ดราม่า “สโนว์ไวท์ กับคนแคระทั้ง 7” โดนจวก ยังทำซ้ำเรื่อง “คนแคระอยู่ในถ้ำ” อีกหรือ?

ภาพวาด เรื่องราวในเทพนิยาย สโนว์ไวท์ กับ คนแคระ ภาพจาก Prawny/Pixabay สิทธิ์ใช้งานไฟล์เชิงพาณิชย์ได้

เทพนิยายกริมม์ได้รับความนิยมมากหลังจากเรื่องราวถูกดิสนีย์ (Disney) นําไป “ปรับใช้” หรือ “พาสเจอไรซ์” ออกมาเป็นเวอร์ชั่น “สดใส” ตามแบบฉบับของดิสนีย์ เรื่องที่ประสบความสำเร็จมากเรื่องหนึ่งคือ “สโนว์ไวท์” ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของดิสนีย์ ล่าสุดมีรายงานว่า ดิสนีย์ แคสต์นักแสดงมาร่วมงานใน “สโนว์ไวท์” ฉบับรีเมกแล้ว ทำให้นักแสดงที่มีภาวะกระดูกอ่อนไม่เจริญเติบโต (achondroplasia) อย่างปีเตอร์ ดิงคเลจ (Peter Dinklage) วิจารณ์ว่า แสดงให้เห็นถึงการถอยหลังของวงการเนื่องจากยังนำเรื่องราวเกี่ยวกับ “คนแคระอาศัยในถ้ำ” หยิบมาเล่าใหม่อยู่

ในช่วง ค.ศ. 1934 วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ผลิตการ์ตูนที่ได้รับความนิยมหลายเรื่องจนมีฐานะมั่งคั่ง และคิดแผนใหญ่ด้วยการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกอย่าง “สโนว์ไวท์ และคนแคระทั้งเจ็ด” ซึ่งใช้งบลงทุนจำนวนมาก สตูดิโอในฮอลลีวูดต่างเยาะเย้ยบริษัทดิสนีย์ ที่ลงทุนสร้างด้วยเงินถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสมัยนั้น

แต่แล้ววอลต์ ดิสนีย์ สร้างความตกตะลึงให้วงการภาพยนตร์เมื่อสโนว์ไวท์ ทำเงินไปมากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐแค่ในช่วงแรกที่เข้าฉาย เงินจำนวนนี้ถือเป็นรายได้ที่มากมายในช่วงตั๋วชมภาพยนตร์มีมูลค่าแค่ 25 เซนต์เท่านั้น

ดิสนีย์ สร้างสรรค์ตัวละครอันตราตรึงในความทรงจำผู้ชมไว้มากมายตลอดเส้นทางธุรกิจกระทั่งขยายมาเป็นธุรกิจบันเทิงระดับยักษ์ใหญ่ของโลกในทุกวันนี้

ระหว่างเส้นทางการเติบโต บริษัทเครือดิสนีย์มักหยิบยกผลงานในอดีตมาผลิตใหม่อยู่บ่อยครั้ง กรณีล่าสุดคือเรื่อง “สโนว์ไวท์” ซึ่งมีรายงานว่า ดิสนีย์แคสต์นักแสดงชื่อดังมาร่วมแสดงในภาพยนตร์ “สโนว์ไวท์” ฉบับรีเมกแล้วหลายราย

นักแสดงที่ดิสนีย์แคสต์มาร่วมแสดงนั้น ได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงบวกว่าสะท้อนความหลากหลายทางเชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ ดิงคเลจ นักแสดงมากฝีมือที่มีภาวะกระดูกอ่อนไม่เจริญเติบโต (achondroplasia) กลับวิจารณ์ว่า ในด้านหนึ่งดิสนีย์เดินไปข้างหน้า แต่อีกทางหนึ่งกลับถอยหลัง เมื่อดิสนีย์มองข้ามมุมมองเกี่ยวกับเรื่องราวที่บอกเล่าถึงคนที่มีภาวะร่างกายแตกต่างจากคนทั่วไป

ระหว่างร่วมรายการพอดแคสต์ (Podcast) ของมาร์ก มารอน (Marc Maron) ชื่อ “WTF” ปีเตอร์ กล่าวไว้ว่า

“ผมค่อนข้างงงเมื่อพวกเขาภูมิใจที่แคสต์นักแสดงหญิงเชื้อสายลาตินมารับบทสโนว์ไวท์ คุณยังเล่าเรื่องราวของ ‘สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด’ อยู่ ลองถอยกลับมาสักก้าวแล้วย้อนมองว่ากำลังทำอะไร มันไม่สมเหตุสมผลสำหรับผม”

“คุณกำลังก้าวไปข้างหน้าในทางหนึ่ง และคุณยังทำเรื่องราวที่เหมือนถอยหลังไปอีก ทำเรื่องเกี่ยวกับคนแคระ 7 คนอาศัยในถ้ำด้วยกัน นี่พวกเอ็งกำลังทำอะไรกันอยู่?”

