บริษัทไทยไม่จำกัด หนังสือเรื่องสั้นเสียดสีบริษัทชื่อ “ประเทศไทย” เมื่อรปภ. ไล่ประธานฯ

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพตกแต่งจากไฟล์ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 2003 ไฟล์ภาพต้นฉบับจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ท่ามกลางภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งอยากรับและอยากปฏิเสธ “ระบบทุนนิยมเสรี” ที่ผ่านมาเราได้เห็นทั้งส่วนดีและด้านร้ายของระบบนี้กันอย่างกระจะตามากันแล้ว เพราะมันสามารถทำให้ใครเพียงคนเดียวสามารถครอบงำทุกส่วนของประเทศได้อย่างง่ายดาย

หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ได้ถูกปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบการบริหารใหม่ จนกลายเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทที่ชื่อ “ประเทศไทย” มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ Chief Executive Officer คอยดูแลผลประโยชน์ทุกอย่างของบริษัท กุมทุกอย่างไว้ในมือตนเอง นานวันเข้า บวกกับอำนาจเบ็ดเสร็จ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเลยคิดว่า ผลประโยชน์ของทุกแผนกในบริษัทตนน่าจะมีส่วนร่วมด้วย สร้างระเบียบบริษัทขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการยักย้ายถ่ายอย่างถูกต้องไร้ร่องรอย

ขณะเดียวกัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารก็หารู้ไม่ว่า เหล่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทเริ่มไม่พอใจการทำงานของ CEO ที่ตักตวงแบบละเมียด ไม่หกกระฉอกถ้วนหน้า

ทุกคนจึงรวมตัวกันเงียบๆ ดุจคลื่นยักษ์สึนามิ ก่อนจะถาโถมเข้าขับไล่ CEO มูมมามผู้นั้นออกจากการบริหารบริษัท

แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยก็ย่อมเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย พวกเขาสามารถรักษาบริษัทไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้บริษัทเจริญรุดหน้าได้

จึงต้องสรรหา CEO คนใหม่เข้ามาทำงาน แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับมีแต่คนเก่าๆ ที่เคยอยากเป็นผู้จัดการบริษัท และที่สำคัญระหว่างนี้ผู้ที่เคยบริหารในสมัยที่แล้วกำลังวางแผนจะกลมกลืนกลับเข้ามาอีกครั้ง

เหล่าพนักงานจึงอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ทุนนิยมก็ดี แต่เสรีมากก็ไม่ดี คนเก่าก็ดี ถ้าเขามีศีลธรรม แต่ก็ไม่เชื่อใจ คนอื่นๆ ก็ดูจะเป็นพนักงานเช้าชามเย็นชามมากเกินไป บางคนก็เงื่องหงอยเป็นเต่าชรา

ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ สนั่น ชูสกุล นักเขียนเรื่องสั้นฝีไม้ลายมือระดับคุณภาพ จึงออกหนังสือ “บริษัทไทยไม่จำกัด” มาเพื่อสะท้อนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อันเป็นที่มาของความอีหลักอีเหลื่อในปัจจุบัน

เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่อง แม้ว่าจะเคยตีพิมพ์ห่างช่วงกันพอสมควร โดยเรื่อง “เจ้านาย” อายุมากที่สุด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535 และเรื่อง “ริดสีดวงรัฐมนตรี” เอี่ยมอ่องที่สุด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2547 แต่เมื่อถูกนำมาเรียงร้อยกันใหม่ เรื่องทั้งหมดกลับดูกลมกลืนไปในทางเดียวกัน และทรงพลังมากยิ่งขึ้น

แสดงให้เห็นแนวคิดที่แน่วแน่ของผู้เขียนในช่วงเวลา 10 กว่าปีนั้น ผู้เขียนได้มุ่งไปในทิศทางเดียวอย่างไม่ไขว้เขว

สิ่งที่ประคองงานเขียนของ “สนั่น ชูสกุล” ในทอดยาวไม่วอกแวก นั่นก็คือการงานประจำในฐานะ NGOs หรือพัฒนากรผู้ยืนอยู่เคียงข้างชาวบ้านภาคอีสาน เรียกร้องความเป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ ประท้วงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวบ้านจากกลุ่มอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติ และการเฉไฉไม่ปฏิบัติของข้าราชการบางหน่วยบางคน หรือการเห็นความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศถูกแปรเปลี่ยนเป็นเงินตราจากการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายของเหล่านักการเมือง

