พม่าอาละวาดที่หน้าวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี สมัยรัชกาลที่ 3?

ภาพเรือนักโทษพม่าทำเรื่องระทึกปล้นเรือขายผลไม้ของแม่ค้าสาวชาวสยาม ใกล้กันมีเรือเจ๊กสองคนท่าทางเอ็ดตะโรพยายามพายเรือเข้าช่วยเหลือ (จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร)

วัดกัลยาณมิตร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ หน้าวัดหันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้สร้างคือเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ต้นสกุลกัลยาณมิตร เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2368 สร้างเสร็จและถวายเป็นพระอารามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2370

ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติ เฉพาะพื้นที่ผนังสกัดด้านในฝั่งตรงข้ามกับพระพุทธรูปประธานปางพระปาลิไลยก์เขียนภาพสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณหน้าวัดกัลยาณมิตร รวมถึงภาพพม่าอาละวาดด้วย

Advertisement

ภาพที่เด่นคือภาพผนังตรงกลางเขียนเป็นภาพสะท้อนการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทย ชาวจีน และชาวมุสลิม ซึ่งภาพของชุมชนแถววัดกัลยาณมิตรที่ยังอยู่กันอย่างเอื้ออาทรก็ยังปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน

ส่วนภาพพม่าอาละวาดที่จะกล่าวถึง ผู้เขียนสังเกตเห็นในโอกาสที่ทางวัดกัลยาณมิตรเปิดพระอุโบสถให้พุทธศาสนิกชนเข้านมัสการพระประธานภายในพระอุโบสถช่วงวันตรุษจีน 2546 ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสชมจิตรกรรมฝาผนังด้วย

ภาพพม่าอาละวาดอยู่ทางด้านซ้ายบนผนังสกัดเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ แสดงความชุลมุนวุ่นวายในสายน้ำเจ้าพระยาหน้าเรือนแพที่ปลูกเรียงรายบริเวณใกล้เคียงหน้าวัดกัลยาณมิตรที่ปรากฏในภาพคือ นักโทษชายสองคนถูกตีตรวนด้วยห่วงเหล็กคล้องคอ และผูกโยงด้วยโซ่ติดกัน พยายามพายเรือเข้าเทียบเรือขายผลไม้ของสองแม่ค้าสาว

นักโทษคนหัวเรือเอื้อมมือซ้ายหยิบตะกร้าใส่ผลไม้ภายในเรือของแม่ค้า ทั้งๆ ที่ในเรือของตนก็มีผลไม้ที่น่าจะขโมยมาอยู่เต็มท้องเรือ แต่สองแม่ค้าสาวคงรู้ตัวว่ามีหัวขโมย คุณเธอที่อยู่หัวเรือจึงอยู่ในท่าทางมือขวายกไม้พายเพื่อจะตีเจ้าหัวขโมย ส่วนมือซ้ายยื้อตะกร้าไว้ อนึ่งใกล้กับเรือแม่ค้าปรากฏเจ๊กสองคนท่าทางเอ็ดตะโรพยายามพายเรือเข้าช่วยเหลือ

ภาพเรือนักโทษพม่าทำเรื่องระทึกปล้นเรือขายผลไม้ของแม่ค้าสาวชาวสยาม ใกล้กันมีเรือเจ๊กสองคนท่าทางเอ็ดตะโรพยายามพายเรือเข้าช่วยเหลือ (จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร)

เหตุการณ์เช่นนี้คงเป็นเรื่องระทึกมากในอดีต ช่างเขียนจึงนำมาเขียนถ่ายทอดบันทึกผ่านงานจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร

แล้วจะอธิบายที่มาอย่างไรล่ะ?

ความสงสัยของผู้เขียนกลายเป็นความตื่นเต้นเมื่อได้อ่านบทความของ ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม [สันติ เล็กสุขุม, “ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม :  จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3” เมืองโบราณ ปีที่ 29, ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2546) : 53-55. บทความนี้เก็บประเด็นจากรายงานวิจัยเรื่องล่าสุดของ ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม เป็นงานวิจัยที่เสนอข้อมูลการวิเคราะห์งานจิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 จากหลักฐานและมุมมองใหม่ๆ] ที่ปรับปรุงจากงานวิจัยของท่านเรื่อง “จิตรกรรมไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม” งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้พบว่าเอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ ทูตอังกฤษที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามายังราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ให้ข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจสำหรับเหตุการณ์นี้

