ถอดรหัส “นิ้วเพชร” จากฉบับต้นตอ “ภัสมาสุร” สู่ “นนทก 2020” ในไทยได้อย่างไร

ภัสมาสุร (Bhasmasura) ร่ายรำข้างนางโมหิณี (Mohini) มีพระศิวะมองอยู่ด้านหลัง โดย ราชา รวิ วรรมา (ภาพจาก http://vimokshananda.wordpress.com/2009/04/) ไฟล์ภาพจาก Wikimedia Commons / Public Domain

แม้ว่าวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” ไม่ได้มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันนี้คงปฏิเสธได้ยากว่าเนื้อหาของรามเกียรติ์ แพร่หลายและทรงอิทธิพลในหลายแง่มุมในประเทศไทยและอีกหลายประเทศแถบใกล้เคียง ในระบบการศึกษาไทยก็ปรากฏเนื้อเรื่องรามเกียรติ์บางส่วนด้วย เมื่อมาถึงปี 2020 พื้นที่การเรียนในยุคนี้ปรากฏสื่อที่ช่วยในการเรียนรู้แบบใหม่อย่างแอนิเมชั่นโดยคนรุ่นใหม่ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ “นนทก” (หรือ นนทุก) แตกต่างจากเนื้อหาเดิมจนได้รับความสนใจจากผู้รับสาร

“รามเกียรติ์” ที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้เนื้อหากัน เนื้อเรื่องส่วนมากมาจาก “รามายณะ” โดยฤาษีวาลมีกิ ซึ่งเนื้อหาใน “รามายณะ” ของวาลมีกิ เองก็ยังมีผู้สันนิษฐานว่าถูกแต่งเติมในภายหลังด้วยเช่นกัน แต่รามเกียรติ์ของไทยบางส่วนก็ผสมกับเนื้อเรื่องจากแหล่งอื่นด้วย อาทิ รามายณะของอินเดียตอนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาติดต่อกับผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเนื้อเรื่องฉบับทมิฬและเบงคลี

สำหรับเนื้อหาในส่วน “นนทก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกี่ยวกับตัวละครนี้ว่า ฉบับสันสกฤตของวาลมีกิ มีชื่อว่า ภัสมาสุร (Bhasmasura) เป็นสาวกของพระศิวะ (พระอิศวร) บูชาพระศิวะจนได้รับพร คล้ายกับที่คนไทยเรียกกันว่า “นิ้วเพชร”

แต่ในฉบับนี้ พรที่ได้คือ ถ้าสัมผัสตัวผู้ใด ร่างกายของผู้นั้นจะไหม้ วันหนึ่งภัสมาสุร อยากลองดี อยากลองใช้มือสัมผัสพระศิวะเสียเอง พระศิวะจึงขอให้พระวิษณุ (พระนารายณ์) ช่วยจัดการ พระวิษณุเลยแปลงกายเป็นผู้หญิง ชื่อว่า นางโมหิณี (Mohini) มายั่วยวนหลอกล่อให้ภัสมาสุร ร่ายรำพร้อมกับตัวเองไปด้วย ท่ารำจบที่เอามือไว้ที่ศีรษะ สุดท้ายร่างกายของภัสมาสุร จึงมอดไหม้ไป

คำถามต่อมาคือ แล้วภัสมาสุร กลายมาเป็น “นนทก” ตามที่คนไทยรู้จักกันได้อย่างไร?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ มองว่า เนื่องจากเนื้อเรื่องรามเกียรติ์มีหลายฉบับ แต่ละฉบับก็มีเนื้อหา มุมมอง และวิธีคิดที่แตกต่างกัน โดยมีความเชื่อและศาสนาเป็นอิทธิพลสำคัญ ในมุมมองของตัวเองแล้วคิดว่า ฉบับที่มีเนื้อหาของ “นนทก” แฝงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้น เลยผูกเรื่องนนทก กับพระราม ซึ่งอันที่จริงแล้วเนื้อหาส่วนนี้เป็นเกร็ดย่อยๆ ในเรื่องรามายณะ ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกันไป แต่เนื้อหาในฉบับรามเกียรติ์ในไทยนำมาผูกต่อเนื่องกัน และอธิบายว่าตัวละครตัวนี้ในชาตินี้เกิดมาเป็นอีกตัวละครหนึ่งในอีกชาติ อธิบายร้อยเรียงต่อกันไป แต่เนื้อหาในฉบับภัสมาสุร (Bhasmasura) เมื่อร่างกายไหม้แล้วก็ถือว่าจบบทบาทไป