ความคิดเห็นของปีเตอร์ ทำให้เกิดหัวข้อสนทนาเกี่ยวกับเรื่องการวิจารณ์หรือตีความงานเชิงศิลป์ในอดีตโดยใช้แง่มุมของคนในยุคสมัยใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งหัวข้อนี้เป็นข้อถกเถียงในแวดวงบันเทิงส่วนหนึ่งว่า ผลงานในอดีตที่มีข้อถกเถียงเชิงความเหมาะสมในเนื้อหาเหล่านั้น คนรุ่นหลังควรปล่อยให้มันผ่านไป หรือควรหยิบมันขึ้นมาปัดฝุ่นและศึกษาต่อกันแน่

Peter Dinklage กับรางวัลเอมมี่ สาขา นักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจากบทบาทในซีรีส์ Game of Thrones เมื่อ 22 ก.ย. 2019 (ภาพจาก AFP)

ทั้งนี้ เรื่องราวของสโนว์ไวท์ เดิมทีแล้วปรากฏอยู่ในเทพนิยายกริมม์ (Grimm) โดยพี่น้องนักเขียน นักวิชาการชาวเยอรมันช่วงศตวรรษที่ 18-19 เทพนิยายกริมม์ พิมพ์ขึ้นครั้งแรกประมาณช่วงปี ค.ศ. 1812-57/พ.ศ. 2355-2400 โดยเทพนิยายกริมม์ถูกดิสนีย์นําไป “ปรับใช้” และสร้างเป็นภาพยนตร์/การ์ตูนหลายเรื่อง

คำ ผกา และอรรถ บุนนาค เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการวิเคราะห์เทพนิยายในหนังสือ “คิดเล่นเห็นต่าง” (สนพ.มติชน, 2555) เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าว่า ในประเทศญี่ปุ่น มีนักวรรณกรรรมชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่อง “fairy tale study” (เทพนิยาย) ชื่อ ซีเรียว มิซาโอะ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “สิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ในเทพนิยายกริมม์” กล่าวถึงเทพนิยายเล่มดังหลายเล่ม

ชิเรียว มิซาโอะ มองว่าจริงๆ แล้ว เรื่อง “สโนว์ไวท์” ฉบับที่กริมม์เขียนไว้เวอร์ชั่นแรก “แม่เลี้ยงใจร้าย” นั้นไม่ใช่แม่เลี้ยง แต่เป็นแม่ที่แท้จริงซึ่งจับได้ว่า พระราชาคือสามีตัวเองนั้นแอบมีอะไรกับลูกสาวแท้ๆ เพราะว่าสโนว์ไวท์ยังสาว แม่เกิดความอิจฉา เลยให้นายพรานล่อลวงไปฆ่า และสั่งว่านายพรานต้องควักเอาตับไตของสโนว์ไวท์มาให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าตายจริง แล้วแม่จะเอามาต้มเกลือกิน แต่ตอนหลังกระจกวิเศษก็บอกว่า สโนว์ไวท์ยังมีชีวิตอยู่

สโนว์ไวท์รอดจากการตามฆ่าของแม่ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะฆ่าสําเร็จในครั้งสุดท้าย แล้วตอนที่กินผลแอปเปิลแล้วสลบไป ตายไป “เจ้าชาย” ซึ่งฉบับจริงไม่เคยปรากฏตัวมาก่อน แต่ในเวอร์ชั่นดิสนีย์จะให้เห็นว่าเจ้าชายมาเจอสโนว์ไวท์ก่อน จู่ๆ โผล่มาเจอแล้วก็หลงรักสโนว์ไวท์

ซิเรียว มิซาโอะ ตีความว่า จริงๆ แล้วเจ้าชายเป็นพวกที่ชอบมีอะไรกับศพ แบกสโนว์ไวท์ขึ้นหลังม้าเพราะตั้งใจจะเอาศพไปข่มขืน แล้วปรากฏว่าพอขึ้นหลังม้าโยกๆ ไป แอปเปิลที่ติดหลอดลมติดคออยู่ก็หลุดออกมา สโนว์ไวท์เลยฟื้นขึ้นมา

เขา (มิซาโอะ) บอกว่าจริงๆ สโนว์ไวท์ตายไป 3 หน แล้วฟื้นขึ้นมาเป็นซอมบี้ เป็นผีดิบขึ้นมา นี่คือสโนว์ไวท์ฉบับที่เป็นเวอร์ชั่นแรกของกริมม์ ก่อนกลายมาเป็นสโนว์ไวท์ในแบบฉบับดิสนีย์ที่คนจำนวนมากคุ้นชินจนถึงวันนี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สโนว์ไวท์-ซินเดอเรลล่า-เจ้าหญิงนิทรา นิยายที่เวอร์ชั่นเดิมน่าเศร้า-สยดสยอง?!

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เส้นทางสู่จุดกำเนิด “ดิสนีย์” นักวาดการ์ตูน(เคย)ไส้แห้ง ปั้นโลกบันเทิงอมตะจนยิ่งใหญ่


อ้างอิง :

Zilko, Christian. “Peter Dinklage Calls ‘Snow White and the Seven Dwarfs’ Live-Action Remake ‘F*cking Backwards’”. Indie Wire. Online. Published 24 JAN 2022. Access 25 JAN 2022. <https://www.indiewire.com/2022/01/peter-dinklage-snow-white-remake-1234693486/>

“สโนว์ไวท์-ซินเดอเรลล่า-เจ้าหญิงนิทรา นิยายที่เวอร์ชั่นเดิมน่าเศร้า-สยดสยอง?!”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 25 ธันวาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 25 มกราคม 2565. <https://www.silpa-mag.com/history/article_43235>

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. มหัศจรรย์ วอลต์ ดิสนีย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. การ์ตูนสุดที่รัก (การ์ตูนที่รัก 2). กรุงเทพฯ : มติชน, 2544


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2565