เฮนรี่ เบอร์นี่ ได้บันทึกรายงานแนบกับจดหมายที่เป็นเอกสารหารือลับส่งไปยังเลขานุการคณะรัฐบาลในกรมการเมืองและราชการลับ เรื่องที่ราชสำนักสยามได้ประโยชน์จากการกวาดต้อนจับชาวพม่าไปเป็นเชลย ซึ่งเกิดจากชัยชนะของอังกฤษที่มีต่อพม่าบางส่วน ในรายงานตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…คนพม่าที่ถูกจับได้นั้นมีค่ามากยิ่งกว่าคนเกียจคร้านที่เป็นคนของเขาเองงานหลวงเกือบทุกอย่างและแรงงานคนที่ทำในทำในบางกอกนั้นก็เป็นนักโทษชาวพม่า เขาได้รับค่าจ้างจากรัฐบาลน้อยมากจนได้รับอนุญาตให้ขอเรี่ยไรได้จากชาวบ้านสยามที่มาตลาดโดยเรือ และเร่ขายผักผลไม้หรืออาหารต่างๆ ทางแม่น้ำ เราขอย้ำว่าได้เห็นนักโทษพม่าสองสามคนในเรือพายไล่และปล้นเรือหญิงชราชาวสยามที่บางกอก” [เรือเอกหญิงลินจง สุวรรณโภคิน, แปล. เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 4 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540) หน้า 79.]

เอกสารรายงานฉบับนี้เป็นข้อมูลร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 โดยช่วงเวลาที่เฮนรี่ เบอร์นี่ ลงบันทึกวันที่อยู่ท้ายรายงานแนบกับจดหมาย 2 ธันวาคม ค.ศ. 1826 หรือ พ.ศ. 2369 นั้น อยู่ในช่วงเวลาที่มีการสร้างวัดกัลยาณมิตร (พ.ศ. 2368 ถึง พ.ศ. 2370) ซึ่งน่าจะให้คำตอบอธิบายภาพเรื่องระทึกที่ช่างเขียนบันทึกไว้ในจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถได้

พม่าอาละวาดในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นนี้คงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และคงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้หน้าวัดกัลยาณมิตรด้วย เพราะเฮนรี่ เบอร์นี่ ยังได้บันทึกถึงการที่ คณะผู้แทนสามารถกดดันให้ราชสำนักสยามยอมปลดปล่อยและส่งกลับพวกเชลยพม่ากว่า 1,400 คน เป็นผลงานที่น่ายินดีของคณะผู้แทน

ลองคิดดูซิครับว่าจำนวนพม่าช่วงเวลานั้นที่มีมากในบางกอกเรื่องระทึกก็คงมีมากตามไปด้วยแน่นอน

ภาพเรือเจ้าหน้าที่สยามที่น่าจะพายตามมาควบคุมนักโทษพม่า แต่ท่าทางนิ่งเฉยมิได้ระทึกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของนักโทษพม่า (จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร)

อนึ่งพม่าอาละวาดหน้าวัดกัลยาณมิตรที่ถูกบันทึกผ่านงานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถนั้น นอกจากภาพความชุลมุนในเหตุการณ์ระทึก ช่างเขียนยังบันทึกขยายความเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ เป็นภาพด้านซ้ายถัดจากเรือสองนักโทษพม่ามีเรือซึ่งมีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ในเรือด้วยอาการนิ่งเฉย? แม้ว่าสนใจว่าอาจเป็นการคอยควบคุมนักโทษพม่าที่ได้รับอนุญาตให้ขอเรี่ยไร

บันทึกของเฮนรี่ เบอร์นี่ กล่าวถึงการที่เชลยชาวพม่าถูกแจกจ่ายไปตามบ้านเสนาบดี ข้าราชการ นายทหาร ผู้ซึ่งได้ผลประโยชน์จากการทำงานของพวกเชลย โดยเกือบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย และคนพวกนี้มีความสนใจที่จะคัดค้านความประสงค์ของคณะผู้แทนที่จะให้ปลดปล่อยเชลยพม่าที่น่าสงสารเหล่านี้ทันที ผลประโยชน์มาก่อนนั่นเอง เสนาบดีหรือข้าราชการระดับต่างๆ ของสยามจึงแสดงท่าที่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ระทึกอันเกิดจากนักโทษพม่าที่อยู่ในความควบคุมขอตน มุมมองเช่นนี้คงถูกบันทึกถ่ายทอดลงไปด้วย ในทัศนะของช่างเขียนผ่านประสบการณ์ที่พบเจอในช่วงเวลานั้น

ภาพหลวงพ่อท่าทางขึงขังในเรือหัวม้ามีลูกศิษย์เป็นฝีพาย ท่านกำลังไประงับเหตุการณ์ระทึกอันเกิดจากนักโทษพม่าในสายน้ำข้างหน้า (จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร)

