ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วรรณคดีไทย หลายเรื่อง ตัวละครหลายตัว ผู้แต่งหยิบยืมเค้าโครงมาจาก “พงศาวดารจีน” มาปรุงให้มีกลิ่นอายเป็นไทยอ่านสนุก มีเรื่องอะไรบ้างมาดูกัน
เริ่มจากวรรณคดียอดฮิต “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ ที่ “ยืมฉาก” และ “ยืมความสามรถของตัวละคร” ใน พงศาวดารจีน เรื่อง ไซ่ฮั่น (บ้างเรียก ชิดก๊กไซ่ฮั่น) โดยยืมฉากที่ เตียวเหลียง เสนาธิการคนสำคัญของหลิวปัง วางแผนเป่าปี่ให้ทหารของฌ้อปาอ๋องหมดกำลังใจในการต่อสู้ ระลึกถึงครอบครัวบ้านละทิ้งหน้าที่ จนทำให้หลิวปังได้ชัยชนะ
“…ที่จากบ้านมาต้องกระทำศึกอย่างนั้น บิดามารดาแลบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยื่นคอคอยอยู่แล้ว ถึงมีเรือกสวนแลไร่นาก็ทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดกระทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกัน ก็อุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข
น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ป่วยเจ็บล้มตายเสียหาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ แลตัวเล่าก็ต้องกระทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาแลญาติพี่น้องก็มิได้ปฏิบัติรักษากันเป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งไรก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกแลเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก…”
สุนทรภู่เอาฉากนี้มากำหนดเป็นความสามารถของ พระอภัยมณี ที่มีเพลงปี่เป็นอาวุธและเคยใช้เป่าปี่ห้ามทัพของนางละเวง ที่แต่งเป็นคำกลอนว่า
“พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่ พวกโยธีทั้งทวนชะเวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหลับทับกันเอง เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “…สังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่ง ซึ่งสมมติให้พระอภัยมณีมีวิชาชำนาญการเป่าปี่ ก็คือเอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับค่าเพลงปี่ของพระอภัยมณี ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าถ่ายมาจากกันเป็นแท้…ด้วยเมื่อรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่เป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง [ทรงเป็นผู้อำนวยการแปลไซฮั่น] คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง”
ถัดมาเป็นการยืม “ตัวละคร” อย่าง “นาจา” โดยหยิบชีวิตนาจา จากนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง “ห้องสิน” ที่แปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 มาเป็นแต่งเป็นนิทานคำกลอนเรื่อง “โกมินทร์” (ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง) โดยโกมินทร์ตัวเอกของเรื่องมีลักษณะคล้ายนาจาหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
นาจาและโกมินทร์เป็นเด็กผู้ชาย มีนิสัยชอบเที่ยวเล่น มีกำลังมาก กล้าหาญ มุทะลุดุดัน และต่างก็มีของวิเศษ ทั้งสองต่างไม่ลงรอยกับครอบครัว นาจาคิดแค้นบิดาและติดตามสังหารถึง 3 ครั้ง ส่วนโกมินทร์ตามแก้แค้นบิดา 1 ครั้ง และยังมีฉากชีวิตคล้ายกัน เช่น นาจาวิวาทกับบุตรชายพญามังกร โกมินทร์ก็เคยไปรบกับพญานาค เป็นต้น
คราวนี้ก็ยืมมากขึ้นมาอีกนิดคือ “ยืมโครงเรื่อง” จากพงศาวดารเรื่อง “ห้องสิน” เช่นเดิม สุนทรภู่ยืมเค้าโครงเรื่องห้องสินมาใช้ในแต่ง “อภัยนุราช”
