลับมีวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่น่าสนใจและหาดูได้ยากในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองอยู่หลายอย่าง เช่น การเลี้ยงนกเขาชวาและทำกรงนกของไพบูลย์ ตุลารักษ์ ซึ่งถือได้ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่จะหาซื้อนกเขาชวาที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน อีกทั้งกรงนกที่ทำขึ้นก็เป็นที่นิยมของลูกค้ามาก ซึ่งในอดีตมีตลาดที่สำคัญก็คือสนามหลวง แต่ปัจจุบันตลาดที่รับซื้อสำคัญได้ย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักรแทน หรือจะเป็นการเลี้ยงไก่ชนของสำเริง ดาวสุก ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ทำกันมาต่อเนื่องกว่า ๓๐ ปี ซึ่งใครที่ไม่เคยมาเห็นก็คงจะแปลกใจว่าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ จะมีการประกอบอาชีพเช่นนี้อยู่ในปัจจุบัน

อีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการหลอมทอง อันเป็นอาชีพที่สืบทอดมาแต่โบราณ หรือจะเป็นงานของกุศล เชยบุปผา ที่ประกอบอาชีพปั้นเศียรพ่อแก่ (หัวฤาษี) และปั้นตุ๊กตาดินเผารูปฤาษีดัดตนในอิริยาบถต่างๆ กัน ซึ่งถึงแม้จะดูเรียบง่ายแต่ก็มีคุณค่าอย่างมากในเชิงช่างพื้นบ้าน โดยมีตลาดที่รับซื้อสำคัญคือตลาดพระวัดราชนัดดาและชาวต่างชาติด้วยส่วนหนึ่ง

(ซ้าย) องค์ประกอบบางส่วนของบ้านที่ก่อสร้างด้วยความประณีตและด้วยไม้สักอย่างดี, (ขวา) การปั้นฤาษีดินเผา

อาชีพเหล่านี้ถ้าถูกแยกออกไปจากบริบทแวดล้อมของพื้นที่และจับเข้าไปอยู่ในตึกกล่องของการเคหะฯ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิต และอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนเลย ก็จะส่งผลทำให้วงจรอาชีพของผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกตัดออกจากวงจรของตลาด ดังเช่นการปั้นตุ๊กตาดินเผาฤาษีของกุศลที่ตลาดส่วนใหญ่ก็คือตลาดพระในแถบนั้น หรือการหลอมทองซึ่งก็คงไม่สามารถทำได้อีกต่อไปในพื้นที่อาคารของการเคหะฯ อีกทั้งตลาดก็ถูกดึงให้ห่างไกลจนเกินกว่าจะติดต่อสัมพันธ์กันได้ในระบบความสัมพันธ์แบบเดิม เหล่านี้เป็นต้น และท้ายที่สุดอาชีพเก่าแก่ดังกล่าวมาทั้งหมดก็คงจะต้องสูญหายไปเช่นเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของชุมชน

สถาปัตยกรรมที่ยังเหลืออยู่ จะพบว่ามีอาคารบ้านเรือนอย่างน้อย ๕-๖ หลังที่ถือได้ว่าเป็นอาคารที่มีอายุเก่าแก่ ควรแก่การเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงพัฒนาการในการปลูกสร้างที่พักอาศัยของผู้คนและชุมชนในอดีต นอกเหนือไปจากตัวสถาปัตยกรรมของป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมืองเก่า

ซึ่งในบทความนี้จะแสดงให้เห็นเฉพาะหลังที่สำคัญเพียง ๒ หลัง เพื่อเป็นตัวอย่างพอให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

