โลกของงูในความเชื่ออินเดีย-กรีกโบราณ สู่ “หมองูมอญ” วิถีชีวิตจริงไม่ตัดต่อ ไม่ใช้สตันท์

หมองู อินเดีย งู

หมองูมอญ ไม่ได้เป็นอาชีพและมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาหากินกับงูเหมือนชนเผ่าในอินเดีย ทว่าเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่สืบทอดสายเลือดซึ่งมีงูเป็นสัญลักษณ์ผีประจำตระกูล เรียกให้กระชับว่า “ผีงู” เชื่อกันว่างูเป็นบรรพชน ปู่ย่าตายาย ที่ลูกหลานเรียกว่า “ปะจุ๊” และให้ความเคารพ ห้ามทุบตี โดยงูจะให้คุณแก่ลูกหลานในการปกป้องครอบครัวและทรัพย์สิน รวมทั้งลูกหลานมักจะไม่ถูกงูทำร้าย และยังสามารถรักษาคนถูกงูกัดให้หายได้ โดยไม่ต้องดูดพิษ เสกเป่าคาถา หรือดื่มทาสมุนไพรแต่อย่างใด ใช้เพียงการตั้งจิตบอกกล่าว ให้ถอนพิษซึ่งลูกหลาน “ปะจุ๊” กัดยอกและคายพิษไว้

สมัยโบราณมีการแบ่งคนมอญออกเป็น 3 กลุ่ม ตามถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม โดยมีสัญลักษณ์ผี (Totem) ในการเคารพบูชาบรรพชนของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ได้แก่

1. “โหม่นเตียะ” มีถิ่นฐานอยู่แถบเมืองพะสิม (สิเรียม) สัญลักษณ์ผี คือ “มะพร้าว” (มะพร้าวแก่ที่ยังมีหางหนูติดอยู่ที่ขั้ว)

2. “โหม่นเติ่ง” มีถิ่นฐานอยู่แถบเมืองหงสาวดี สัญลักษณ์ผี คือ “ผ้า” (เสื้อ โสร่ง ผ้าถุง ผ้าสไบ)

3. “โหม่นญะ” มีถิ่นฐานอยู่แถบเมืองสะเทิม เมาะตะมะ และเมาะลำเลิง มอญพวกนี้เชื่อกันว่าอพยพมาจากแถบลุ่มน้ำโคธาวารี เมืองตะลิงคะ (Tailinga) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย สัญลักษณ์ผี คือ “กระบอกไม้ไผ่” (บรรจุน้ำและใบหว้า)

เชื่อกันว่าภายหลังมีการแต่งงานข้ามกลุ่มและนำสัญลักษณ์ผีที่แต่ละฝ่ายนับถือมาปะปนหรือรวมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นสัญลักษณ์ผีมากมายในปัจจุบัน เช่น หม้อ ผ้า กระบอกไม้ไผ่ ข้าวเหนียว กล้วยหอม มะพร้าว เต่า ไก่ ช้าง ม้า และงู

ดังนั้น การนับถือผีบรรพชนผ่านสัญลักษณ์ผีชนิดต่างๆ ในปัจจุบันจึงมีลักษณะของการผสมผสาน โดยทั่วไปจะมีข้าวของเครื่องใช้ผี คือ ผ้านุ่งผ้าห่ม (เสื้อ โสร่ง สไบ) และแหวนทองหัวพลอยแดง บางตระกูลจะเพิ่มมะพร้าวหางหนู กระบอกไม้ไผ่ หอก ดาบ กริช หรือหม้อดินเข้าร่วมด้วย