นอกจากนี้ภาพถัดไปทางด้านขวาใกล้กับเรือเจ๊กที่พยายามพายเข้าช่วยเหลือเรือสองแม่ค้าขายผลไม้ ปรากฏเรือของหลวงพ่อรูปหนึ่งซึ่งมีลูกศิษย์สองคนเป็นฝีพาย เรือลำนี้มีหัวเรือสลักเป็นรูปม้าอ้าจบ่งบอกถึงสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านคงบอกให้ลูกศิษย์พายไปยังจุดเกิดเหตุการณ์ระทึกนั้น เพราะเมื่อพิจารณาท่าทางของหลวงพ่อดูขึงขัง มือทั้งสองข้างของท่านจับกุมอยู่กับวัตถุด้ามยาว? ผู้เขียนขอเดาว่าคงเป็นของดีของวิเศษแน่แท้ และเหตุการณ์ระทึกที่เกิดจากนักโทษพม่าคงสงบเมืองหลวงพ่อท่านถึงที่ชุลมุนวุ่นวายในสายน้ำข้างหน้า

เมื่อพิจารณาภาพโดยรวมทั้งหมดที่คงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ช่างเขียนสะท้อนภาพความสมจริงของสังคมในช่วงเวลานั้นผ่านงานจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร กล่าวได้ว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันมิได้มีบันทึกบอกเล่าชัดเจน มีเพียงงานจิตรกรรมที่ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อการมองผ่านเข้าไปทำความเข้าใจอดีตสังคมผู้เป็นเจ้าของงานช่างนั้นที่ช่างเขียนวาดสอดแทรกอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง

ภาพพม่ารามัญกำลังเอื้อมมือไปขโมยผลไม้ในเรือของสองแม่ค้าที่มิได้ระวังตัวเพราะสนใจอยู่กับลูกค้าที่กำลังสั่งของที่ท่าน้ำ (จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน)

เหตุการณ์ระทึกทำนองนี้ยังปรากฏที่จิตรกรรมฝาผนังพระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม [ภาพนักโทษพม่าในจิตรกรรมฝาผนังพระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม และการศึกษาภาพนักโทษในงานจิตรกรรมฝาผนัง ดูเพิ่มเติมในสันติ เล็กสุขุม, “ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม : จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3” เมืองโบราณ ปีที่ 29, ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2546) : 53-55] และผู้เขียนค้นพบเพิ่มเติมจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชการที่ 3 ณ วัดบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย เป็นภาพพม่ารามัญกำลังเอื้อมมือทั้งสองข้างหยิบผลไม้ภายในเรือของสองแม่ค้าสาว ซึ่งมิได้ระวังว่าจะมีขโมยเพราะกำลังสนใจลูกค้าที่ริมท่าน้ำอยู่ การปรากฏภาพเหตุการณ์ระทึกเช่นนี้มากกว่าหนึ่งที่แสดงถึงความไม่ธรรมดาของเหตุการณ์ ช่างเขียนจึงนำมาเขียนถ่ายทอดบันทึกผ่านงานจิตรกรรมฝาผนัง

ถึงปัจจุบันสมัยแม้ว่าพม่าทำเรื่องระทึกอาจจะเป็นเรื่องปกติที่นายจ้างชาวไทยพึงต้องระวังอยู่มากจากแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ซึ่งหน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน ปกครอง หรือตำรวจ ก็ดูแลกวดขันการขึ้นทะเบียนหรือจับกุมส่งกลับประเทศให้มีความถูกต้องตามกฎหมายได้น่าชมเชย ส่วนนักโทษพม่าในจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตรหน่วยงานที่กล่าวมาคงดูแลมิได้

อนึ่งปลายเดือนพฤศจิกายน 2546 ผู้เขียนมีโอกาสกลับไปถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดกัลยาณมิตรอีกครั้งเพื่อประกอบบทความ น่าตกใจมากว่าภาพนักโทษพม่าส่วนท้ายลำเรือหลุดร่วงเพราะความชื้นไปมากแล้ว ส่วนบรรยากาศของวัดก็ดูสะอาดเป็นระเบียบมากขึ้น แต่ดูจะแห้งแล้งไม่มีร่มไม้เหมือนก่อน ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรท่านเร่งจัดระเบียบและบูรณปฏิสังขรณ์วัดในหลายๆ ด้านหลังจากท่านเพิ่งมารับภาระปกครองวัด งานบูรณปฏิสังขรณ์ได้ข่าวจากวงในว่าทางกรมศิลปากรให้ระงับบางส่วนไว้ก่อน

ผู้เขียนจึงฝากไปยังหน่วยงานด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังของกรมศิลปากร ช่วยเข้ามาดูแลจัดระเบียบจับกุมนักโทษพม่ากับทางวัดกัลยาณมิตรอย่างรีบด่วนในส่วนนี้ด้วย ก่อนที่นักโทษพม่าจะลอยนวลหลุดร่วงลงไปจากฝาผนังแห่งนี้ตามกาลเวลา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 2 มกราคม พ.ศ. 2561