จีรนันทน์ เศวตนันทน์ รองนางงามจักรวาลคนแรกและหนึ่งเดียวของไทย

จีรนันทน์ เศวตนันทน์ จากหน้าปกวารสาร Thailand illustrated ฉบับดือนพฤศจิกายน 2508 (ภาพจาก E-BOOK หอสมุดแห่งชาติ)

การประกวดนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe ในรอบตัดสิน ซึ่งตรงกับเช้าวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2566 ตามเวลาประเทศไทย ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการจัดการประกวดครั้งที่ 71 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดศักราชใหม่ภายใต้การบริหารงานของนักธุรกิจที่มิใช่ชาวอเมริกันเป็นครั้งแรก นั่นก็คือ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ นักธุรกิจทรานส์เจนเดอร์ชาวไทย (Transgender)

เป็นที่ทราบดีว่าการประกวดนางงามจักรวาลที่ผ่านมา มีสาวงามตัวแทนจากประเทศไทยสามารถครอบครองมงกุฎได้ถึง 2 คน คือ อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาล พ.ศ. 2508 และ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางงามจักรวาล พ.ศ. 2531

แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าตลอดระยะเวลาที่จัดการประกวดมา 70 กว่าครั้งนั้น ประเทศไทยกลับมีสาวงามที่ได้รับตำแหน่ง “รองนางงามจักรวาล” เพียง 1 คน เท่านั้น ซึ่งสาวงามคนนั้นก็คือ จีรนันทน์ เศวตนันทน์ รองอันดับ 2 นางงามจักรวาล พ.ศ. 2509

จีรนันทน์ สาวงามผู้สร้างตำนานรองนางงามจักรวาลชาวไทย (กองบรรณาธิการฯ ได้รับภาพจากสุวีระ บุญรอด)

เปิดภูมิหลังสู่เวทีนางสาวไทย

จีรนันทน์ เศวตนันทน์ หรือ “เล็ก” เป็นบุตรสาวของ พล.ต.ต.จรุง กับ นางอร่ามศรี เศวตนันทน์ ด้วยเหตุที่บิดาเป็นนายตำรวจจึงทำให้ครอบครัวต้องย้ายติดตามบิดาไปรับตำแหน่งในพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ ตรัง สงขลา ยะลา ฯลฯ จนกระทั่งบิดาของเธอได้มารับราชการประจำอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี นางอร่ามศรีจึงได้ให้กำเนิดบุตรสาวที่ชื่อจีรนันทน์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2484  ซึ่งชื่อของเธอมีความหมายว่า ผู้มีความสุขสดใสยั่งยืนไปตลอดกาล

จีรนันทน์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนอนุบาลสวนเด็ก, โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ จนจบประกาศนียบัตรชั้นสูงจากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชี ต่อมาใน พ.ศ. 2505 เธอได้ตัดสินใจไปศึกษาด้านภาษาและเปียโนที่ประเทศอังกฤษ รวมทั้งรับหน้าที่เป็นครูสอนภาษาไทยให้กับ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่นั่นด้วย

ขณะเดียวกัน กระแสการประกวดนางสาวไทยประจำปี 2508 ก็ดูจะคึกคักเป็นอย่างมาก เพราะมีจำนวนสาวงามเข้าร่วมประกวดถึง 104 คน เป็นผลมาจากการที่ อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2507 สามารถคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลปี 2508 มาครองได้เป็นครั้งแรก ทำให้การประกวดนางสาวไทยในปีนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากที่เพิ่งมีการรื้อฟื้นการประกวดนางสาวไทย โดยสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ มาได้เพียง 2 ปี

การเป็นนางสาวไทยในยุคนี้ มิใช่เป็นเพียงสตรีผู้มีความงามเลิศเท่านั้น แต่พวกเธอจะต้องทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมชื่อเสียงและการท่องเที่ยวของประเทศผ่านการประกวดนางงามในเวทีนานาชาติ ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งนางสาวไทยต้องเพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ โดยเฉพาะความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เฉกเช่นอาภัสราที่จบการศึกษาจากโรงเรียนคอนแวนต์ ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย

การเฟ้นหาสตรีที่เพียบพร้อมและพูดภาษาอังกฤษได้ในยุคนั้น ดูเหมือนว่าจะมิใช่เรื่องง่าย ทว่านายรองสนิท โชติกเสถียร กลับสามารถค้นหาเพชรเม็ดงามจากลูกสาวของ พล.ต.ต.จรุง ผู้เป็นเพื่อนสนิท ด้วยเหตุนี้เขาจึงไปทาบทามจีรนันทน์จากบิดาของเธอให้เข้าประกวดนางสาวไทย ในนาม “ราชตฤณมัยสมาคม”

“ตอนนั้นอายุ 24 ค่ะ กำลังเรียนภาษาอยู่ประเทศอังกฤษ ก็ถูกคุณพ่อเรียกตัวกลับมาให้เข้าประกวด เนื่องจากเพื่อนของพ่อ คือ รองสนิท โชติกเสถียร มาทาบทามขอลูกสาวเข้าประกวด… มีเวลาเตรียมตัวแค่ 7 วัน ก็เข้าประกวดเลย”

ถึงแม้ว่าเธอจะใช้เวลาเตรียมตัวเข้าประกวดนางสาวไทยแค่ 7 วัน แต่ด้วยใบหน้าที่สวยคมทันสมัย บวกกับส่วนสูงถึง 168 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าสูงเกินมาตรฐานสาวไทยในยุคนั้น อีกทั้งยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว จึงทำให้เธอสามารถคว้าตำแหน่งนางสาวไทยมาครองได้อย่างง่ายดาย ด้วยเสียงเอกฉันท์จากคณะกรรมการกว่า 60 คน ในค่ำคืนของวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2508

จีรนันทน์ได้รับมงกุฎซึ่งออกแบบโดยนายบุรินทร์ วงศ์สงวน นอกจากนี้ยังได้รับถ้วยทองพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมถึงสร้อยคอเพชราวุธ และเงินสดอีกจำนวน 50,000 บาท ซึ่งในการประกวดครั้งนี้ มีรองนางสาวไทยถึง 4 คน ประกอบด้วย ชัชฏาภรณ์ รักษนาเวศ, สุทิศา พัฒนุช, มลุลี เอี่ยมศิริรักษ์ และ กิ่งกมล อุบลรัตน์

จีรนันทน์ บนปกสมุดภาพผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2509 ในงานวชิราวุธานุสรณ์ (ภาพจากหน้าปกหนังสือ, หอวชิราวุธานุสรณ์)

เส้นทางสู่จักรวาล

หลังจากจีรนันทน์ครองตำแหน่งนางสาวไทยได้ไม่นานก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมา นั่นก็คือ จะส่งเธอไปประกวดต่อในระดับนานาชาติเวทีใด ระหว่าง “Miss Universe” ที่สหรัฐอเมริกา หรือ “Miss  World” ที่อังกฤษ ซึ่งทางคณะกรรมการกองประกวดนางสาวไทยได้ถกเถียงกัน จนเสียงแตกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย

กลุ่มแรกนำโดย จอมพลประภาส จารุเสถียร นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ สนับสนุนให้ไป Miss World เนื่องจากมองว่า ปีที่แล้วอาภัสราเพิ่งได้รับตำแหน่ง Miss Universe ไป จึงเป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะสามารถคว้าชัยชนะมาได้ติดต่อกันถึง 2 ปีซ้อน อีกทั้งจีรนันทน์ก็มีความคุ้นเคยกับประเทศอังกฤษเป็นอย่างดี เพราะเธอใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ก่อนบินมาประกวดนางสาวไทย จึงมีโอกาสได้รับรางวัลจากการประกวด Miss World มากกว่า

ขณะที่อีกฝ่ายนำโดย นายคำนึง ชาญเลขา เลขาธิการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ สนับสนุนให้ไปประกวด Miss Universe ตามเดิม เพราะเป็นการแสดงน้ำใจนักกีฬา ถึงแม้ว่าโอกาสจะยาก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศไหนสามารถพิชิตมงกุฎติดต่อกันได้ถึง 2 ครั้ง หากตัวแทนสาวไทยทำได้ก็จะเป็นการช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศขจรขจายมากขึ้น ท้ายที่สุดคณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ส่งจีรนันทน์เข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล ที่ไมอามี บีช รัฐฟลอริดา  ประเทศสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จีรนันทน์จะไปประกวดนางงามจักรวาลที่ไมอามี เธอได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระราชทานคำแนะนำเรื่องบุคลิกภาพ แฟชั่นเครื่องแต่งกาย ตลอดจนทรงผมที่จะใช้ในการประกวด เฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยพระราชทานคำแนะนำแก่อาภัสราเมื่อปีก่อน

การประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2509 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 ณ Miami Beach Auditorium รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาวงามตัวแทนประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประกวดจำนวน 58 คน ในค่ำคืนของวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นรอบตัดสิน สาวงามผู้เข้าประกวดทุกคนเปิดตัวด้วยชุดประจำชาติ จีรนันทน์สวมชุดไทยพระราชนิยม “ชุดไทยดุสิต” และเธอก็ได้รับการประกาศชื่อให้เข้ารอบ 15 คนสุดท้ายเป็นคนแรก

จีรนันทน์ บนหน้าปกนิตยสารศรีสยาม (กองบรรณาธิการฯ ได้รับภาพจากสุวีระ บุญรอด)

สาวงามที่ผ่านเข้ารอบ 15 คน จะต้องมาเดินโชว์ตัวด้วยชุดว่ายน้ำ ตามด้วยชุดราตรี เพื่อคัดเหลือ 5 คนสุดท้ายเป็นลำดับต่อไป เมื่อถึงรอบนี้จีรนันทน์สวมราตรีสีขาวงามสง่าพร้อมสวมถุงมือยาว และเธอก็ได้ถูกเรียกชื่อคนแรกอีกครั้งในฐานะผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ด้วยความที่เธอสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว พิธีกรจึงได้ถามเธอบนเวทีว่าได้ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน? จีรนันท์ได้ตอบกลับไปว่า “Governate of the late Prince Chula’s daughter in England.”  

ผลการแข่งขันปรากฏว่า Margareta Arvidsson สาวงามวัย 18 ปี จากประเทศสวีเดน เป็นผู้คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล โดยมี Satu Charlotta Ostring จากฟินแลนด์ ได้รองอันดับ 1, จีรนันทน์ เศวตนันทน์ จากไทย ได้รองอันดับ 2, Yasmin Daji จากอินเดีย ได้รองอันดับ 3 และ Aviva Israeli จากอิสราเอล ได้รองอันดับ 4 ในการนี้ อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลของปีก่อนจากประเทศไทย ทำหน้าที่มอบมงกุฎให้กับนางงามจักรวาลคนล่าสุด

“ปีนี้เป็นการประกวดที่ฟลอริดาค่ะ ตัวเองไม่ได้ลุ้นเลย คิดว่า 1 ใน 5 นี่ดีใจมากๆ แล้ว อันดับ 2 ยิ่งไม่คิดเลย เพราะคิดว่าปีที่แล้วคุณอาภัสราเพิ่งเป็นแล้ว เราจะได้อีกปีหนึ่งซ้อนกันคงเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ปีนั้นมิสสวีเดนได้เป็น Miss Universe ดิฉันได้ตำแหน่งรองอันดับ 2 คิดว่าแค่นี้ก็พอใจแล้ว ภูมิใจมากๆ แล้วค่ะกับเวทีระดับโลก”

หลังการประกวดเสร็จสิ้น จีรนันทน์เดินทางกลับประเทศไทยพร้อมตำแหน่งรองนางงามจักรวาล โดยมีคลื่นฝูงชนคนไทยจำนวนมากมารอต้อนรับกลับบ้าน และร่วมแสดงความยินดีกับเธอที่สนามบินดอนเมือง แม้ว่าเธอจะไม่สามารถคว้าชัยชนะรางวัลที่ 1 มาได้ แต่คนไทยทุกคนก็ให้การสนับสนุนเธอเป็นอย่างดีในทุกบทบาท

จีรนันทน์มีผลงานในวงการบันเทิงอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การออกงานช่วยชาติและด้านสาธารณกุศลเป็นหลัก ประกอบกับในปี 2509 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรก จีรนันทน์ในฐานะดาวดวงใหม่ของประเทศก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้เชิญเหรียญรางวัลให้แก่นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นล่วงเลยมานานกว่า 60 ปี คนรุ่นเก่าอาจจะยังคงจดจำเธอในฐานะรองนางงามจักรวาลคนแรกและคนเดียวของไทย แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่อาจจะรู้จักเธอในฐานะมารดาของศิลปินหนุ่มชื่อดัง นั่นก็คือ นายสุวีระ บุญรอด หรือ “คิว วงฟลัวร์”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

โมลี (นามแฝง). มงกุฎ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ. 2547.

สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ.2477 – 2530). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2531.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2566