ข้อห้ามของการนับถือผีที่เหมือนกันคือ ห้ามคนนอกตระกูลเข้าตัวเรือนชั้นใน โดยเฉพาะในห้องซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาผี (เสาเอก) ห้ามคนนอกตระกูลเข้ามานอนบนเรือนในลักษณะผัวเมีย (นอนร่วมมุ้งหรือเตียงเดียวกัน) และที่สำคัญ ห้ามสตรีมีครรภ์นั่งพิงหรือยืนพิงเสาผี นอกนั้นในแต่ละตระกูลจะมีรายละเอียดข้อห้ามที่แตกต่างกันไปตามสัญลักษณ์ผี เช่น ผีเต่า เมื่อพบเต่าจะต้องนำมาทำอาหารเซ่นไหว้ผี หากไม่ต้องการทำบาปด้วยการฆ่าเต่าก็ต้องแสร้งบอกว่า “ตัวเน่า” หรือ “ตัวเหม็น” (ซะอุย)

เมื่อถึงเวลาที่มีการรำผีมอญเพื่อเลี้ยงผี ตอบแทนคุณที่ให้โชคลาภ ขอขมาที่ทำผิดจารีตประเพณี หรือตามที่ได้บนบานไว้ขอให้หายป่วยหรือคนหายออกจากบ้านกลับคืนมา จะต้องนำเต่ามาทำอาหารเซ่นไหว้ผีด้วย ผีข้าวเหนียว ห้ามให้ข้าวเหนียวกับคนอื่น ถ้าขโมยเอาโดยเจ้าของไม่รู้ไม่เห็นได้

ส่วน ผีงู พบเจองูไม่ว่าที่ใดห้ามตีโดยเด็ดขาด เพราะถือว่างูคือบรรพชน ในการรำผีก็จะต้องนำงู (ปัจจุบันนิยมใช้ปลาไหลแทน) มาทำอาหารเซ่นไหว้ผี

จากการที่ผู้เขียนสำรวจชุมชนมอญทั่วไปทั้งในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาร์ และชุมชนมอญในเมืองไทย พบว่าคนมอญส่วนใหญ่นับถือผีเต่า รองลงมาคือ ข้าวเหนียว ไก่ หม้อ และงู ซึ่งการนับถือ ผีงู ของคนมอญมีข้อกำหนดตามที่ได้กล่าวแล้วข้างบน พบตระกูลมอญผีงูที่แตกต่างไปจากชุมชนแห่งอื่นๆ และผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ก็คือ ตระกูลมอญผีงูชุมชนบ้านทุ่งเข็น อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีการรักษาคนถูกงูพิษกัดให้หายได้ เป็นที่รับรู้และเชื่อถือของคนมอญข้างเคียงและชุมชนคนไทย จีน ลาว ญวน และกะเหรี่ยงที่อยู่โดยรอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตามที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า บรรพชนคนมอญส่วนหนึ่งน่าจะมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในอินเดียเมื่อหลายพันปี ก่อนจะอพยพมายังสุวรรณภูมิหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่ามาจากเมืองตะลิงคะ (Tailinga) รัฐโอริสสา (Orissa) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย

ขณะที่บางท่านเชื่อว่ามาจากทางเหนือของอินเดีย ซึ่งก็มีร่องรอยอยู่ในตำนานเรื่องเล่า รูปแบบภาษาและวัฒนธรรมหลากหลายประการ ในส่วนของชุมชนมอญบ้านทุ่งเข็น ที่นับถือผีงูและมีการรักษาคนถูกงูพิษกัดได้นี้ ทำให้นึกถึงชนเผ่าคาลเบเลีย (Kalbelia) ในเมืองพุชกา (Pushkar) รัฐราชสถาน (Rajasthan) ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงในแง่นี้ ก็พบว่ามีความเป็นไปได้อีกที่อาจเป็นไปได้ว่า คงจะมีมอญกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของอินเดีย

หมองูชาวคาลเบเลีย

ชนเผ่าคาลเบเลีย (Kalbelia) ในอินเดีย เมื่ออดีตจำนวนมากประกอบอาชีพ “หมองู” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งโลก แม้ว่าชนเผ่านี้จะเป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อนเล็กๆ แต่ภาพหมองูชาวคาลเบเลียได้กลายเป็นภาพติดตาของคนทั่วไป จนแทบเรียกได้ว่าเป็นภาพจำแทนคนอินเดียทั้งหมด อย่างที่คนไทยจำนวนมากคุ้นเคยกันดีในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ กับภาพผู้ชายอินเดีย มีผ้าโพกศีรษะนั่งเป่าปี่เรียกงูให้โผล่หัวขึ้นจากตะกร้าพร้อมเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของปี่ได้ราวถูกมนต์สะกด

เมืองพุชกา รัฐราชสถาน ถือเป็นศูนย์กลางของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายพรหม นับได้ว่าเป็นเมืองแห่งพระพรหม ชนเผ่านี้บูชางูและยึดอาชีพหมองูในการดำรงชีพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมาชิกของเผ่าทุกคน ทุกเพศ และวัย มีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับงู แม้แต่เด็กเล็กก็สามารถจับงูได้ โดยเฉพาะงูเห่า

จุดเริ่มต้นในการนับถืองูของชาวเผ่าคาลเบเลีย คือ กูรู โครัคนาถ (Guru Gorakhnath) อันเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชาวคาลเบเลีย มีอวตาร 9 ภาคด้วยกัน และทุกคนในเผ่ามีนามสกุลเดียวกัน คือ “นาถ” 1 ใน 9 ภาคอวตารของโครัคนาถ

หมองูชาวคาลเบเลียจะออกจับงูในธรรมชาติ ด้วยการเป่าปี่เรียกให้ออกมาจากรูในช่วงฤดูฝน จากนั้นนำมาสะกดจิต เสกด้วยหิน 7 ก้อน เป็นเวลา 40 วัน (ซึ่งรวมทั้งการรีดพิษออกด้วย) หลังจากนั้นงูก็จะอยู่ในกำกับ ไม่เป็นพิษภัย แม้แต่เด็กๆ ก็สามารถเล่นหรือจับงูได้ หลังจาก 40 วันผ่านไปจะต้องนำงูไปปล่อยในป่า เพราะงูจะสร้างพิษขึ้นได้ใหม่และจะกลับมากัดคนได้ แม้แต่ตัวหมองูเองก็ตาม

หมองูชาวคาลเบเลียจะนำงูตระเวนแสดงเพื่อเร่ขายยา (เซรุ่ม) ที่ผลิตจากพิษงูที่ได้รีดไว้ออกขาย และสมุนไพรถอนพิษงู รวมทั้งสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น แมงป่อง ตะขาบ และรักษาโรคตา ซึ่งพิษงูสามารถรักษาตาได้ดี ดังจะเห็นได้ว่า ชนเผ่าคาลเบเลียไม่มีคนตาบอด และแทบไม่มีคนสายตาพิการเลย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียได้ออกประกาศห้ามประกอบอาชีพหมองูดังกล่าว ตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ โดยอ้างภาพลักษณ์ประเทศต่อสายตาชาวโลก ในเรื่องของการกักขังสัตว์ และความอันตรายจากสัตว์มีพิษ ทำให้เหลือชาวคาลเบเลียที่ประกอบอาชีพหมองูน้อยลงทุกที พวกเขาจำต้องปรับตัวด้วยการแสดงระบำโดยหญิงสาวของชนเผ่าตามจังหวะดนตรีที่บรรเลงโดยอดีตหมองูขึ้นทดแทน

คนอินเดียส่วนใหญ่เชื่อกันว่า คนที่ถูกงูกัด คือคนที่ไม่มีบาป ไม่มีราคีติดตัว ซึ่งความเชื่อที่ว่าคนถูกงูกัดไม่มีราคี อาจสืบเนื่องมาจากพวกพราหมณ์ฮินดู ดังจะเห็นว่า พระศิวะที่มีงูคล้องพระศอ ที่มาของงูพิษนี้เกิดจากนักบวชผู้หนึ่งซึ่งมีภรรยาหลายคนแล้วภรรยาของตนเกิดมาหลงรักพระศิวะเข้า นักบวชดังกล่าวจึงส่งงูพิษมาทำร้าย แต่งูพิษกลับพ่ายแพ้มนต์ของพระศิวะ ถูกจับมาคล้องพระศอเป็นสังวาล (สร้อยคอ) เครื่องประดับของพระองค์ และงูเห่ายังเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะเปรียบได้กับศิวลึงค์