จึงไม่แปลกเลยที่เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่อง จะทำหน้าที่เหมือนกระบอกเสียงกระจายความคิดไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ ของสังคม โดยเฉพาะสังคมนักอ่าน ซึ่งโดยมากย่อมยืนอยู่คนละข้างกับความอยุติธรรมต่างๆ น้ำเสียงของตัวอักษรจึงมีความกร้าวแข็ง ในลักษณะของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เช่นเรื่อง “เจ้านาย” ที่ผู้เขียนพยายามจะบอกผู้อ่านถึงอุปนิสัยของคนอีสานบ้านนอกที่ถูกข้าราชการกดขี่มานาน ขนาดว่ามีมิจฉาชีพแต่งตัวดีมาหลอกว่าเป็นเจ้านาย คนในหมู่บ้านยังพากันเชื่อ เพราะพวกเขากลัวจนฝังลึกลงในจิตใจ

เรื่องนี้ยังเสียดสีถึงการเอารัดเอาเปรียบกันเองของคนฉลาดแกมโกงด้วย

ส่วนเนื้อหาของเรื่องนั้น หลายเรื่องเป็นไปในรูปแบบเสียดเย้ย ทั้งทางตรงตามความหมายของตัวอักษร และทางอ้อมตามสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมา

เช่นเรื่องที่ชื่อเดียวกับปกนี้ ผู้เขียนได้จินตนาการไปถึงอนาคตว่าอีกหน่อยประเทศของเราจะกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ทุกกิจการ ทุกหน่วยงานของรัฐเปลี่ยนเป็นบริษัทเล็กๆ ในเครือ หรือบริษัทลูกของ “บริษัทไทยไม่จำกัด”

หรือเรื่อง “สำนักงานบริหารงานม็อบแห่งชาติ” ที่เสียดสีการจัดม็อบชนม็อบ

หรือเรื่อง “ริดสีดวงรัฐมนตรี” ที่เปรียบเทียบอย่างแสบทวารถึงเหล่ารัฐมนตรีที่มานั่งพอเป็นพิธี ไม่ได้สนใจฟัง หรือใส่ใจความทุกข์ร้อนของผู้ที่มาร้องอย่างแท้จริง ต้องการเพียงจัดการธุระของตัวเองให้เสร็จๆ ไปเท่านั้น

เรื่องในทำนองนี้ที่ยกตัวอย่างมา 3 เรื่องนั้น นับเป็นลีลาการเขียนที่สนั่นทำได้อย่างสนุกมือ

ด้านโครงเรื่องก็ถูกวางไว้มากมายด้วยเชิงชั้น ถ้อยคำที่เลือกนำร้อยเรียงนั้นถูกคัดสรรจากคลังอันมหาศาล สื่อความได้ไม่เยิ่นเย้อ โดยเฉพาะเรื่องที่ชื่อยาวที่สุดของเล่ม “มดจัดตั้งในแปลงเกษตรที่ปล่อยไว้เฉยๆ” ที่วางโครงเรื่องได้จูงใจ พาเราเดินตามเรื่องไปอย่างจดจ่อ กระหายใคร่รู้ว่าเรื่องมันจะลงเอยอย่างไร

สนั่น ชูสกุล ใช่ว่าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ เพราะก่อนหน้าเคยมีผลงานมาแล้วหลายเล่ม อาทิ นิยายเรื่อง “ผู้คุ้มครอง” ปี 2539 และรวมเรื่องสั้น “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ปี 2541 ซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพของงานเขียน

“บริษัทไทยไม่จำกัด” นับเป็นรวมเรื่องสั้นอีกชุดหนึ่งที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ เพราะสนั่นสามารถเขียนได้หลากแนว และลื่นไหล

แต่บนความหลากหลายนั้น สนั่น ชูสกุล ก็ได้ประคับไปในแก่นเดียวกัน นั่นก็คือ สะท้อนภาพชีวิตและสังคมโดยรวมที่เจ็บป่วย ทั้งโดยระบบและในระดับชาวบ้านร้านช่องเล็กๆ ในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากการรุดหน้าของระบบเศรษฐกิจสู่ความเป็น “ทุนนิยมเสรี”