นัยของนวนิยาย “แม่” ภาพสะท้อนความเข้มแข็งของเพศหญิงในยุคปฏิวัติรัสเซีย

(ซ้าย) ปกหนังสือ Mother ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (ขวา) ภาพถ่าย Maxim Gorki ไฟล์ public domain

นัยของนวนิยายเรื่อง แม่ หรือ Mother โดย แมกซิม กอร์กี้ ภาพสะท้อนความเข้มแข็งของเพศหญิงในยุคปฏิวัติรัสเซีย

แม้ว่ายุคผลิบานของการปฏิวัติในรัสเซีย ซึ่งแพร่ขยายไปสู่หลายประเทศทั่วโลก จะผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ ทว่างานวรรณกรรมหลายเรื่องที่สะท้อนวิถีชีวิตและสภาพสังคมในยุคนั้น ยังคงตราตรึงอยู่ในใจของผู้อ่านตราบจนปัจจุบัน

นวนิยายเรื่อง Mother (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ แม่ มีแปล 2 สำนวน คือ ศรีบูรพา และ จิตร ภูมิศักดิ์) จากปลายปากกาของ แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky – เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1868) นักเขียนและนักปฏิวัติชาวรัสเซีย ก็เป็นหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมเหล่านั้น ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมแนวอัตถสังคมนิยม (Socialist Realism – เป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต) เล่มแรกของโลกอีกด้วย

กอร์กี้ ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแม่ เมื่อปี ค.ศ. 1907 ขณะอายุ 39 ปี เขานำประสบการณ์ทั้งชีวิตจากการเข้าร่วมต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อชนชั้นกรรมาชีพ การเป็นเด็กกำพร้าที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้อง การเดินเท้าเปล่าพเนจรไปทั่วรัสเซีย การคลุกคลีอยู่กับบรรดาผู้ยากไร้ทั้งหลาย

อีกทั้งเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนของคนงานรัสเซียในซอร์โมโว การเคลื่อนไหวขององค์การจัดตั้งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (ภายหลังเป็นพรรคบอลเชวิก) ฯลฯ มาเรียงร้อยเป็นนวนิยายที่สะท้อนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของรัสเซีย และฉายภาพความเข้มแข็งของเพศแม่ที่ได้เรียนรู้และต่อสู้ร่วมไปกับบุตรชายของเธอ

แม่ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเปลาเกยา หญิงคนงานธรรมดาที่สิทธิเสรีภาพของเธอถูกกดไว้ภายใต้ระบอบการปกครองและธรรมเนียมแบบเก่า โดยที่ทั้งชีวิตไม่ได้ยืนหยัดทำสิ่งใดเพื่อตัวเอง นอกเสียจากตรากตรำทำงานหนักในฐานะคนงาน ถูกกดขี่และเป็นที่ระบายอารมณ์ของสามีผู้เคืองแค้นสังคมในฐานะเมีย

ชีวิตในอดีตของเปลาเกยา จมจ่อมอยู่กับความหวาดกลัว และมองเห็นอนาคตเป็นเพียงภาพสลัวในม่านหมอก กระทั่งปาเวล บุตรชายของเธอเริ่มมีสำนึกทางการเมือง และเข้าร่วมต่อสู้กับคณะปฏิวัติ

เปลาเกยา เริ่มสังเกตพฤติกรรมของบุตรชาย พวกพ้องของเขา และเรื่องที่คนหนุ่มเหล่านี้จับกลุ่มถกกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แม่ผู้นี้เริ่มซึมซับแนวคิดของบุตรชายทีละเล็กทีละน้อย เธอเรียนรู้ว่าสิ่งที่บุตรชายและผองเพื่อนกำลังมีส่วนร่วมนี้ จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตชนชั้นล่างอย่างพวกเธอ

เปลาเกยา เชื่อมั่นในตัวบุตรชาย และยืนหยัดเคียงข้างเขา และทำแม้กระทั่งกระโจนลงสู่วังวนแห่งการต่อสู้ที่พลิกประวัติศาสตร์ของประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความรักในตัวบุตรชาย ความรักในเสรีภาพ และความรักที่มีต่อพวกพ้อง ซึ่งทำให้หญิงคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนความขลาดกลัวเป็นความเข้มแข็ง และเปลี่ยนความอ่อนแอให้กลายเป็นความห้าวหาญได้

ฉะนั้น การต่อสู้เพื่อความชอบธรรมของแม่ผู้ยิ่งใหญ่เช่นเปลาเกยา จึงยังคงตราตรึงใจนักอ่านจวบจนทุกวันนี้ เพราะเธอหาใช่เป็นแค่แม่ของคนงานรัสเซียเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนความกล้าแกร่งของแม่ทั่วโลก


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ “แม่…ภาพสะท้อนความเข้มแข็งของเพศหญิงในยุคปฏิวัติ” เขียนโดย ศิริธาดา กองภา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2553

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2565 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