ปมการศึกษาแบบกดหัวให้เชื่อฟัง ต้นเหตุสู่เพลงอมตะ “Another Brick in the Wall, Part 2”

(ซ้าย) โรเจอร์ วอเทอร์ส สมาชิกวง Pink Floyd แสดง "The Wall Live" เมื่อกันยายน 2013 ที่สนาม Stade-de-France (ขวา) หน้าปกซิงเกิล "Another Brick in the Wall (Part 2)" โดย Pink Floyd

บรรดาผลงานเชิงศิลป์ในวัฒนธรรมร่วมสมัยรอบศตวรรษมานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “การศึกษา” มากมาย หากพูดถึงผลงานในรูปแบบ “บทเพลง” มีไม่มากนักที่ได้รับความนิยมถึงขั้นติดชาร์ตแซงหน้าผลงานของวงร็อกระดับโลกอย่าง “ควีน” (Queen) ในรอบหลายทศวรรษมานี้มีเพลงหนึ่งสามารถทำได้ นั่นคือเพลง ‘Another Brick in the Wall, Part 2’ โดยวง “พิงก์ฟลอยด์” (Pink Floyd)

ในยุค 80s วงดนตรีอังกฤษที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงย่อมมีชื่อของ “พิงก์ฟลอยด์” รวมอยู่ด้วย แม้พวกเขาไม่ได้มีเพลงฮิตติดชาร์ตสื่อกระแสหลักเหมือนวงในยุคเดียวกันวงอื่น แต่หากมองในแง่ยอดขายและทัวร์แล้ว พิงก์ฟลอยด์ มียอดขายอัลบั้มและได้รับความนิยมในช่วงทัวร์ไม่แพ้วงยุคเดียวกัน

บทเพลงของวงที่สามารถทะลวงขึ้นติดชาร์ตแซงหน้าเพลงของวงระดับวง “ควีน” ได้ กลายเป็น “Another Brick in the Wall, Part 2” ซึ่งแซงหน้าเพลง “Crazy Little Thing Called Love” ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต Hot 100 ในสหราชอาณาจักรติดกัน 4 สัปดาห์ และถูกจัดในอันดับ 384 ในการจัดอันดับ “500 บทเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล” โดยนิตยสารโรลลิ่งสโตน (Rolling Stone)

เพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม The Wall อัลบั้มแนวโปรเกรสซีฟ ร็อค (Progressive Rock) ระดับขึ้นหิ้ง เนื้อเพลงหลักร้องว่า

“We don’t need no education
We don’t need no thought control
No dark sarcasm in the classroom
Teachers leave them kids alone
Hey, teachers, leave them kids alone
All in all it’s just another brick in the wall
All in all you’re just another brick in the wall”

“เราไม่ต้องการการศึกษา
เราไม่ต้องการการควบคุมความคิด
เลิกประชดเย้ยหยันในห้องเรียน
คุณครูจงปล่อยนักเรียนเป็นอิสระ
ทั้งหมดก็แค่อิฐก้อนหนึ่งในกำแพง
ที่สุดแล้ว คุณก็แค่อิฐอีกก้อนหนึ่งในกำแพง”

อัลบั้มนี้วางจำหน่ายเมื่อปี 1979 จนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว

โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) แกนนำของวงและผู้เขียนเพลงนี้ให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดเบื้องหลังที่นำมาสู่บทเพลงอมตะชิ้นนี้มาจากประสบการณ์แย่ๆ ในระบบการศึกษาเครือบริติช ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเขาในช่วงวัยเด็กอันตรงกับยุค 50s

โรเจอร์ ให้สัมภาษณ์กับ “วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” (Wall Street Journal) เมื่อปี 2015 เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาว่า

ครูบางคนติดอยู่กับแนวคิดว่า เด็กหนุ่มต้องถูกควบคุม มีการประชดเย้ยหยันและใช้กำลังบังคับอันไร้เหตุผลเพื่อทำให้เราเชื่อฟังอยู่ในโอวาท”

ในการบันทึกเสียง นิก กริฟฟิธส์ (Nick Griffiths) วิศวรกรด้านการบันทึกเสียงแนะนำว่าวงควรใช้เด็กประสานเสียงเพื่อมาร้องประสานเสียงในท่อนหลังด้วย อย่างไรก็ตาม บ็อบ เอซริน (Bob Ezrin) โปรดิวเซอร์ และตัววอเตอร์ส ผู้เขียนเพลงเองต่างอ้างในภายหลังว่าพวกเขาก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้ว กริฟฟิธส์ นำเด็กนักเรียน 25 คนจากโรงเรียน Islington Green จากลอนดอนตอนเหนือมาเข้าสตูดิโอและร้องประสานเสียงในท่อนหลัง

“ผู้นำเราเป็นคนดีที่สุด-ชาติของเราถูกเสมอ” เพลงจิกกัดระบบการศึกษาที่ไร้กาลเวลา

อันที่จริงแล้ว อัลบั้ม The Wall อันลือลั่นของ Pink Floyd เล่าเรื่องราวหลักเกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่งที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 วัยเด็กของเด็กชายคนนี้ต้องรับมือเรื่องทุกข์ต่างๆ ขณะที่ระบบการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้วย

 


อ้างอิง:

Greene, Andy. “Flashback: Pink Floyd Take ‘Another Brick in the Wall, Part 2’ to Number 1”. Rolling Stone. Online. Published 19 MAR 2020. Access 1 DEC 2020. <https://www.rollingstone.com/music/music-news/pink-floyd-another-brick-in-the-wall-part-2-number-1-969667/>

ภาวิณี คงฤทธิ์, พิมพ์ใจ พิมพิลา. “40 ปี อัลบั้ม ‘The Wall’ วง Pink Floyd : เรายังเป็นแค่อิฐในกำแพง
“. 101.world. Online. เผยแพร่เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึงเมื่อ 1 ธันวาคม 2563. <https://www.the101.world/the-wall-pink-floyd/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2563