ถอดพิธีกรรมและความหมาย “สายธุรำ-สายธุหร่ำ” คติด้ายมงคลของพราหมณ์

พราหมณ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2548)

สายธุรำ หรือ สายธุหร่ำ เป็นด้ายมงคลของพราหมณ์ หรือกล่าวโดยทั่ว ๆ ไปก็คือด้ายเครื่องหมายของวรรณะพราหมณ์ที่คล้องติดตัวอยู่เป็นประจำ ผู้ที่จะประกอบพิธีสำคัญต้องสวมสายธุรำ เช่นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชครูพราหมณ์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระสังวาลพราหมณ์ธุรำ เมื่อทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉียงซ้าย

ในเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อนางมณโฑทำพิธีหุงน้ำทิพย์ มีกลอนว่า

ชำระสระสนานอินทรีย์ วารีโปรยปรายดั่งสายฝน

ลูบไล้ด้วยเครื่องเสาวคนธ์ ปรุงปนเรณูมาลา

ทรงภูษาขาวขาวสะอาด สะพักพาดบงเฉียงเหนืออังสา

จุณเจิมเฉลิมพักตรา ผูกชฎาห่อเกล้าเมาลี่

แล้วทรงสอดใส่สายธุรำ กรถือประคำมณีศรี

สายธุรำของพราหมณ์ทำเป็น 3 เกลียว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยัชโญปวีต ทำพิธีคล้องให้เด็กที่มีอายุได้ 8 ขวบ เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล สวมสะพายแล่งที่ไหล่ซ้าย เฉียงไปห้อยที่เอวขวา

ตามประเพณีก่อนที่เด็กพราหมณ์จะเข้ารับการศึกษา พราหมณ์นักบวชจะเสกมนตร์ลงที่ตัวนักเรียนว่า โอมฺ สฺว ภู ภวตตฺ สฺวิตุ รฺวเรณฺยํ ภรฺโค เทวสฺย ธีมหิ ธิโย โยน ปฺรโจทยาตฺ เรียกว่า มนตร์คายัตรี แล้วเอา ด้ายยัชโญปวีตคล้องคอเฉียงบ่าให้ เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจะเริ่มการศึกษาได้

สายธุรำที่ทำด้วยด้าย 3 เส้นควบเป็นเส้นเดียวกันนั้น มีคำอธิบายว่า หมายถึงคุณลักษณะ 3 ประการ ซึ่งมีประจำอยู่ในตัวบุคคล คือ

1. สัตตวะ หมายถึง ส่วนที่ประณีตสุขุม ได้แก่คุณงามความดีหรือความบริสุทธิ์

2. รชะ หมายถึง ส่วนที่เคลื่อนไหวดิ้นรนไป ได้แก่ กิเลสราคะ

3. ตมะ หมายถึง ความขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ ได้แก่ ความโง่เขลาเมามัว ตรงข้ามกับข้อแรก

พิธีการคล้องสายธุรำนั้น ท่านว่าเวลาคล้องต้องเอาสายธุรำปัดที่แขน 2 ครั้ง คือปัดออกครั้งหนึ่งกับปัดเข้า ครั้งหนึ่ง เมื่อจะทำธุระที่ไม่สะอาด เช่น ถ่ายปัสสาวะ จะต้องรวบสายธุรำขึ้นพันไว้รอบคอหรือเอาห้อยคล้องไว้ที่กกหูข้างขวา เพื่อไม่ให้สิ่งที่เป็นมลทินมาถูกต้อง

นอกจากนี้ เมื่อสายธุรำขาด จะต้องนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว ไม่พูด และกลั้นใจจนกว่าจะนำสายธุรำเส้นใหม่ที่เตรียมไว้มาคล้องแทน ตรงนี้มีข้อผ่อนผัน ถ้ากลั้นใจไม่ได้นาน ก็อนุโลมให้กลั้นพอเป็นพิธีได้

อนึ่งตามคติของชาวฮินดูถือว่าผู้ชายที่เกิดมาถ้ายังไม่ได้ทำพิธีคล้องสายธุรำ แม้จะมีชาติกำเนิดเป็นพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ ก็ยังถือว่ามีฐานะเท่ากับศูทร ซึ่งเป็นวรรณะต่ำ ต่อเมื่อพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ทำพิธีคล้องสายธุรำให้แล้ว จึงจะมีวรรณะสูง ที่เรียกว่า ทวิชะ

คำว่าธุรำ หรือธุหร่ำ เป็นคำเก่าที่คนไทยใช้กันมานาน จนไม่ได้สนใจเรื่องความหมายและพิธีการใช้ว่าเป็นอย่างไร บางทีจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน วรรณคดีได้บ้าง จึงควรเก็บไว้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2564