ต้นยวน ต้นชวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง

รังผึ้งหลายสิบรังบนต้นยวน ในภาพเป็นต้นยวนอายุ 200 ปี ที่วนอุทยานห้วยน้ำซับ (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

คนที่แวะเวียนไปเที่ยวอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ยามนี้ ส่วนใหญ่คงเสาะหาที่พักสบายๆ ราคาไม่แพง หาแหล่งเที่ยวประทับใจ ร้านอาหารอร่อย ที่ไหนเขามีป้อนนมแกะ

มีน้อย ที่อยากทราบว่า ชื่อสวนผึ้งเป็นมาอย่างไร

เมื่อก่อน อำเภอสวนผึ้ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ พืชพรรณและสัตว์ป่า

คนท้องถิ่นส่วนหนึ่ง เป็นคนไทยเชื้อสายกะหรี่ยง มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับป่ามายาวนาน

ผลิตภัณฑ์จากป่า ที่พบมากในบริเวณนี้ในสมัยก่อนคือน้ำผึ้ง นั่นหมายถึงว่าต้องมีประชากรผึ้ง และถิ่นที่อยู่อาศัยของผึ้งที่เหมาะสม คนสมัยก่อนเล่าว่า ท้องถิ่นนี้มีต้นผึ้งอยู่จำนวนมาก บนต้นผึ้งบางต้นพบว่า มีผึ้งทำรังอยู่มากถึง 300 รัง ด้วยเหตุนี้สมัยก่อนจึงมีการส่งน้ำผึ้งมาเป็นของบรรณาการในเมืองใหญ่

ต้นผึ้ง เป็นชื่อที่ใช้เรียกไม้ยืนต้นที่มีผึ้งชอบมาทำรัง จริงๆ แล้วไม้ชนิดนี้คือ ต้นยวน ต้นยวนผึ้ง หรือต้นชวนผึ้ง ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า ไหมซ่าเลียง เพราะบริเวณนั้นเมื่อก่อนมีต้นยวน ต้นยวนผึ้งหรือชวนผึ้งอยู่มาก เขาจึงตั้งชื่อชุมชนว่ายวนผึ้งหรือชวนผึ้ง ต่อมาได้เพี้ยนเป็นสวนผึ้ง

ลักษณะของต้นยวน (ภาพจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน)

ต้นยวน  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Koompassia excelsa Taub. อยู่ในวงศ์ Caesalpiniaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นชลูด เปลาตรง สูงถึง 50 เมตร โคนต้นเป็นพูพอน สูง เปลือกเรียบ

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว หูใบเล็กมาก ยาว 2-4 มิลลิเมตร ใบย่อยมี 7-11 ใบ เรียงสลับเล็กน้อย ใบมนกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนนุ่มๆ ปกคลุมบางๆ ตลอด

ดอก มีขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว มีขนาดยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ค่อนข้างสั้น ฝักแบนรูปบรรทัด กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร ออกดอกเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลแก่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ตามสภาพนิเวศวิทยา ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามป่าดิบชื้น บนพื้นที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก ชอบพื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้นตามหุบเขา

ประโยชน์โดยทั่วไป ใช้เป็นไม้ก่อสร้างภายใน เนื่องจากเนื้อไม้ไม่แข็งแกร่งมากนัก จึงเหมาะที่จะอยู่ในร่มหรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะมีระยะเวลาใช้งานได้ทนทานกว่าที่จะนำไปใช้เป็นไม้ก่อสร้างภายนอกอาคาร

ต้นยวนเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สูงมาก ดอกมีกลิ่นหอมตรงกับความต้องการของผึ้ง จะพบว่ามีผึ้งหลวงรังขนาดใหญ่เกาะอยู่บนต้นยวนเป็นประจำ บางต้นมีเกาะอยู่หลายรังจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ยวนผึ้ง ซึ่งผู้หาน้ำผึ้งขายมักจะหาน้ำผึ้งจากต้นยวนผึ้งเสมอ โดยจะพบว่าตามป่าดิบชื้น ในที่ราบมีผู้ไปตอกทอยไว้บนต้นยวนแทบทุกต้น เพื่อปีนเอาน้ำผึ้ง

