“โลโก้-โลโต-โลกัคราช” คำคล้าย แต่ความหมายต่าง

(บน) ตราพระราชลัญจกรสยามโกัคราช (เรียกอย่างสามัญว่าตราช้างหมอบ) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำด้วยทองคำ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีรูปช้างหมอบอยู่หลังบนที่จับประทับ ในดวงตราทำรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และอักษรขอมอยู่ ๔ บรรทัด เป็นตราที่ทำเลียนแบบตราพระราชลัญกรมหาโลโต (ล่าง) ตราพระราชลัญกรมหาโลโต ตราสี่เหลี่ยมมีตัวอักษรจีนอ่านว่า “เสียมโหลก๊กอ๋อง” ที่จับเป็นรูปอูฐหมอบ เป็นตราที่ไทยได้รับจากจักรพรรดิจีนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนตราหยกในภาพนี้คาดว่าเป็นองค์ใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

โลโก้ (Logo) หมายถึงตราสัญลักษณ์ของสินค้า หรือรูปแบบสัญลักษณ์ขององค์กร ติดอยู่บนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ในภาษาอังกฤษหมายถึงตรา หรือรูปแบบสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงองค์กรนั้นๆ และนำไปติดบนสินค้าหรือสิ่งของเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ปัจจุบันโลโก้จึงมีความสำคัญมากในธุรกิจ เพราะใช้เป็นตัวแทนขององค์กรและสินค้าต่างๆ ซึ่งมักจะมีความหมายในเชิงภาษาหรือภาพสัญลักษณ์

โลโก้สินค้าที่มีความคลาสสิคและลูกค้าจดจำได้มาก เช่นเครื่องดื่มโคคา-โคลา โลโก้ยังคงรูปแบบตัวอักษรเช่นเดิมแม้ผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ตามยุคสมัย

ในภาษาจีนก็มีคำที่เสียงคล้ายกับคำว่าโลโก้ คือคำว่าโลโต หมายถึงตราสัญลักษณ์แต่เป็นตราของพระมหากษัตริย์ มาจากตราโลโตซึ่งรับพระราชทานจากจักรพรรดิจีน โลโตเป็นภาษาจีนแปลว่าอูฐ เพราะด้ามจับตราประทับเป็นรูปอูฐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวถึงตรานี้ว่า

Advertisement

“จะอธิบายพระราชลัญจกรมหาโลโตให้ท่านทราบเสียด้วย เปนตราที่พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานพระเจ้ากรุงสยาม เห็นจะเปนที่เจตนาจะตั้งแต่งเป็นเมืองประเทศราชของกรุงจีน ทำด้วยหยกสีตองอ่อน มีลักษณเปนแท่นสี่เหลี่ยม บนนั้นแกะเปนรูปอูฐหมอบ ใต้นั้นแกะเปนหนังสือจีนอย่างตัวเหลี่ยมสี่ตัว ผู้รู้เขาอ่านว่า เสียม โหล ก๊ก อ๋อง”

มีหลักฐานว่าตรานี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปีที่จีนมอบตราให้ไทยนั้นมีเรื่องปรากฏในจดหมายเหตุจีน พ.ศ. 1920 ในสมัยเจ้านครอินทร์หรือสมเด็จพระอินทราธิราช กษัตริย์สมัยอยุธยาพระองค์เดียวที่เคยเสด็จไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีนด้วยตนเองตั้งแต่ก่อนครองราชย์ เมื่อครองราชย์แล้วก็ยังติดต่อสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีกับกษัตริย์จีน จนเมื่อ พ.ศ. 1946 ได้ส่งราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเสงโจ๊วฮ่องเต้ จักรพรรดิจีนจึงพระราชทานตราซึ่งทำด้วยเงินชุบทองคำ ยอดตราเป็นรูปอูฐหรือโลโต มาประทานให้ ครั้นเมื่อเสียกรุงถูกริบไปพระเจ้าสินจงฮ่องเต้ก็ประทานมาให้ใหม่ ในปี พ.ศ. 2195 รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้ราชทูตไปเมืองจีนขอเปลี่ยนตรา พระเจ้าสีโจ๊วเจียงฮ่องเต้ก็ประทานให้ตามประสงค์ (สมบัติ พลายน้อย. ความรู้เรื่องตราต่างๆ พระราชลัญจกร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บูรพาสาส์น, 2527)

ตราโลโตนี้ได้ตกทอดมาจนสมัยกรุงธนบุรีก็ปรากฏหลักฐานในพระราชสาส์นคำหับ ของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ส่งพระราชสาส์นไปเมืองจีน พ.ศ. 2324

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเกิดคำว่าโลกัคราชขึ้นอีกคำหนึ่ง เป็นพระราชลัญจกรองค์ใหม่ที่ทรงดำริให้สร้างขึ้น ชื่อเต็มว่าพระราชลัญจกรสยามโลกัคราช ตรานี้ทำด้วยทองคำ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีรูปช้างหมอบอยู่บนหลังตราตรงที่จับประทับ (เรียกอย่างสามัญว่าตราช้างหมอบ) ในดวงตราทำเป็นรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และมีอักษรขอมอยู่ 4 บรรทัดว่า

