อาข่า ผู้มั่งคั่งบนที่สูงรัฐฉาน เทคโนโลยีต่อยอดวิถีเดิม มีไฟฟ้าแม้ไฟฟ้ารัฐเข้าไม่ถึง

ภาพประกอบเนื้อหา - สตรีกลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า จากที่สูงแห่งรัฐฉาน ภาพถ่ายเมื่อ ต.ค. 2015 ช่วงก่อนหน้าการเดินทางมาถึงของอองซานซูจีขณะทำแคมเปญของพรรค NLD (ภาพจาก ROMEO GACAD / AFP)

“อาข่า” ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยผู้นิยมตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่สูงในหลายประเทศของทวีปเอเชีย คนไทยเคยรู้จักในชื่อทำนองเหยียดเชื้อชาติว่า “อีก้อ” และด้วยข้อจำกัดการเข้าถึงเรื่องเล่าเพียงน้อยนิดของพวกเขาในอดีตกลายเป็นมายาคติของ “ชาวเมือง” ที่มอง “ชาวเขา” ผู้มีประเพณีและวิถีอันแปลกแปร่ง ทว่าเมื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างไร้ข้อจำกัดในสภาวะโลกาภิวัตน์ได้เผยตัวพวกเขาออกมาให้โลกรู้จักในฐานะผู้ร่ำรวยวัฒนธรรม ความมั่งคั่งจากการค้า และสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นด้วยการศึกษา ผู้พร้อมจะสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ร่วมกับทุกกลุ่มชนทั่วโลกในวันนี้

ชาวอาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นักภาษาศาสตร์จัดอยู่ในตระกูลภาษา “โล-โล” กลุ่มย่อยของทิเบต-พม่า (Tibetan-Burma) พวกเขาเรียกตัวเองว่า “อาข่า” (Akha) แต่คนไทยและลาวมักเรียก “อีก้อ” หรือ “ก้อ” หรือ “ข่าก้อ” ขณะที่จีนและเวียดนามเรียก “ฮานี”

ว่ากันว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวอาข่าอยู่ในประเทศจีน โดยตั้งรกรากอยู่หนาแน่นทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ก่อนทยอยอพยพเข้ามายังเมืองเชียงตุง (Keng Tung) รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับจีนเมื่อช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าในปัจจุบันเมืองเชียงตุงมีชาวอาข่าอาศัยอยู่มากกว่า 180,000 คน รวมทั้งบางส่วนอพยพเข้าไปตั้งรกรากอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว และทางตอนเหนือของเวียดนาม ส่วนชาวอาข่าในไทย เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเมียนมาอีกทอดหนึ่ง มีบันทึกว่า หมู่บ้านอาข่าแห่งแรกในไทยตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2446 บริเวณหมู่บ้านหินแตก ชายแดนไทย-เมียนมา (ปัจจุบันคือ หมู่บ้านเทอดไทย ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย)

จากนั้นก็ได้มีการอพยพเข้ามาสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากราว 2,500 คน ที่สำรวจพบใน พ.ศ. 2507 กระทั่งการสำรวจครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2545 พบประชากรอาข่าทั้งสิ้น 65,653 คน โดยกระจายตัวอยู่ใน 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง พะเยา ตาก เพชรบูรณ์ และเชียงราย ซึ่งพบมากที่สุดจำนวน 59,782 คน

คนไทยหลายคนยังคงจดจำภาพของสาวอาข่าผ่านเรื่องราวที่ปรากฏในเพลงโฟล์คซองคำเมืองของ จรัล มโนเพ็ชร (2523) ซึ่งได้ข้อมูลมาจาก “30 ชาติในเชียงราย” ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2557) อีกชั้นหนึ่ง เพลงนั้นเล่าเรื่องราวของหญิงสาวอาข่ากับหน้าที่ “มิดะ” บน “ลานสาวกอด” ผู้คนที่ได้ยินจึงให้ค่าความเป็นมนุษย์ของหญิงสาวชาวอาข่านั้นด้อยลงไป

“มีกะลาล่าเซอ มีหนุ่มหนุ่มเผลอฮ้องหา มีสาวงามขึ้นมา แล้วมีมิดะ…นางนั้นยืนท่ากอย หนุ่มน้อยตี้ยังบ่เกยผ่าน ยังไร้ราคีพาน บ่ฮู้ก๋านกามโลกีย์ ยั่วยวนวาจาเว้าวอน บอกสอนฮื้อละอ่อนนั้นมี ความฮู้กามวิธี แล้วพลีเรือนกาย…งามเหนือคำรำพัน เป็นหมันและเป็นหม้าย ความสวยงามคือภัย ถูกเลือกไว้เป็นมิดะ หนุ่มใดบ่เกยชิดชม บ่สมสู่ฮู้วิชา หมดหนทางขึ้นมา บนลานสาวกอด…”

