ดวงจำปาเพลงปฏิวัติของลาว ที่ไพเราะดังข้ามฟากถึงฝั่งไทย

ดอกจำปาลาว หรือดอกลั่นทม (ภาพจาก กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน)

เพลงเดือนเพ็ญ อัศนี พลจันทร (พ.ศ. 2461-2530) นักเขียนและนักปฏิวัติชาวไทย ที่ใช้นามปากกาว่า “นายผี” เขียนเนื้อร้องและทำนอง ด้วยความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวเขาเอง ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้น ทำให้ต้องจากบ้านเกิดเป็นเวลานาน

ด้วยความไพเราะของเนื้อร้องและทำนอง ทำให้ “เพลงเดือนเพ็ญ” เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะกลุ่มเพลงเพื่อชีวิต แต่นักร้องทั่วไปก็นำเพลงเดือนเพ็ญไปร้องตามโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับ “เพลงจำปาเมืองลาว” เพลงปฏิวัติของประเทศลาว ที่มีเนื้อร้องและอารมณ์เพลงคล้ายๆ กับเพลงเดือนเพ็ญ และทั้ง 2 เพลงยังเป็นเพลงปฏิวัติที่ไพเราะจนกลายเป็นเพลงร้องติดปาก

เรียกว่า เมืองไทยมี “เดือนเพ็ญ” เมืองลาวมี “จำปาเมืองลาว” (หรือดวงจำปา)

เพลงจำปาเมืองลาว (ดวงจำปา) มีเนื้อร้องว่า

โอ้ดวงจำปา เวลาซมน้องนึกเห็นพันซ้อง มองเห็นหัวใจเฮานึกขึ้นได้ในกลิ่นเจ้าหอม เห็นสวนดอกไม้บิดาปลูกไว้ตั้งแต่นานมา เวลาง่วมเหงา เจ้าช่วยบันเทาให้หายโศกา เจ้าดวงจำปาคู่เคียงเฮามาแต่ยามน้อยเอย

กลิ่นเจ้าสำคัญ ติดพันหัวใจเป็นน่าฮักใคร่ แพงไว้เซยซมยามเหงาเฮาดมโอ้จำปาหอม เมื่อดมกลิ่นเจ้าปานพบซู้เก่าที่พรากจากไป เจ้าเป็นดอกไม้ที่งามวิไลตั้งแต่ใดมา เจ้าดวงจำปามาลาขวัญฮักของเรียมนี้เอย

โอ้ดวงจำปา บุปผาเมืองลาว งามดังดวงดาว ซาวลาวเพิ่งใจ เกิดอยู่ภายในแดนดินล้านซ้าง หากได้พลัดพรากหนีไปไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน เฮาจะเอาเจ้าเป็นเพื่อนฮ่วมเหงาเท่าสิ้นชีวา เจ้างดวงจำปามาลาขวัญฮักมางเมืองลาวเอย

เพลงจำปาเมืองลาว (ดวงจำปา) เป็นเพลงปฏิวัติลาวสมัยเวียงจันทน์ระบอบเก่า (ก่อนปี ค.ศ.1945) มหาพูมี จิตตะพง ประพันธ์คำร้อง อุตะมะ จุละมะนี ประพันธ์ทำนอง (บ้างว่า อุตะมะ จุละมนีเป็นผู้ประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนอง) ประพันธ์ใน ค.ศ. 1942 ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตวงคาราวานสุรชัย จันทิมาธร ได้นำมาขับร้องเผยแพร่ในไทย รู้จักกันในชื่อ “เพลงดวงจำปา”

อิวาน เซดอฟ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ปราฟดา ได้เขียนถึงการเดินทางเข้าไปในเขตปลดปล่อยของพรรคประชาชนลาว ระหว่าง ค.ศ. 1969-1973 ในขณะที่สถานการณ์การสู้รบใกล้จะยุติ ที่โรงพยาบาลสนามในถํ้าที่เมืองเวียงชัย แขวงหัวพัน เซดอฟได้ฟังเพลงจำปาเมืองลาว เพลงยอดนิยมของนักปฏิวัติที่บรรเลงด้วยแคนได้อย่างไพเราะและสะเทือนอารมณ์

อุตะมะ จุลามนี เล่าถึงเบื้องหลังของเพลงนี้ให้อิวาน เซดอฟฟังว่า เขาแต่งเพลงนี้ตั้งแต่วัยหนุ่มใน ค.ศ. 1942 ขณะที่ลาวตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่อเผยแพร่เพลงนี้ออกไปสู่สังคมได้รับความนิยมจากมวลชนอย่างกว้างขวางและได้นำมาแสดงขับร้องในการเฉลิมฉลองชัยชนะใน ค.ศ. 1975


ข้อมูลจาก :

ประยูร ลิ้มสุข. “เพลงปฏิวัติลาว Laos Revolutionary Song” ใน, วารสารวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2559

ธีรภาพ โลหิตกุล. คลื่นอุษาคเนย์, สถาบันวิถีทรรศน์, พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2565