สำหรับเรื่องการให้พรของพระศิวะ (พระอิศวร) นั้น เดิมทีแล้วพระอิศวรให้พรกับทุกคนอยู่แล้ว การตีความการให้พรในแอนิเมชั่น “รามเกียรติ์ตอนนนทกโดนแกล้ง” นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ มองว่า ผู้ทำเล่าจากมุมมองที่ผู้ทำอยากเล่าเอง ในมุมมองส่วนตัวแล้ว ตีความการให้พรในแอนิเมชั่นว่า “(บางครั้ง)ให้อำนาจกับคนที่ไม่สมควรได้รับอำนาจนั้น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “มหากาพย์รามายณะ เล่าเรื่องวีรกรรมและพระเกียรติยศของพระราม ตามท้องเรื่องให้ภาพพระรามเป็นคนที่ทรงคุณธรรมอย่างไร เป็นหัวใจหลักสำคัญของฉบับวาลมีกิ การตัดสินใจต่างๆ ของพระนารายณ์จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและคุณธรรม ในเวอร์ชั่นนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างความมืดกับแสงสว่าง ความดีกับความชั่วอย่างชัดเจน เหมือนอย่างสักไม่กี่วันที่ผ่านมามีเทศกาลดิวาลี เป็นเทศกาลที่เกี่ยวกับเรื่องราวพระรามรบชนะทศกัณฐ์และกลับคืนอโยธยา นำแสงสว่างกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง เป็นวิธีคิดของคนทางภาคเหนือที่เน้นเรื่องรามายณะ”

ส่วนเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ที่คนไทยรู้จักกันนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสืบสาวจุดเริ่มต้นของการเข้ามาครั้งแรกได้อย่างแน่ชัด คำอธิบายการเผยแพร่รามเกียรติ์มาสู่ไทยในหนังสือ “บทละครเรื่องรามเกียรติ์” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร อธิบายไว้ว่า

“…เข้าใจว่าพ่อค้าชาวอินเดียคงเป็นผู้นำมาเผยแพร่ในไทย แต่แรกคงมาในรูปแบบของการถ่ายทอดทางมุขปาฐะ คือเป็นการเล่า ‘นิทานเรื่องพระราม’ และต่อมาจึงได้จดจารลงเป็นวรรณกรรมของไทย ซึ่งการจดจารนี้มิใช่เป็นการคัดลอก แต่เป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ตามฉันทลักษณ์ร้องกรองไทย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อเรื่องของรามเกียรติ์กับรามายณะแล้ว พบว่ารามเกียรติ์ของไทยมีรายละเอียดเนื้อหาไม่ตรงกับรามายณะฉบับหนึ่งฉบับใดโดยเฉพาะ แต่มีความพ้องกับรามายณะของอินเดียหลายฉบับ และมีบางส่วนพ้องกับรามายณะของประเทศเพื่อนบ้าน

เข้าใจได้ว่ารามเกียรติ์ของไทยคงมิได้ถ่ายทอดจากรามายณะฉบับใดโดยตรง หากแต่ประมวลเอาเนื้อเรื่องจากสำนวนต่างๆ โดยคัดเลือกในส่วนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม อุปนิสัยและวิสัยทัศน์ของคนไทย

รามายณะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยมีทั้งที่มาจากอินเดียโดยตรง หรือผ่านชาติเพื่อนบ้าน เช่น ชวา มลายู โดยมีการเผยแพร่เข้ามาเป็นระยะๆ มิได้มาในครั้งเดียว ทั้งในรูปแบบของวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์ จึงทำให้เนื้อเรื่องผิดเพี้ยนไปบ้าง”…

เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้กวี นักปราชญ์ราชบัณฑิตประชุมกันแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อปี พ.ศ. 2340 หลังการปราบดาภิเษก 15 ปี บทละครรามเกียรติ์ฉบับนี้มีเนื้อหาสมบูรณ์กว่าฉบับอื่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชวิจารณ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ไว้ในหนังสือบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ว่า “สังเกตได้ว่าพระราชประสงค์คือจะรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ไว้ให้ได้หมดมากกว่าที่จะใช้สำหรับเล่นละคร”

ส่วนเนื้อหาของรามเกียรติ์ก่อนหน้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ยากจะหาฉบับที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ สืบเนื่องมาจากความเสียหายในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2

เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า การค้นหาพัฒนาการหรือต้นตอของการดัดแปลงภัสมาสุร (Bhasmasura) มาสู่ “นนทก” คงยากจะหาหลักฐานบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผ่่านผู้ประพันธ์ลายมือ ต้นฉบับที่หยิบมาอ้างอิงหรือดัดแปลงก็มีหลายแหล่ง อาจมีทั้งนำคติความเชื่อแบบพุทธเข้ามาผสมด้วย