นักวิชาการชาวอาข่า ชาวบ้านอาข่า และนักวิชาการชาติพันธุ์ ยืนยันตรงกันว่า ในภาษาอาข่ามีเพียง “หมี่ดะ” ที่หมายถึงหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และในสังคมชาวอาข่า ไม่เคยมีผู้หญิงผู้ทำหน้าที่สอนเรื่องเพศให้ชายหนุ่ม และไม่มี “ลานสาวกอด” มีเพียง “แดข่อง” ลานดินกลางหมู่บ้านสำหรับร้องเพลงและการละเล่นยามหน้าเทศกาล

กรณีนี้จึงเป็นบทเรียนสำหรับศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน และผู้เสพข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างสำคัญ ตั้งแต่วันเวลาที่พวกเขาไม่มีเสียงของตัวเองที่จะพูดออกไปให้ใครได้ยิน (Subaltern) ในการที่จะไม่สร้างบาดแผลให้กับผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลอย่างถ่องแท้ ในวันที่ทุกๆ คนสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่งเสียงของตนออกไปสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมได้รวดเร็วไร้ขีดจำกัด และหากสารนั้นเป็นสิ่งที่บิดเบือน ผลร้ายก็จะยิ่งทับทวียิ่งกว่าในอดีตเช่นกัน

ภาษาอาข่ามีเสียงคล้ายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่และลีซอ และมีเพียงภาษาพูด ไม่มีตัวอักษร โดยจะใช้ตัวอักษรภาษาจีน พม่า ไทย หรืออังกฤษ ตามการนับถือศาสนาหรือประเทศที่ตั้งนั้นๆ ในการสื่อสารอ่านเขียน

ชาวอาข่านิยมตั้งบ้านเรือนบนที่สูง บริเวณไหล่เขา ใกล้แหล่งน้ำ และมักต้องเป็นพื้นที่ซึ่งมีทางเข้าออกได้หลายทาง หมู่บ้านของพวกเขามักจะมีขนาดเล็ก เพียง 10-30 หลังคาเรือน หรืออย่างมากก็ไม่เกินไปกว่า 50 หลังคาเรือน

ชาวอาข่าในทุกประเทศที่กล่าวมาส่วนใหญ่ยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ดำรงชีพด้วยการทำการเกษตร ว่ากันว่า ชาวอาข่าทุกคนทำงานหนักและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในไร่นามากกว่าอยู่กับครอบครัว ผู้หญิงชาวอาข่าสามารถทำงานในไร่ขณะที่แบกลูกน้อยไว้บนหลังเสมอ ข้อสำคัญ พวกเธอทำงานหนักไม่แพ้ผู้ชาย ปัจจุบันชาวอาข่ามีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ต่อยอดภูมิปัญญาชนเผ่าดั้งเดิม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่า ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น รวมทั้งความนิยมทำการค้า ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนมั่งคั่ง และนิยมส่งลูกหลานศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงจำนวนมาก

หมู่บ้านชาวอาข่าในเชียงตุงประกอบไปด้วย 3 ตำบลหลัก ได้แก่ จอมสัก ปินเต๊า และหนองสาม ส่วนยังค้า เป็นหมู่บ้านที่อยู่รวมกันระหว่างอาข่ากับไทใหญ่ โดยตำบลใหญ่ที่สุดคือจอมสัก มีประชากรราว 5,000 หลังคาเรือน

ระหว่างทางผู้เขียนนั่งรถผ่านหมู่บ้าน “ปางควาย” หมู่บ้านชาวอาข่าที่มัคคุเทศก์ชาวไทใหญ่เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ เพราะมีประชากรทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและคริสต์อยู่ด้วยกัน พวกเขาแบ่งพื้นที่กันคนละครึ่งหมู่บ้าน โบสถ์พุทธกับโบสถ์คริสต์ตั้งอยู่ติดกัน ภายในรั้วเดียวกัน และแม้จะเป็นหมู่บ้านที่ไฟฟ้าของรัฐบาลยังเข้าไม่ถึง แต่ทุกบ้านเรือนก็มีไฟฟ้าใช้ถ้วนหน้า ชาวบ้านซื้อเครื่องปั่นไฟพลังน้ำจากจีนมาใช้กันเอง เป็นเครื่องที่ใช้งานได้ง่ายๆ โดยเอาเครื่องวางในคลอง อาศัยน้ำไหลเอื่อยๆ เป็นพลังขับเคลื่อนจักรปั่นไฟฟ้าก็ใช้ได้แล้ว

ตอนที่รถของเราผ่านมานั้นเริ่มมืดแล้ว ผู้เขียนมองเข้าไปในบ้านแต่ละหลังพบว่ามีความสว่างไม่เท่ากัน เพราะแต่ละบ้านมีเครื่องปั่นไฟใหญ่เล็กต่างกัน ขึ้นกับกำลังในการผลิตไฟฟ้าและราคาเครื่อง หากขนาดพลังกิโลวัตต์เดียวก็ใช้ได้เพียงหลอดไฟขนาดเล็ก 2-3 ดวง หากกิโลวัตต์สูงก็สามารถใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าและตู้เย็นได้ บ้านที่มีเงินน้อยหน่อยก็อาจรวมเข้ากับเพื่อนบ้านหลายๆ หลัง หุ้นกันซื้อเครื่องปั่นมาใช้ร่วมกัน นับเป็นระบบเครือญาติที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ดี

ความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่ดีผิดตานี้เกิดขึ้นหลังเมียนมาเปิดประเทศ สะท้อนผ่านตัวตนของชาวอาข่าเอง รวมทั้งคำยืนยันจากมัคคุเทศก์ชาวไทใหญ่ บัณฑิตคณะวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเชียงตุง ที่ผ่านงานจากประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 2 ปี อย่าง “ฟองคำ”

“เดี๋ยวนี้คนอาข่ารวยกันหมดแล้ว อย่างเงินจัดงานปีใหม่นี่ไม่ใช่เงินราชการนะ มาจากองค์กรผู้บริจาค พวกนักธุรกิจชาวอาข่า…ในเชียงตุงเรามีชาวเขาหลายกลุ่ม คือ ม้ง เมี่ยน ว้า ไตเขิน ไตโหลง ไตหล ลาหู่ และอาข่า ซึ่งอาข่านี่รวยสุด…”

จายโหลง พ่อของฟองคำก็เห็นเช่นเดียวกันว่า คนอาข่าเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะ และมีการลงทุนเลือกสถานที่จัดงานอย่างพิถีพิถัน

สาวอาข่าบ้านปางควายซึ่งใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า “Shin Shin” ออกร้านขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอาข่าภายในงานปีใหม่นี้ด้วย ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับเธอ

“เกิดที่พม่า พูดไทยได้เพราะดูละครไทย ชอบณเดชน์ (หัวเราะ) ปกติแม่จะขายเสื้อผ้าอาข่าอยู่แล้ว หนูไม่ได้ขาย จะมีขายบ้างเฉพาะทางเฟซบุ๊ก ที่มาขายนี้เพราะเป็นงานปีใหม่เท่านั้น…งานวันปีใหม่ของอาข่าแต่ละที่ไม่ตรงกัน แต่จะใกล้เคียงกัน แต่ละประเทศจะแยกกันจัด แต่ที่พม่าจะมีการจัดใหญ่มาก อาข่าทุกที่ชอบมา จะมีอาข่ามาจากไทย จีน ลาว และเวียดนาม…หนูก็ไปเที่ยวงานปีใหม่อาข่าที่แม่สายด้วย ที่นั่นเขาจัดก่อน เสร็จก่อนพม่า…ที่แม่สายหนูไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ไม่ได้เอาของไปขาย…”

ไม่เพียงน้ำเสียงคนอาข่าและคนไทใหญ่ เพราะจากการพูดคุยและสังเกตดูผู้คนชาวอาข่าที่มาร่วมงานปีใหม่กลางเมืองเชียงตุงปีนี้ก็พบว่า ภาพที่เห็นและภาพลักษณ์ที่เล่าผ่านคำพูดของฟองคำและจายโหลงนั้นไม่น่าจะเกินจริง รางวัลใหญ่ของร้านสอยดาวภายในงานนั้นมีมูลค่าสูง ประกอบด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคล มอเตอร์ไซค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก

มีคนมาซื้อสลากเกือบหมดเกลี้ยง รวมทั้งเสื้อยืดลายการ์ตูนอาข่าที่ผู้เขียนอุดหนุนมาในราคา 8,000 จ๊าด หรือราว 200 บาท ซึ่งนับว่าไม่ถูกนักแต่ก็ขายดีในคนอาข่ารุ่นใหม่…

 

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ปีใหม่ ‘อาข่า’ ชนกลุ่มน้อยผู้มั่งคั่งบนที่สูงรัฐฉานแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” โดย ดร. องค์ บรรจุน คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2563.


รายการอ้างอิง

จรัล มโนเพ็ชร, ผู้ประพันธ์และขับร้อง. 2523. มิดะ. อัลบั้ม จากยอดดอย. [เทปคาสเซ็ต]. กรุงเทพฯ : อีเอ็มไอ.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 2557. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : ศยาม.

เบญจวรรณ วงศ์คำ, บรรณาธิการ. 2546. อ่าข่า พิธีกรรม ความเชื่อ ความจริง และความงาม กุศโลบายดำรงวิถีแห่งชนเผ่า. เชียงใหม่ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค.

แพง ชินพงศ์. 2554. คลี่ปม “มิดะ-ลานสาวกอด” กู้ศักดิ์ศรีหญิงชาวอาข่า. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2563, จาก https://mgronline.com/qol/detail/9540000047707/

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และ อันยา โพธิวัฒน์. 2554. ภารกิจปิดฝังมิดะ : รำลึกครบรอบ 10 ปี การจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร (2544-2554). กรุงเทพฯ : เนรพูสีไทย.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2564