นอกจากนี้ งูยังถูกใช้เป็นสายธุรำ (เครื่องหมายวรรณะพราหมณ์) และสายโยคปัตต์ (สายคาดไหล่) ของพระพิฆเนศอีกด้วย ต่อมางูก็ได้กลายเป็นสายยัชโญปวีต สำหรับแสดงอำนาจของพวกพราหมณ์ คนอินเดียจึงเชื่อว่างูจะไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่นับถือพระศิวะและพระพิฆเนศ

งูในกรีก

ชาวกรีกโบราณมีความเชื่อว่างูสามารถรักษาคนได้ ความเชื่อนี้ได้ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า รูปงูพันไม้เท้าซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์กันโดยทั่วไปในแวดวงการแพทย์ทั่วโลกนั้น เดิมทีเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเทพเอสคูลาปิอุส (Aesculapius) กล่าวกันว่า รูปปั้นเทพเจ้าในลักษณาการผู้ชายเครายาวถือไม้เท้ามีงูพัน ดังกล่าวนี้ มักปรากฏอยู่ในโบสถ์ของอิตาลียุคต้นเสมอ

รูปปั้น Aesculapius ในโรม ภาพจาก https://wellcomecollection.org/works/ebud7v5b (CC-BY-4.0)

นิยายของกรีกโบราณกล่าวถึงประวัติของเทพเอสคูลาปิอุสไว้ว่า วันหนึ่งคนเลี้ยงแพะได้ไปพบทารกคนหนึ่งนอนร้องไห้อยู่บนภูเขา มีแพะตัวหนึ่งกำลังให้นมของมันแก่ทารกดูดกิน คนเลี้ยงแพะจึงเข้าไปอุ้มและเห็นรัศมีเกิดขึ้นรอบๆ ศีรษะของเด็กเป็นที่อัศจรรย์ คนเลี้ยงแพะจึงรู้ได้ทันทีว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของเทพเจ้า กล่าวคือ ทารกนี้เป็นบุตรของเทพอพอลโล (Apollo) กับนางโคโรนิส (Coronis) แต่เมื่อเทพอพอลโลทราบว่านางโคโรนิสมีชู้จึงยิงด้วยธนู แล้วผ่าเอาทารกในครรภ์ของนางไปฝากไว้กับคิรอน (Chiron) ต่อมาเด็กคนนี้ได้ชื่อว่า เอสคูลาปิอุส

เอสคูลาปิอุสอยู่กับคิรอน ซึ่งเป็นนักรบผู้มีร่างกายประหลาด ครึ่งม้าครึ่งคน เอสคูลาปิอุสได้ช่วยคิรอนเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ และคิรอนได้ถ่ายทอดวิชาความรู้พืชพรรณสมุนไพรต่างๆ ให้ จนเอสคูลาปิอุสมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตำนานบางแห่งกล่าวว่า เอสคูลาปิอุสได้ค้นพบสรรพคุณยาบางชนิดซึ่งสามารถรักษาโรคให้พวกนักรบที่ไปเอาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำของราชาออสเตรียและสเปน ซึ่งมีม้ามังกรเฝ้าอยู่นั้นมาได้ จึงทำให้ชาวเมืองเกิดความเลื่อมใสและพากันมารักษาเป็นอันมาก