สยามโลกคราชสส

สนเทสลญจนํ อิทํ

อชฌาวาสสานุสาสกสส

วิชเต สพพชนตุนํ

แปลความได้ว่า “ใบประทับตรานี้ของอัครราชาโลกสยามผู้ปกครองสั่งสอนสรรพชนในแว่นแคว้น ใช้สำหรับประทับใบพระราชทานที่วิสุงคามสีมาปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว” โดยความตั้งใจของพระองค์ที่จะทรงเลียนแบบพระราชลัญจกรมหาโลโต ที่มีคำว่าเสียมโหลก๊กอ๋อง โดยใช้คำว่าสยามโลกัคราชแทน

จึงมีคำที่มีความหมายคล้ายกันคือเป็นตราสัญลักษณ์ และออกเสียงใกล้เคียงกัน 3 ภาษา คือคำว่าโลโก้ (อังกฤษ), โลโต (จีน), โลกัคราช (ไทย) ซึ่งสองคำหลังมีความเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ หมายถึงตราพระราชลัญจกร

พระราชลัญจกรเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณ เป็นตัวแทนของพระองค์ที่ใช้ประทับกำกับบนเอกสาร เพื่อเป็นการแสดงว่าเอกสารฉบับนี้ออกโดยองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นของแท้เพราะมีพระราชลัญจกรเป็นตรารับรอง นอกจากพระราชลัญจกรขององค์พระมหากษัตริย์แล้ว ยังมีตราที่พระองค์พระราชทานให้แก่ข้าราชการขุนนางผู้กำกับกรมกอง เช่น ตราคชสีห์ประจำกระทรวงมหาดไทย สำหรับว่าราชการงานเมืองตามหน้าที่ เมื่อมีตรานี้ประทับเอกสารก็เป็นที่เข้าใจว่าเป็นเอกสารที่ออกจากขุนนางที่ได้รับพระราชทานอำนาจจากพระมหากษัตริย์ให้ควบคุมกรมกองนั้น

การเริ่มต้นการใช้ตราประทับในประเทศไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสถึงไว้ว่า

“ต้นรากของตราเห็นว่าอย่างเส้นชาดนั้นมาทางตะวันออก ถ้าจะว่าไปก็เป็นมาแต่จีน จึงใช้แต่ตราเปล่า เพราะจีนเขาไม่เซ็นชื่อ ส่วนตราครั่งนั้นมาทางตะวันตกมีทางอินเดียเป็นต้น จึงมีคำว่า “มุทรา” อันแปลว่าแหวนตรา แต่เขาจะเซ็นชื่อด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ…” (อนุมานราชธน, พระยา. พระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2493)

ต่อมาการประทับตราและพระราชลัญจกรได้ลดบทบาทลง ได้เปลี่ยนมาใช้ลายเซ็นแทน โดยเริ่มมีการใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากชนชั้นปกครองก่อน สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงประกาศให้เสนาบดีประจำกระทรวงต่างๆ ลงชื่อประกอบท้ายตราประทับ เพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคงขึ้นใน พ.ศ. 2431 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 5 หน้า 425 ปีชวด สัมฤทธิศก 1250) ความสำคัญของเอกสารจึงไปอยู่ที่ลายเซ็นของหัวหน้ากระทรวง ทบวง หรือกรมแทน

ตัวอย่างตราประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งถูกกำหนดให้สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อสร้างความเจริญและเป็นปึกแผ่นแก่ผู้คนในชนบท ตามนโยบายสร้างความเป็นชาติของท่านผู้นำ

ในปัจจุบันตราของราชการที่เราคุ้นเคยก็คือตราครุฑ ซึ่งเดิมเป็นพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยในหนังสือสำคัญทั่วไป ส่วนตราของเสนาบดีประจำกระทรวงต่างๆ ก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์หรือโลโก้ประจำกระทรวง และตราที่พระราชทานแก่เสนาบดีประจำหัวเมืองก็กลายเป็นตราประจำจังหวัด โดยมาทำเพิ่มเติมให้ครบทุกจังหวัดในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ทุกวันนี้อิทธิพลของโลโก้ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากเดิม โดยเฉพาะยุคที่การค้าเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของทุกคน สินค้าและบริการต่างๆ ก็มีบทบาทต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้น “โลโก้” ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสินค้าและบริการเหล่านั้นก็มีความสำคัญมากขึ้นตาม เพราะสินค้าและบริการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่โลโก้มักจะคงรูปแบบและสีสันไว้ตามเดิม

สินค้าบางชนิดใช้โลโก้ดั้งเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานับ 100 ปี เพราะโลโก้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญยิ่งทางการค้า ทำหน้าที่สร้างการรับรู้และจดจำสินค้าได้ดียิ่งกว่าสิ่งใดๆ

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2558