หากพิจารณาในแง่มุมเชิงพัฒนาการของเนื้อเรื่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ แสดงความคิดเห็นว่า รามายณะเป็นสมบัติของมนุษย์ เพราะฉะนั้น คนในแต่ละพื้นที่ แต่ละห้วงเวลามีสิทธิที่จะนำเรื่องนี้มาเล่าใหม่ผ่านการตีความของตัวเองได้ เช่น กรณีนนทกโดนแกล้งก็เป็นการนำมหากาพย์มาเล่าใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับบริบท หรือเนื้อสารที่อยากสื่อสาร

“งานพวกนี้เราไม่รู้จริงๆ ว่าคนเขียนต้องการอะไร เมื่อเราอ่านเองและตีความเอง สำหรับผมตีความ ผมมองว่าพูดถึงเรื่องอำนาจที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า การให้อำนาจกับคนที่ไม่เหมาะสมหรือเปล่า อันนี้ ไม่ได้หมายถึงตัวนนทก พระศิวะในเนื้อเรื่องก็ให้พรเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว”

“เรามองเรื่องรามเกียรติ์เป็นนิยาย…แต่ในอินเดีย รามเกียรติ์คือศาสนา หนุมานคือเทพเจ้า สีดาคือเทพเจ้า แม้กระทั่งทศกัณฐ์คือเทพ ไม่ใช่ผู้ร้าย เป็นเทพองค์หนึ่งในฮินดู คนแต่ละพื้นที่ตีความต่างกัน แต่ละเวลาก็ตีความต่างกัน

ผมเพิ่งอ่านการ์ตูนของทางอินเดีย เป็นสำนักพิมพ์ที่ทมิฬนาฑู แต่คนเขียนเป็นผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาเลย เป็นชาวเบงกาลี มีอาชีพวาดรูป เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ เล่าเรื่องรามเกียรติ์ แต่เขาเล่าจากมุมมองผู้หญิงชาวบ้าน ไม่ใช่นักสตรีนิยม เขาเล่าเรื่องนี้จากมุมมองของนางสีดา

ผมคิดว่าก็เป็นสิทธิ์ของเราทุกคนที่จะนำตัวละครเหล่านี้ เรื่องราวเหล่านี้มาเล่าใหม่ มันก็เป็นมรดกของเรา มันก็อาจสะท้อนวิธีคิด ความกังวลใจ ความปรารถนาของเราที่เปลี่ยนไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ กล่าว

ธรรมะ ปราบ อธรรม ?

ด้าน บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้ทำงานคลุกคลีด้านอักษรศาสตร์มายาวนานแสดงความคิดเห็นถึงเนื้อหา “นนทกโดนแกล้ง” ฉบับ 2020 ไว้ว่า

“เราต้องเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่แต่งขึ้น อย่างเรื่องนนทุกที่ทำเป็นการ์ตูนก็เหมือนกัน อยู่ในคอนเซปต์ที่เรียกว่าธรรมะชนะอธรรม แต่ดูกันจริงๆ แล้ว ถ้าดูตั้งแต่ทีแรก เราก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่า สิ่งที่เราบอกว่าปราบอธรรม คนที่อ้างตัวเป็นฝ่ายธรรมะ จริงๆ แล้วธรรมะจริงหรือเปล่า ทุกอันดูเหมือนว่าเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและสังคมของตัวเองเท่านั้น…

ฝ่ายว่านนทกก็รำตาม ด้วยความพิสมัยใหลหลง
ถึงท่านาคาม้วนหางวง ชี้ตรงถูกเพลาทันใด ฯ

ด้วยเดชนิ้วเพชรสิทธิศักดิ์ ขาหักล้มลงไม่ทนได้
นางกลายเป็นองค์นารายณ์ไป เหยียบไว้จะสังหารราญรอน ฯ

เนื้อหาด้านบนคือส่วนหนึ่งของ “รามเกียรติ์” ที่คนไทยรู้จักกันดีในช่วงที่นนทก ชี้นิ้ววิเศษไปที่ขาตัวเองตามการหลอกล่อของนางอัปสรที่เป็นพระนารายณ์แปลงกายมา

บุญเตือน ศรีวรพจน์ แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าว่ากันไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างชวนให้ติดตามมากกว่า เพราะถ้าเรื่องจบก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกเรื่องที่แต่งขึ้นมา มันต้องการความต่อเนื่อง สังคมทุกสังคมต้องการความต่อเนื่อง จากอันนี้แล้วไปอันนั้น มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของอนาคตว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้จบลงแค่นี้ ต้องมีบทต่อ

“ในที่สุดคำสาบนารายณ์ ก็บอกลึกๆ อยู่ว่าไม่ว่าแกจะเป็นอะไร ฉันก็ต้องปราบให้ได้ นี่คือพื้นฐานของคำสาบทั่วๆ ไป ซึ่งทุกคนเข้าข้างตัวเองหมด” บุญเตือน ศรีวรพจน์ แสดงความคิดเห็น

