ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | ภาษิต จิตรภาษา |
เผยแพร่ |
ถ้าจะพูดถึงความสุดยอดแห่งการทำบุญในพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีอะไรเกินการเป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนา, เพราะว่าเป็นการชำระพระธรรมและพระวินัยให้บริสุทธิ์สะอาดและสืบทอดให้มีอายุยืนยาว. ที่พระพุทธศาสนายืนยงมาได้จนทุกวันนี้ก็เพราะการสังคายนานี่แหละ.
แต่การนี้ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ, มันจะต้องมีข้อวิรุธในพระธรรมหรือพระวินัยจนเป็นที่ถกเถียงกัน จึงจะต้องสังคายนาเพื่อหาข้อยุติ, ถ้าอยู่ๆ ก็ทำขึ้นมาก็จะทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาได้ว่า “เอ เมื่อครั้งกูบวช (ตอนพระวินัยเก่า) กูเป็นพระหรือเปล่าหว่า” หรือไม่ก็ “เอ พระธรรมที่กูสอน ที่กูปฏิบัติ (แต่ก่อน) นั้นเป็นธรรมที่แท้หรือเปล่าหว่า” เช่นนั้นพุทธศาสนิกชนที่ดีไม่พึงควรทำความคลางแคลงให้เกิดขึ้น.
จะเห็นว่าไม่ใช่งานเล็กๆ ถึงแม้จะมีเหตุมีโอกาสก็ยากที่ชาวบ้านร้านตลาดจะทำได้. ลองนึกดูซิว่าพระที่มาสังคายนา 500 รูป, วันหนึ่งค่าเลี้ยงดูเท่าไหร่ (ยังไม่ต้องคิดถึงพนักงานเลี้ยง), แล้วการสังคายนาอย่างน้อยๆ ก็ต้องกินเวลา 3 เดือน, แล้วจะเป็นเงินเท่าไร. ต่อให้เป็นเศรษฐีมหาศาลก็ไม่ไหว, เช่นนั้นจึงต้องตกเป็นหน้าที่ของรัฐหรือของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน.
และเนื่องจากเป็นงานสำคัญ งานใหญ่อย่างนี้เอง กษัตริย์ผู้ทำบาปหนักบาปหนาจึงถือเป็นโอกาสที่จะล้างบาปของพระองค์เองที่ได้ทำไว้.
สังคายนาครั้งที่ 1 นั้นใครเป็นผู้อุปถัมภ์.
พระเจ้าอชาตศัตรูใช่หรือไม่.
พระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตหรือเปล่า.
พระเจ้าอโศกมหาราชผู้อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ 2 นั้นเล่า ก็ประหารศัตรูและพี่น้องไปน้อยอยู่หรือ.
พระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งล้านนาผู้อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 8 นั้นท่านก็ทำอะไรกับพระเจ้าสามฝั่งแก่นพระบิดาท่าน.
แต่ละพระองค์ล้วนทรงก่อบาปอย่างไม่เบาทั้งนั้น.
ดังได้กล่าวแล้ว, งานนี้ไม่ใช่งานเล็กๆ ที่ชาวบ้านร้านตลาดจะทำได้. ยิ่งพิจารณาถึงสาเหตุด้วยแล้ว ยังไม่มีทางเอาเลย. แต่เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสทำบุญในส่วนนี้ พระเถราจารย์ในโบราณท่านจึงได้จำลองรูปแบบมาให้ทำกัน นั่นคือการ “เทศน์แจง 500” ในงานปลงศพ. คือจัดให้มีเทศน์ 3 ธรรมาสน์, สมมุติพระธรรมกถึก 3 องค์เป็นพระเถระทั้ง 3 รูป คือองค์หนึ่งทำหน้าที่เป็นพระกัสสปะคอยซักถาม. พระอุบาลีผู้วิสัชชนาพระวินัย. พระอานนท์ผู้สาธยายพระสูตร. และมีพระอันดับจำนวน 500 รูปคอยส่งสังคีตว่า สาธุ ซึ่งแปลว่า ถูกแล้ว, ชอบแล้ว, และรับสัพพีในตอนสุดท้าย.
ต้องนับเป็นความชาญฉลาดของพระมหาเถระในสมัยโบราณที่ค้นคิดกิจจกรรมอันนี้
งาน “แจง 500” (ตามเสียงเรียกง่ายๆ) นี้ แต่ก่อนมีบ่อยในบรรดาศพของผู้อัครฐาน (อ่าน อัก-คระ- ไม่ใช่ อักคะระ), ใครได้ทำก็เป็นปลื้มเอามากๆ. เล่าลือกันไปทั่วทั้งตำบลก็ว่าได้. ยิ่งบรรดาพระที่มานั่งแจงด้วยยิ่งแล้ว หลายปีกระแสคุยกว่าจะจาง.
ในวัดที่จัดงานศพนั้นจะแน่นไปด้วยพระ ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนกุฏิ ศาลา ท่าน้ำ ระเบียงโบสถ์วิหาร ที่ไหนมีที่นั่งได้ที่นั่นมีพระ, นั่งคอย สาธุ และรับสัพพีดังกล่าว. เรื่องเสียงไม่ต้องพูดถึง.
งานอย่างนี้ ในปัจจุบันจะเรียกว่า “สูญพันธุ์” ก็ไม่ผิด เพราะไม่มีใครมีเวลาพอที่จะให้ศรัทธาเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง, และอีกอย่างหนึ่ง สถานที่ไม่อำนวย. ยกตัวอย่างเช่น วัดตรีทศเทพ, แค่แขกมาในงานศพก็เต็มศาลารับรองเข้าไปแล้ว แล้วจะเอาที่ที่ไหนมาให้พระนั่งฟังเทศน์. (อนึ่งพระสมัยปัจจุบันจะเทศน์แจงเป็นหรือเปล่า ยังไม่แน่).