เอสคูลาปิอุสมีความสามารถรักษาคนตายให้ฟื้นขึ้นมาได้ เป็นตัวยาที่ได้จากกาฝากต้นโอ๊ก แต่ก็ด้วยความสามารถอันวิเศษนี้เองที่ทำให้เอสคูลาปิอุสถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการรักษาของเขาที่ทำให้คนตายน้อยลง สร้างความโกรธแค้นให้กับเทพพลูโต หรือพญายม ด้วยทำให้ยมโลกเงียบเหงา เทพพลูโตจึงได้ร้องทุกข์ไปยังเทพจูปีเตอร์ (บางตำนานว่าเอสคูลาปิอุสถูกเทพพลูโตใส่ความว่าหลอกลวงประชาชนให้หลงรักเพื่อให้ได้มาซึ่งราชบัลลังก์) เทพจูปีเตอร์ไม่ทันไต่สวนทวนความ ส่งสายฟ้าฟาดลงมาต้องเอสคูลาปิอุสเสียชีวิตทันที

เทพอพอลโลเห็นลูกของตนถูกฆ่าตายจึงโกรธแค้น จับยักษ์ตาเดียวของเทพพลูโตฆ่าเป็นการตอบแทน ภายหลังเทพจูปีเตอร์รู้ความจริง เกิดสำนึกผิดที่ตัดสินใจชั่วแล่น จึงได้อุ้มเอสคูลาปิอุสไปยังภูเขาโอลิมปัสเพื่อให้วิญญาณของเอสคูลาปิอุสไปจุติเป็นเทพเจ้าแห่งงู (ในสมัยนั้นผู้คนมักจะรักษาโรคด้วยงู โดยการนำเอาพิษงูมาทำยา)

มีเรื่องกล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งได้เกิดกาฬโรคระบาดขึ้นในกรุงโรม ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก เอสคูลาปิอุสได้นำเอางูพิษมาซุ่มซ่อนไว้ตามพงหญ้าริมแม่น้ำ ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้และได้มาอาบกินน้ำในแม่น้ำที่งูได้คายพิษไว้หายป่วยไข้จากโรคร้ายเป็นที่อัศจรรย์

เหตุที่งูเข้ามาเกี่ยวข้องกับเอสคูลาปิอุส มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่เอสคูลาปิอุสกำลังรักษาคนไข้อยู่ ได้มีงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาในโรงรักษาคนไข้ของเขา โดยขึ้นไปพันอยู่โดยรอบไม้คทาประจำตัวของเขา ผู้คนทั่วไปจึงพากันเชื่อว่า เหตุที่เอสคูลาปิอุสมีวิชารักษาโรคภัยล้ำเลิศกว่าผู้อื่นก็ด้วยฤทธีที่งูตัวนั้นบันดาลให้นั่นเอง

ตำนานได้กล่าวว่า เมื่อเทพจูปีเตอร์ฆ่าเอสคูลาปิอุสแล้ว ก็ได้ทำรูปจำลองขึ้นไว้บนสวรรค์ ลักษณาการในท่ามือถืองู และแม้จะมีรูปเอสคูลาปิอุสนั้นในลักษณาการแตกต่างหลากหลายแต่ก็จะต้องมีงูอยู่ด้วยเสมอ และนับแต่นั้นมา ผู้คนก็ได้ถือเอาเอสคูลาปิอุสเป็นบรมครูแห่งวงการแพทย์ เช่นเดียวกับชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งวงการแพทย์ในสมัยพุทธกาล

ด้วยเหตุนี้ วงการแพทย์ทั่วโลกในปัจจุบันซึ่งได้รับเอาแนวคิดมาจากตะวันตก จึงใช้รูปงูเป็นสัญลักษณ์ ตามตำราโบราณที่ระบุว่ามีการใช้พิษงูในการรักษาโรค รวมทั้งชาวกรีกยังมีความเชื่อว่า งูเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญของชีวิตและการเกิดใหม่ ด้วยถือว่าการลอกคราบของงูนั้นคือการฟื้นคืนจากความตาย