หลังแรกคือบ้านเลขที่ ๙๗

จากประวัติที่ชาวชุมชนได้พยายามสืบค้นมาพบว่า บ้านหลังนี้เจ้าของคนแรกคือ หมื่นศักดิ์ แสนยากร ลักษณะโดยรวมเป็นบ้านทรงไทยหลังคาทรงสูง และยกใต้ถุนสูงในแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมแบบภาคกลางที่พบมากในอดีต ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หน้าจั่วทำเป็นแบบที่เรียกว่า “จั่วใบปรือ” ฝาเป็นฝาลูกฟักทั้งหมด และจากการสำรวจโดยรอบอาคารก็พบว่าเรือนหลังนี้เป็นเรือนไทยที่มีสัดส่วนสวยงามหลังหนึ่ง ถึงแม้สภาพปัจจุบันจะทรุดโทรม แต่ถ้าได้รับการดูแลรักษาตลอดจนมีการปรับปรุงและอนุรักษ์ที่ดีเพียงพอ เรือนหลังนี้ก็จะกลายเป็นตัวอย่างของเรือนไทยที่งดงามหลังหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งภาพของเรือนไทยลักษณะเช่นนี้และภายใต้บรรยากาศที่มีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงเรือนไทยที่ตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์นั้นจะเห็นได้ก็เฉพาะในภาพเก่าที่ถ่ายไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เพียงเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องออกไปดูในต่างจังหวัดซึ่งยังพอมีเหลืออยู่บ้าง ดังนั้นถ้าสามารถเก็บรักษาชุมชนแห่งนี้ไว้ได้ก็เท่ากับว่าได้รักษาภาพชีวิตส่วนหนึ่งที่สืบทอดจากอดีตไว้ได้ตามไปด้วย

อีกหลังหนึ่งคือบ้านเลขที่ ๑๒๓

เป็นภาพสะท้อนอย่างดีของบ้านเรือนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ ๖ บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ ๒ ชั้นหลังคาทรงจั่ว มุมหลังคาไม่สูงชันเท่าเรือนทรงไทยแบบหลังแรก ชายคาก็ไม่ยื่นยาวมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกตลอดจนรายละเอียดบางส่วน ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นในแบบที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังที่อาจารย์ผุสดี ทิพทัส และอาจารย์มานพ พงศทัต ได้ศึกษาไว้ในงานวิจัยชื่อ “บ้านในกรุงเทพฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๕๒๕)” ว่าเรือนในลักษณะแบบนี้ “การใช้บานเกล็ดไม้กับหน้าต่างและประตูภายนอกมักเป็นหน้าต่างสูง บานเปิดคู่ แบ่งช่วงหนึ่งเป็นบานกระทุ้งมีบานเกล็ดไม้ในตัวบานอีกทีหนึ่ง เวลาปิดหน้าต่างก็ยังสามารถระบายอากาศได้ หรือจะเปิดเฉพาะช่องบานกระทุ้งก็ยังได้แสงสว่างและรับลมได้ นอกจากนั้นยังมีการใช้ไม้ฉลุเป็นช่องลมระบายอากาศเหนือหน้าต่างและส่วนบนของผนัง” ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็ปรากฏอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากรูปที่ได้นำมาลงไว้ด้วยในบทความนี้

นอกจากนั้นยังมีบ้านอีกหลายหลังที่มีคุณค่าในลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในรายละเอียดเนื่องจากจะเป็นการเปลืองเนื้อที่มากเกินไป แต่ถ้าใครติดใจหรือสงสัยในคุณค่าดังกล่าวก็สามารถเข้าไปเดินดูเดินชมด้วยตัวเองได้ อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนยังยินดีต้อนรับและให้ข้อมูลตลอดเวลา

