“คนพม่า” คือคนที่ “มีน้ำใจมากที่สุดในโลก” ไทยติดอันดับในฐานะนักบริจาค

ชาวพุทธในพม่าถือพระพุทธรูปบริเวณที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2016 ซึ่งเป็นวันฉลองปีใหม่ตามประเพณีของชาวพม่าหลังเทศกาลเล่นน้ำ คล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย (AFP PHOTO / ROMEO GACAD)

ย้อนดู “ดัชนีการให้ของโลก” ยกให้ “คนพม่า” คือ “คนที่มีน้ำใจมากที่สุดในโลก” ไทยติดอันดับในฐานะนักบริจาค

Charities Aid Foundation (CAF) มูลนิธิเพื่อการกุศลที่ขึ้นทะเบียนในสหราชอาณาจักร ผู้จัดทำดัชนีการให้ของโลก (The World Giving Index) ได้ยกให้ “คนพม่า” เป็นคนที่มีน้ำใจมากที่สุดในโลกประจำปี 2015 ทำให้พม่าคว้าแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน [พม่าเป็นอันดับ 1 อีกในปี 2016 และ 2017 ในปี 2018 พม่าอยู่ในอันดับที่ 9 ในปี 2020 พม่าขึ้นมาอยู่อันดับที่ 4 อันดับที่ 1 เป็นของอินโดนีเชีย ส่วนไทยติดอันดับที่ 10 การสำรวจล่าสุดในปี 2021 อันดับที่ 1 ยังเป็นของอินโดนีเชีย ส่วนพม่าอยู่ในอันดับที่ 6 ไทยไม่ติด 1 ใน 10] รวมพม่าเป็นอันดับ 1 ถึง 4 ปี ติดต่อกัน

CAF เริ่มทำดัชนีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2010 โดยอาศัยสถิติของประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศ จากการสำรวจ Gallup บริษัทวิจัยอเมริกัน ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการสำรวจความคิดเห็นระดับโลก

คุณลักษณะที่ใช้ในการชี้วัด “ความมีน้ำใจ” ตามดัชนีของ CAF มีสามประการ คือ การช่วยเหลือคนแปลกหน้า หรือใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือโดยที่คุณไม่รู้จัก, การบริจาคเงินเพื่อการกุศล และการสละเวลาเพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือองค์กรต่างๆ

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2016 แสดงภาพคนเดินถนนในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และกำลังเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก ส่งผลให้ย่างกุ้งที่เดิมเต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ทรุดโทรม ถูกรุกคืบด้วยอาคารสูงสมัยใหม่ (AFP PHOTO / YE AUNG THU)
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2016 แสดงภาพคนเดินถนนในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และกำลังเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก ส่งผลให้ย่างกุ้งที่เดิมเต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ทรุดโทรม ถูกรุกคืบด้วยอาคารสูงสมัยใหม่ (AFP PHOTO / YE AUNG THU)

พม่าเป็นประเทศที่ได้คะแนนรวมเป็นเปอร์เซนต์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 66 เปอร์เซนต์ เป็นคะแนนจากการช่วยเหลือคนแปลกหน้า 55 เปอร์เซนต์ การบริจาคสูงถึง 92 เปอร์เซนต์ และการเป็นอาสาสมัคร 50 เปอร์เซนต์ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดเช่นกัน

ส่วนประเทศที่ได้คะแนนตามมาเป็นอันดับสองคือสหรัฐฯ ที่คะแนนรวม 61 เปอร์เซนต์ โดยคนสหรัฐฯ ถือเป็นกลุ่มคนที่ชอบช่วยเหลือคนแปลกหน้าสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่ได้คะแนนรวมสูงสุด 10 อันดับแรก ด้วยคะแนน 76 เปอร์เซนต์ การบริจาค 63 เปอร์เซนต์ และการเป็นอาสาสมัคร 44 เปอร์เซนต์

หากพิจารณาจำเพาะคุณลักษณะแล้ว ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้าสูงสุดตามสัดส่วนประชากรคือ “อิรัก” ที่ 79 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยไลบีเรีย 78 เปอร์เซนต์ และสหรัฐฯ 76 เปอร์เซนต์ ส่วนไทยอันดับที่ 19 ด้วยคะแนน 48 เปอร์เซนต์ แต่หากนับเป็นรายหัวอินเดียมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยจีน และสหรัฐฯ

ในส่วนของการบริจาคดังที่กล่าวไปแล้วว่าพม่ามาเป็นอันดับ 1 (หากวัดตามสัดส่วนประชากร) ที่ 92 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยไทย 87 เปอร์เซนต์ และมอลตา 78 เปอร์เซนต์ หากนับเป็นรายหัว อินเดียเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย

และสุดท้ายการสละเวลาเพื่อเป็นอาสาสมัคร เป็นพม่าที่ครองอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 50 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยศรีลังกา 48 เปอร์เซนต์ และไลบีเรีย 46 เปอร์เซนต์ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 98 ด้วยคะแนน 14 เปอร์เซนต์ หากนับเป็นรายหัว อินเดียเป็นที่ 1 ตามมาด้วยสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

CAF WORLD GIVING INDEX 2015. (NOVEMBER 2015). <https://www.cafonline.org/docs/default-source/about-us-publications/caf_worldgivingindex2015_report.pdf?sfvrsn=2>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2559