จากลักษณะเด่นดังกล่าว จึงควรจะได้มีการปลูกต้นยวนเอาไว้เป็นไม้ใช้สอยเอนกประสงค์ หรือเป็นไม้สำหรับปลูกป่า เพราะเจริญเติบโตเร็ว มีลำต้นเปลาตรงและมีขนาดใหญ่ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งอาศัยของผึ้งหลวงอีกด้วย…ต้นยวนขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สาเหตุที่ผึ้งมาอาศัยทำรังอยู่บนต้นยวนมากนั้น ประการแรกอาจจะเป็นเพราะผึ้งได้อาศัยน้ำหวานจาก ดอกต้นยวน ประการต่อมา ต้นยวนมีทรงสูง คือชะลูดขึ้นขึ้นไปแตกกิ่งก้านบนเรือนยอด ด้วยสัญชาติญาณของผึ้ง ที่ถูกหมีขโมยกินน้ำผึ้งอยู่บ่อยๆ ผึ้งจึงหาที่ทำรังให้ปลอดภัยไว้ก่อน

ที่ผ่านมา พบผึ้งชอบทำรับบนต้นยวน ชาวบ้านจึงเรียกต้นยวนว่าต้นผึ้ง หากพบว่าผึ้งทำรังมากๆ บนต้นมะขาม อาจจะเรียกต้นมะขามว่าต้นผึ้งก็ได้

เพราะความเจริญทางด้านวัตถุ การพัฒนาทางด้านการเกษตร รวมทั้งความต้องการน้ำผึ้งเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นยวน และประชากรของผึ้งที่สวนผึ้งลดลงอย่างมาก

ผศ. ดร. อรวรรณ ดวงภักดี อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เป็นผู้ศึกษาเรื่องผึ้งในประเทศไทยมานาน บอกว่า ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อดำเนิน “โครงการอนุรักษ์ต้นผึ้งและผึ้งหลวง”

ผศ. ดร. อรวรรณ บอกว่า ปัจจุบันในเขตรอบนอกป่าอนุรักษ์ พบต้นยวน หรือต้นผึ้งเหลืออยู่เพียง 27 ต้นเท่านั้น ในขณะที่ผึ้งหลวงเข้ามาทำรังในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนลดลงปีละ 35-40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งผึ้งและต้นผึ้งมีแนวโน้มลดลงทุกปี ที่เป็นเช่นนี้มีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า การขยายตัวของสิ่งปลูกสร้าง การทำไร่เลื่อนลอย และการตีผึ้งแบบผิดวิธี เป็นต้น

“เราสนใจเรื่องผึ้งอยู่แล้ว เรามีงานวิจัยด้านพฤติกรรมการปรับตัวของผึ้ง การอพยพย้ายรัง การเข้าออกและปัจจัยคุกคามทั้งของผึ้งหลวงและต้นผึ้ง และยิ่ง มจธ. มาเปิดศูนย์ที่ราชบุรี ก็ยิ่งมีความสนใจและสังเกตว่าผึ้งที่นี่ไม่ค่อยมี จึงรู้สึกกังวลเพราะความสำคัญของผึ้งและต้นผึ้ง ไม่ใช่แค่น้ำหวานและทรัพยากรป่าไม้เท่านั้น แต่หมายความรวมถึงระบบนิเวศค่อยๆ สูญเสียความสมดุลไป หลังจากที่จำนวนประชากรผึ้งลดลง ยิ่งคนไทยชอบมีพฤติกรรมตัดไม้ทำลายป่าเป็นหย่อมๆ มีการสร้างบ้านเรือนรีสอร์ตรุกล้ำพื้นที่ป่าเข้าไป ลักษณะเช่นนี้เอง ทำให้ป่าถูกแบ่งออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ถ่ายทอดพันธุ์กันเอง ในพื้นที่เล็กๆ เกิดการผสมเลือดชิด ซึ่งตามมาด้วยการอ่อนแอของพืชและตายลงในที่สุด” ผศ. ดร. อรวรรณกล่าว

โครงการอนุรักษ์ต้นผึ้งและผึ้งหลวง เริ่มจากการสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผึ้งและต้นผึ้ง จนทราบว่าในพื้นที่สวนผึ้งเอง มีชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามอนุรักษ์ต้นผึ้งไว้เช่นกัน จากนั้นผู้ทำโครงการเข้าไปร่วมสนับสนุนเรื่องความรู้ทางวิชาการ เช่น ชีววิทยาของต้นผึ้งและผึ้งท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บน้ำผึ้งอย่างถูกวิธี เนื่องจากที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน พบว่ามีคนตีผึ้งเสียหายทั้งรัง โดยเฉพาะที่ผึ้งกำลังสร้างตัวอ่อนก่อนที่จะแยกขยายรัง