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินสำรวจบ้านเรือนอยู่ ก็ได้พบเห็นภาพบรรยากาศหลายๆ จุดที่เมื่อเดินผ่านแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกว่านี่คือบรรยากาศของชุมชนที่เก่าแก่ แลดู “ขลัง” แบบที่ไม่อาจหาบรรยากาศแบบนี้ได้อีกในกลางใจเมืองยุคปัจจุบัน เช่น ภาพบรรยากาศของทางเดินที่แคบยาวที่นำเราไปสู่ริมคลอง ปลายทางคือต้นนุ่นขนาดใหญ่ที่ภายใต้เงาอันร่มครึ้มของกิ่งและใบนั้นก็มีศาลพระภูมิที่เต็มไปด้วยผ้าหลากสีพันอยู่รอบโคนเสา อันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากอดีต และจะยิ่งเพิ่มความรู้สึกน่าประทับใจมากขึ้นไปอีกเมื่อยามที่แสงแดดส่องลอดผ่านเพียงรำไรจากด้านบนหรือสะท้อนมาจากผิวน้ำด้านหลังมากระทบกับตัวศาลพระภูมิ สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศที่เกิดจากความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นระหว่างต้นไม้ บ้านเรือน ผู้คนและความเชื่อ ที่ไม่อาจสร้างหรือรื้อฟื้นขึ้นใหม่ได้อีกหากตัวระบบความสัมพันธ์นี้ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับมาเทียบกับแบบสวนสาธารณะที่กรุงเทพมหานครเสนอมานั้น ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกและไม่เข้ากันอย่างยิ่งกับบริบทของพื้นที่ รู้สึกเสียดายในคุณค่าของสภาพบรรยากาศที่แม้จะไม่สามารถพิสูจน์เป็นข้อมูลตัวเลขได้ จะเป็นก็เพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและต้องเข้าไปสัมผัสด้วยตนเองเท่านั้น อันเป็นลักษณะนามธรรมที่ไม่อาจชี้ให้เห็นหรือบอกกล่าวกันได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถรู้สึกได้และมีอยู่จริง และถึงแม้ว่าต้นไม้เก่าแก่ทั้งหมดอาจจะถูกเก็บรักษาไว้ในตำแหน่งเดิมถ้าพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสวนสาธารณะตามความประสงค์ของกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมที่หายไป ก็ย่อมทำให้ความหมายของต้นไม้เก่าแก่เหล่านั้นมีค่าเหลือเพียงต้นไม้ในสวนสาธารณะเพียงเท่านั้น ไม่มีความ “ขลัง” ไม่มีความ “ศักดิ์สิทธิ์” เหลืออยู่อีกต่อไป ซึ่งสิ่งที่หายไปเหล่านี้นั้นก็คือประวัติศาสตร์ของวิถีชีวิตที่แฝงอยู่ในชุมชนอันเป็นของมีค่าที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งในสังคมเมืองปัจจุบัน และหาไม่ได้เลยจากสนามหญ้าเขียวๆ ของสวนสาธารณะ

บทสรุปที่ชัดเจนของความพยายามในการสร้างสวนสาธารณะในบริเวณนี้ จึงไม่อาจเลี่ยงที่จะกล่าวได้ว่า เป็นการดื้อดึงของกรุงเทพมหานครในการที่จะรื้อย้ายชุมชนโดยขาดเหตุผลและเป้าหมายที่ชัดเจนมาสนับสนุนเพียงพอ อีกทั้งยังตั้งต้นความคิดด้วยการมองอย่างมีอคติว่าชุมชนคือตัวปัญหาของการอนุรักษ์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วตัวชุมชนเองนั้นแหละคือตัวประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจแยกออกได้จากโบราณสถาน และควรอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาเอาไว้ให้อยู่ควบคู่กันไป

การแยกผู้คนและชุมชนออกจากบริบทแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นเพียงการรักษาซากไร้ชีวิต แต่ไม่รักษาชีวิตที่อยู่ในซาก สุดท้าย “สวนสาธารณะ” ที่ไร้ซึ่งมิติทางประวัติศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้นก็จะกลายสภาพเป็นตัวทำลายประวัติศาสตร์ลงอย่างสิ้นเชิงเสียเอง

ถ้าโครงการดังกล่าวได้ถูกสร้างขึ้นจริงรวมไปถึงโครงการต่างๆ ในลักษณะเดียวกันที่ยังรอการดำเนินงานอีกมาก (อันเป็นผลมาจากแผนแม่บทในการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ของทางกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้คำนึงถึงประวัติศาสตร์ชุมชนเท่าที่ควร) ได้ถูกสร้างขึ้นทั่วกรุงเทพฯ กรุงรัตนโกสินทร์ในอนาคตข้างหน้าก็คงจะไร้ซึ่งเสน่ห์ลงไปอย่างมากเลยทีเดียว