คำสาปแช่งในวรรณคดีไทย ที่ทำให้เกิดพระราม-ทศกัณฐ์

จิตรกรรม ทศกัณฐ์ ออกรบ กับ พระราม จาก เรื่อง รามเกียรติ์
ทศกัณฐ์ออกรบกับพระราม (ภาพจาก จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์รอบพระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล)

“คำสาปแช่ง” ในวรรณคดีไทย ที่ทำให้เกิด พระราม-ทศกัณฐ์ ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2554 อธิบายความหมายของคำว่า “สาปแช่ง” ดังนี้ว่า “กล่าวมุ่งร้ายให้ผู้อื่นเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง เช่น สาปแช่งไม่ให้ผุดให้เกิด” เมื่อใครทำเรื่องผิดศีลธรรม จริยธรรม หรือความรู้สึกว่าไม่ได้รับความธรรม ก็มักมีการสาปแช่ง, แช่งด่า หรือการพูดสาปส่ง

Advertisement

แม้การสาปแช่งในชีวิตทุกวันนี้ อาจไม่ค่อยมีการกระทำที่จริงจังเปิดเผยนัก แต่ก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว โดยเฉพาะการสาปแช่งเชิงสัญลักษณ์

หากในแวดวงวรรณคดีไทยที่แพร่หลายในไทย หลายเรื่องมีการกล่าวถึงการ “สาปแช่ง” ทั้งสิ้น เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ, รามเกียรติ์, กนกนคร, จันทะโครบ, มัทนะพาธา ฯลฯ

ตัวอย่างเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนพระนารายณ์สาปนนทกที่ลุแก่อำนาจใช้นิ้วเพชรที่ได้พรมาจากพระอิศวร ทำร้ายเทวดาล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระนารายณ์มาปราบ นนทกก็ตัดพ้อ พระนารายณ์จึง “สาปแช่ง” ไปว่า

ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์   จงไปอุบัติเอาชาติใหม่

ให้สิบเศียรสิบพักตร์เกียงไกร   เหาะเหินเดินได้ในอัมพร

มีมือยี่สิบซ้ายขวา   ถือคทาอาวุธธนูศร

จะเป็นมนุษย์แต่สองกร   ตามไปราญรอนชีวีฯ

คำสาปดังกล่าวผูกพันให้นนทกไปเกิดใหม่เป็น “ทศกัณฐ์” ส่วนพระนารายณ์อวตารเป็น “พระราม” รบราฆ่าฟันกันไปอีกชาติหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่งคือ ฤษีปาปะนาศน์ สาปสองสามีภรรยา ในเรื่อง “กนกนคร” พระนิพนธ์ในพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เหตุเกิดจาก พญากมลมิตรซึ่งเป็นคนธรรพ์ ส่งนางอนุศยินีชายาของตน ให้มายั่วยวนฤษีแต่กระทำการไม่สำเร็จ ฤษีปาปะนาศน์จึงสาปทั้งสองว่า

ดูราเมียผัวตัวเอิบ   กำเริบใจบาปหยาบใหญ่

อันเนตรนงรามทรามวัย   จักได้รับผลบัดนี้

นางยั่วโยคะละเมิด   จงเกิดเป็นมานุษี

กมลมิตรผู้พญสามี   เห็นดีรู้ด้วยช่วยกัน

จงมีกำเนิดมานุษ   ผ่องผุดเพ็ญลักษณ์รังสรรค์

สองมุ่งใจสมัครรักกัน   ให้พลันเริศร้างห่างไป

รันทมกรมกรรมทำงาน   ล้างตนในห้วงทกุข์ใหญ่

จนสิ้นบาปกรรมทำไว้   จึ่งให้สิ้นสาปหลาบจำฯ

ทั้งสองตัวอย่างข้างต้นเองการ “สาปแช่ง” เนื่องจากทำผิดศีลธรรม หากก็มีกรณีของ “คำสาปแช่ง” ที่เกิดขึ้น จากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความธรรม เช่น กรณีของ “ศรีปราชญ์” ที่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ว่า

ธรณีนี่นี้   เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์   หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร   เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง   ดาบนี้ คืนสนอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล และคณะ. “คำสาปแช่งในวรรณคดีไทย” ใน, วารสารสังคมศาสตร์วิชาการ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2559, สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

วิกานดา เกียรติมาโนชญ์ และจันทิมา อังคพณิชกิจ. “หน้าที่ของถ้อยคำสาปแช่งและสาบานในวาทกรรมการเมืองไทย” ใน, วารสารวจนะ, ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559). สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2564