ในขณะที่ไทยรับเอาเรื่องรามายณะเข้ามา บุญเตือน ศรีวรพจน์ อธิบายไว้สอดคล้องกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ว่า ไทยเอาความชื่นชมในพื้นฐานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ตัวเองใส่เข้าไปด้วย

บุญเตือน ศรีวรพจน์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า

“หนุมานในอินเดียจริงๆ ดำรงสถานะเป็นพรหมจารี ถ้าว่าจริงๆ คือเป็นคนถือศีล ไม่มีลูก ไม่มีเมีย พอหนุมานไทยไปเป็นชู้กับเมียชาวบ้าน มีเมีย 4-5 คน เอาลักษณะ เอาค่านิยมของสังคมไทยไปใส่ พอเป็นเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นมา ในความเห็นผม ผมยังมีความเชื่อส่วนตัวว่า บทบาทสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรามเกียรติ์ไทยคือรามเกียรติ์เขมร

รามเกียรติ์เขมรยุคหลังพระนคร จะมีวรรณคดีหนึ่งเรื่องชื่อ เรียมเกร์ เรียมคือราม คำว่าเกร์ คือเกียรติ ก็คือรามเกียรติ์นั่นเอง พอเข้ามาเป็นไทย เราก็เอาเรียมเกร์ มาเป็นรามเกียรติ์ ถ้าดูลักษณะการตั้งชื่อเรื่อง ในวรรณคดีไทย เราไม่ได้ตั้งเรื่องในลักษณะอย่างนี้ แต่เป็นวิธีการของเขมร 

อย่างของไทย เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลาย เอาพระเอกมาตั้งเป็นชื่อ เช่นเรื่อง พระอภัยมณี เอานางเอกมาตั้งเป็นชื่อ อย่างเช่น กากี ถ้าเราดูจากภาพจำหลักที่ปราสาทบันทายศรี และปราสาทนครวัด รูปทศกัณฐ์ที่อยู่ที่ปราสาททั้งสองแห่งไม่ใช่รูปแบบของอินเดีย หน้าของยักษ์ในอินเดียจะออกไปข้างๆ การที่ตั้งซ้อนชั้นๆ อยู่บนหัวอย่างหน้าหัวโขนของทศกัณฐ์ รูปแบบนี้ปรากฏในปราสาทนครวัดด้วย และปรากฏที่ปราสาทบันทายศรีด้วย อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะ เราคิดว่ารูปแบบอันนี้น่าจะมาจากทางเขมรด้วย 

พอเรารับเข้ามา เรื่องราวต่างๆ มีข้อความหัวเรื่องจากอินเดียก็จริง พอเข้าถึงไทยมีเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเยอะไปหมดจนเป็นรามเกียรติ์ไทย และผมเชื่อว่า รามเกียรติ์ไทยก็ต่างจากเรียมเกร์ของเขมร รามเกียรติ์ไทยก็ต่างจากรามายณะของอินเดีย คือการสร้างสรรค์งานในลักษณะความคิด ความเชื่อ ระบบของวัฒนธรรมไทยใส่ไปในเรื่องนี้ จึงเกิดรามเกียรติ์อันนี้ขึ้น รวมทั้งเรื่องนนทกที่ว่า 

เราจะเห็นว่าท่ารำต่างๆ ที่นนทก รำตามนารายณ์แปลง เป็นท่าครูของรำไทย หรือเรียกว่ารำแม่บท ขึ้นต้นตั้งแต่

เทพพนมปฐมพรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน

ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน กินรินเลียบถ้ำอำไพ

อีกช้านางนอนภมรเคล้า ทั้งแขกเต้าผาลาเพียงไหล่

เมขลาโยนแก้วแววไว มยุเรศฟ้อนในอัมพร

ลมพัดยอดตองพรหมนิมิต ทั้งพิสมัยเรียงหมอน

ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์

ฝ่ายนนทกก็รำตาม ด้วยความพิสมัยใหลหลง

ถึงท่านาคาม้วนหางวง ชี้ตรงถูกเพลาทันใด ฯ 

(คลิกอ่านเพิ่มเติมจาก บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมุดไทยเล่มที่ 3)

จะเห็นว่าเป็นท่ารำไทยโบราณ เอาใส่เสริมแต่งเข้าไป เรื่องใหม่ที่เขาเอามาทำ (นนทกโดนแกล้ง) ในความเห็นผมคิดว่าเป็นสิ่งดีงาม การสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นเพื่อสนับสนุน มอบให้สังคม เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ผมดูแล้วผมยังชอบเลย” 


อ้างอิง:

บทละครเรื่องรามเกียรติ์. ออนไลน์. ห้องสมุดิจิทัลวชิรญาณ. เข้าถึงเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563. <https://vajirayana.org/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%8C>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563