งูในตำราจีนโบราณ

ดังที่กล่าวแล้วก่อนหน้านี้ ไม่เพียงแต่ชาวกรีกและชาวอินเดียโบราณเท่านั้น ความเชื่อเรื่องการใช้งูรักษาโรคยังปรากฏอยู่ในตำราชาวจีนโบราณ มีการใช้งูเห่าดองยาในการรักษาโรคภัย และในนิยายโบราณของจีนก็ได้กล่าวถึงคนกินเหล้าที่มีงูตกลงไปตายแล้วหายจากโรคร้าย

อย่างไรก็ตาม ในยุควิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยปัจจุบัน ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า งูสามารถรักษาคนได้จริง ด้วยการสกัดพิษงูออกเป็นเซรุ่มรักษาคน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าความเชื่อเหล่านี้มีอยู่ในคนโบราณทั่วทุกมุมโลก อาจเป็นไปได้ว่าเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ก่อนที่ผู้คนจากโลกสองฟากจะได้โคจรมาพบกัน เช่นเมื่อกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้าโจมตีเมืองตักสิลา (Taxila) แคว้นคันธาระ ในอินเดีย เมืองศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาและพราหมณ์ฮินดู เมื่อ พ.ศ. 216 อาจเป็นไปได้ว่า ครั้งนั้นความรู้จากโลกตะวันตกและโลกตะวันออกได้เกิดการปะทะสังสรรค์ มีการชำระตรวจสอบกันและกัน จนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่ที่เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติในทุกวันนี้

แม้ผู้เขียนจะรับรู้ความเป็นมาของชนชาติมอญตามสมควรเมื่อก่อนหน้าในส่วนที่เชื่อกันว่า ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมอญมีแบบแผนมาจากวัฒนธรรมอินเดีย แต่ก็ไม่เคยระแคะระคายมาก่อนว่า คนมอญตระกูลผีงูสามารถรักษาคนถูกงูกัดได้ เป็นการรักษาที่ผู้เขียนพบเห็นด้วยตาตนเอง ไม่ได้เป็นการรักษาในทางกายภาพ เช่น ดูดพิษด้วยปาก การใช้ยาสมุนไพร หรือไสยศาสตร์คาถาอาคมแต่อย่างใด เป็นเพียงการตั้งจิตด้วยพลังศรัทธาที่มีต่อบรรพชนของลูกหลานตระกูลผีงู กล่าวขอขมาให้ “ปะจุ๊” คำเรียกที่หมายถึง “งู” อันเป็นบรรพชนได้ถอนพิษจากผู้ที่ถูกงูกัดเพียงเท่านั้น ชั่วเวลาเพียงเสี้ยวอึดใจ คนถูกงูกัดก็สามารถกลับบ้านได้

ช่วงที่ผู้เขียนไปใช้เวลาเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ในชุมชนมอญบ้านทุ่งเข็น ชุมชนมอญแห่งเดียวที่มีการรักษาคนถูกงูกัด ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้เขียนเพิ่งได้ยินเมื่อไม่นาน แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เห็นด้วยตา เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปิดโลกให้ผู้คนรุดหน้าไปมาก แม้จะยังมีหมองูผู้รักษา แต่ผู้เขียนไม่มั่นใจว่าจะยังมีผู้มารับการรักษา (คนไข้) เพราะเป็นที่ทราบกันดี การตัดสินใจเข้ารับการรักษาใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนโบราณหรือแผนปัจจุบัน ต้องอยู่บนความศรัทธาของทั้ง 2 ฝ่าย การรักษาจึงจะบรรลุผลสำเร็จ คนไข้ต้องศรัทธาในตัวหมอ และหมอก็ต้องศรัทธาในวิชาของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

“งูเห่า” หมายถึงอะไร ทำไมใครๆปฏิเสธไม่มีงูเห่า,ไม่เป็นงูเห่า

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หมองูมอญ” เขียนโดย องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2563