“การอนุรักษ์ต้นผึ้ง ไม่ใช่เพียงการปลูกต้นผึ้งขึ้นมาทดแทนเท่านั้น เพราะหากมีต้นผึ้ง แต่ไม่มีตัวผึ้งก็ไม่มีประโยชน์ เพราะยังไม่สามารถตัดวงจรของปัจจัยคุกคามได้ทั้งหมด ดังนั้น…ความรู้…จึงเป็นเรื่องสำคัญในการอนุรักษ์ ชาวบ้านต้องรู้ถึงความสำคัญของผึ้งว่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและห่วงโซ่อาหารอย่างไร เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผึ้ง รวมถึงการเก็บน้ำผึ้งจะต้องมีความรู้ไม่ตัดวงจรการเติบโตของผึ้ง ต้องเปิดโอกาสให้ผึ้งได้ขยายรังก่อนเก็บหรือทำลายรัง” ผศ. ดร. อรวรรณกล่าว

สำหรับการเก็บน้ำผึ้งอย่างถูกวิธีนั้น ดร.อรวรรณแนะนำว่า ต้องเก็บเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำผึ้ง 70 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้ให้ตัวอ่อน 30 เปอร์เซนต์ หากทำอย่างนี้ จะเวียนมาเก็บได้ทุกๆเดือน

“จากการสำรวจล่าสุด ต้นผึ้งที่เคยมีรังผึ้ง 45 รัง ปีถัดมาเหลือเพียง 15 รัง และโอกาสที่จะกลับมาอีกน้อยมาก นี่คือสิ่งที่เราในฐานะนักวิจัยและชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนรู้สึกกังวล สิ่งที่เราร่วมกับชาวบ้านทำในตอนนี้ คือการนำต้นผึ้งที่ชาวบ้านเขาเพาะได้เองนั้น กลับมาปลูกอนุรักษ์ในพื้นที่ มจธ.ราชบุรีเอง ตอนนี้มีเกือบ 100 ต้น เพื่อมาต่อยอดงานวิจัยดูอัตราการเจริญเติบโตและปัจจัยรอดอื่นๆ จากนั้นจะนำความรู้นี้ไปช่วยให้ชาวบ้านอนุรักษ์ต้นผึ้งได้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้เรายังร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มรักษ์เขากระโจม กองกำลังหน่วย ฉก. ทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย” ผศ. ดร. อรวรรณบอก

ความรู้อย่างหนึ่ง ที่ ผศ. ดร. อรวรรณบอกไว้คือ ในเมืองไทยได้น้ำผึ้งจากผึ้งเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพ่อแม่พันธุ์ใช้กันมานาน บางครั้งพบว่ามีการป่วยตายยกรัง ด้วยเหตุนี้พันธุกรรมผึ้งของไทยในป่าธรรมชาติ อาจจะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคตก็เป็นได้

“โครงการอนุรักษ์ต้นผึ้งและผึ้งหลวง” ของ มจธ. ทำให้คนนอกวงการที่ไปสวนผึ้งมาแล้ว 20-30 ครั้ง เพิ่งรู้จักและเห็นต้นยวน ต้นชวนผึ้ง และที่มาของชื่ออำเภอสวนผึ้ง เมื่อเร็วๆ นี้เอง

เป็นโครงการที่มีคุณค่า ส่วนผลในเชิงลึกคงตามมาอีกมาก

ไปเที่ยวสวนผึ้งกัน เลยตัวอำเภอจอมบึงไปพอสมควร ซ้ายมือเป็นที่ตั้งของ มจธ. ศูนย์ราชบุรี ที่นี่มี Bee Park และต้นผึ้งอายุ 2-3 ปี ที่ผู้ดำเนินโครงการปลูกไว้

เมื่อเที่ยวสวนผึ้งกันจุใจ แวะไปทักทายต้นยวนหรือต้นชวนผึ้งหน่อยก็คงจะดีไม่น้อย จุดที่ต้นยวนหรือต้นผึ้งยังหลงเหลืออยู่ พอถึงตัวอำเภอสวนผึ้ง เลยที่ว่าการอำเภอไป เลี้ยวขวาไป “ถ้ำหิน” ระยะทาง 6-7 กิโลเมตร ถามร้านก๋วยเตี๋ยว ก็รู้จัก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2566