เนื้อเรื่องย่อของห้องสิน คือ ติวอ๋อง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซาง เสด็จไปไหว้เทพธิดาหนึงวาสีที่ศาล เห็นรูปสลักของนางงดงาม ก็เขียนโคลงแสดงความกำหนัดที่มีต่อนางไว้บนฝาวัด เทพธิดาจึงส่งปีศาจจิ้งจอกมาล่อลวงติวอ๋อง ให้ลุ่มหลงจนลงโทษควักดวงตาพระมเหสีตามที่ปีศาจจิ้งจอกยุยง และละเลยราชการ ไพร่ฟ้าจึงก่นด่าทั้งแผ่นดิน
ต่อมา จิวบุ๋นอ๋อง เจ้าแคว้นแห่งหนึ่ง ที่เคยถูกสั่งขังลูกชายถูกฆ่าพ้นโทษ ลักลอบซ่องสุมกำลังพลเพื่อโค่นล้มติวอ๋องโดยมีเกียงจูแหยเป็นที่ปรึกษาจนสามารถกระทำการสำเร็จ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์จิว (ราชวงศ์โจว) ศึกครั้งนี้มีผู้คนล้มตายมาก เกียงจูแหยรับเทวโองการ ให้แต่งตั้งวิญญาณนักรบและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรบระหว่างของทั้งสองฝ่ายให้เป็นดาวหรือเทพประจำถิ่นตามความเชื่อของจีน
บทละครเรื่องอภัยนุราชนี้ สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื้อเรื่องว่า ท้าวอภัยนุราชเสด็จไปล่าสัตว์ แต่กลับยิงไม่ถูกสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ผู้เฒ่าคนหนึ่งทูลว่าพระองค์มิได้บวงสรวงศาลเทพารักษ์ เทพารักษ์จึงไม่ให้สัตว์ในป่าแก่พระองค์ ท้าวอภัยนุราชได้ฟังก็กริ้วสั่งให้เผาศาล เทพารักษ์ถูกเผาศาลจึงคิดแก้แค้น หักคอนางศรีสาหงแล้วเข้าสิงมาทำให้ท้าวอภัยนุราชหลงรัก ทรงเชื่อฟังทุกประการและไม่เสด็จออกว่าราชการ ถึงขนาดทรงควักดวงตาพระมเหสีเพื่อใช้เป็นยารักษาตา (ที่แกล้งบอด) ของนางศรีหงสา เมื่อท้าวอภัยนุราชเห็นว่าดวงตาของนางหายบอด ก็ยินดีมาก
เรื่องอภัยนุราชนี้ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “เรื่องนี้ [ห้องสิน] มีอิทธิพลต่อสุนทรภู่และนักเขียนอื่นไม่น้อย บทละครเรื่องอภัยนุราชซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานสุนทรภู่นั้น นำเรื่องตอนพระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันก็สั่งควักลูกตาพระนางเกียงฮองเฮามาแปลงเป็นบทละคร เพราะเนื้อเรื่องเหมือนกันเกือบทุกประการ…”
ยังมี วรรณคดีไทย เรื่องที่หยิบยืม…จาก พงศาวดารจีน อีกหรือไม่ พงศาวดารจีนที่เราคิดว่าเป็นต้นแบบนั้น “หยิบยืม” จากที่อื่นมาอีกทีหรือเปล่า บทความนี้ก็ขอเป็น “อิฐล่อหยก” แล้วกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- คำสาปแช่งใน วรรณคดีไทย ที่ทำให้เกิดพระราม-ทศกัณฐ์
- “นางประเเดะ” จากเรื่อง “ระเด่นลันได” งามแหวกขนบนางใน วรรณคดีไทย
อ้างอิง :
พงศาวดารจีนไซ่ฮั่น ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบ พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยาอภัยสงคราม (จอน โชติดิลก) ณ เมรุพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กําหนดงานวันที่ 9 พฤศจิกายน 2508
กรมศิลปากร. ชิดก๊กไซ่ฮั่น, คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2545
กรมศิลปากร. “อภัยนุราช” ใน, รวมนิทาน บทเห่กล่อม และสุภาษิตของสุนทรภู่, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อร่วมโครงการฉลอง 200 ปี กวีเอกสุนทรภู่ พ.ศ.2529
ถาวร สิกขโกศล. “ชวนอ่านเรื่องห้องสิน” ใน, ห้องสิน สถาปนาเทวดาจีน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พฤศจิกายน 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564