งานในรูปแบบนี้เคยมีคนรุ่นใหม่จัดขึ้นครั้งหนึ่ง เรียกว่า “สัมมนา”, ในงานปลงศพนี่แหละ คือเมื่องานศพคุณพ่อสำเภา วงษ์เทศ ที่วัดชิโนรส. ว่าโดยสาระแล้วเหมือนกัน คือยกประเด็นการศึกษาของสงฆ์ขึ้นอภิปรายซักถามกัน. แต่ชาวบ้านไม่ค่อยยอมรับ, อาจเป็นเพราะผู้ที่ขึ้นไปเทศน์นั้นไม่ใช่พระ (มีพระอยู่องค์เดียว) ก็เป็นได้. ถ้าเอาพระขึ้นไปเทศน์ทั้งหมดบนธรรมาสน์ แบบเทศน์แจงไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่.
ที่เป็นอันดับ 2 รองลงมาก็คือการสร้าง ธาตุเจดีย์. งานนี้พระเจ้าอโศกมหาราชเริ่มมาเป็นปฐม. คือกาลหลังจากที่ทำสังคายนาเสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงถามพระโมคคัลลีบตรติสสเถระผู้เป็นประธานในการสังคายนาว่า ธรรมของพระพุทธเจ้ามีเป็นจำนวนเท่าไร, พระโมคคัลลีบุตรฯ ก็ตอบว่า ถ้าจะรวมเป็นหมวดเป็นหมู่ก็พอจะรวมได้เป็น 84,000 กอง (พระธรรมขันธ์).
พระเจ้าอโศกก็ทรงสละพระราชทรัพย์ 96 โกฏิ (1 โกฏิ = 10 ล้าน) เพื่อสร้างสถูป. แล้วก็ให้ราชบุรุษแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เท่าจำนวนพระสถูป,
พูดถึง “เจดีย์” แล้ว เรามักจะนึกไปถึงอิฐที่ก่อเป็นรูปลอมฟางหรือโอคว่ำที่มียอด. แท้จริงแล้ว เจดีย์ คือ สิ่งที่นับถือ. เรานับถืออะไร, นับถือพระพุทธเจ้า-เอาอัฏฐิของพระพุทธเจ้าใส่ไว้ในโอ่ง โอ่งนั้นคือเจดีย์, ใส่ไว้ในไห ไหนั้นคือเจดีย์ เรียกว่า ธาตุเจดีย์
เอาธรรมะของพระพุทธเจ้า จารึกเป็นตัวหนังสือใส่ไว้ในตู้ ตู้นั้นเป็นเจดีย์ใส่ไว้ในห้อง ห้องนั้นก็เป็นเจดีย์ เรียกธรรมเจดีย์.
สิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยใช้เคยสอย เป็นต้นว่าต้นโพธิ์ที่พระองค์เคยนั่งบำเพ็ญธรรม, เราระลึกถึงท่าน แต่จะไปนบไปไหว้ท่านก็ไม่ได้แล้ว เราก็ไปกราบไหว้ต้นโพธิ์ที่ท่านเคยนั่งบำเพ็ญธรรม ต้นโพธิ์นั้นก็เป็น บริโภคเจดีย์.
สิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงท่าน เป็นต้นพระพุทธรูป, แล้วเรานับถือกราบไหว้พระพุทธรูป, พระพุทธรูปนี้คือ อุทเทสิกเจดีย์.
นี่คือเจดีย์ 4 ในพระพุทธศาสนา
ไอ้สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยอิฐเป็นรูปโอคว่ำมียอดก็ดี, เป็นรูปฝักข้าวโพดตั้งก็ดี, มันคือสถูป. ตัวสถูปจะสร้างด้วยอะไร เป็นรูปอะไรไม่สำคัญ, อยู่ที่ของที่บรรจุในนั้น.
สถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างแล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น คือ ธาตุเจดีย์
งานนี้ก็เช่นกัน สุดกำลังและความสามารถของชาวบ้านที่จะทำได้. ถึงมีเงินแต่ก็ไม่อาจหาพระบรมสารีริกธาตุมาได้จากที่ไหน.
ก็อีกแหละ, พระเถราจารย์ท่านก็คิดช่วยอีกแหละ คือให้ก่อธาตุเจดีย์เทียมด้วยทรายที่เรียกว่า “พระเจดีย์ทราย” ดังในขุนช้างขุนแผน :-
“ที่นี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า
จะทำบุญให้ทานการศรัทธา ต่างมาที่วัดป่าเลไลย
หญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัด ขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่
ก่อพระเจดีย์ทรายเรี่ยรายไป จะเลี้ยงพระกะไว้วันพรุ่งนี้”.
แล้วไปๆ มาๆ คำ “เจดีย์” ก็กร่อนหายไป, เหลือแต่ “พระทราย” ดังที่เราได้ยินกันอยู่.
การก่อ “พระทราย” ก็คือการบำเพ็ญกุศลด้วยการก่อ “พระธาตุที่บรรจุพระบรมอัฏฐิของพระพุทธเจ้าจำลอง” นั่นเอง,
ในภาคกลางเราหยุดอยู่เพียงแค่นี้ คือแค่ก่อธาตุจำลองเอาบุญ. แต่ทางภาคเหนืออย่างที่เชียงใหม่ เขาไปไกลกว่านี้ คือใช้ เสดาะเคราะห์ ด้วย…
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2565