เบื้องหลังพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง ยกเลิกผี บำรุงพุทธเข้มข้น จับสึกพระนอกกรอบ

ภาพประกอบเนื้อหา - เจ้าฟ้างุ้ม ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง (By Chaoborus, via Wikimedia Commons)

อาณาจักรล้านช้าง ปกครองดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงช่วงที่ราบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ประชากรในเวลานั้นนับถือศาสนาพุทธคู่กับบูชาผีฟ้าผีแถน และผีบรรพบุรุษ ในสมัย พระเจ้าโพธิสาลราช เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างก่อนย้ายราชธานี ถือเป็นช่วงที่พุทธศาสนารุ่งเรือง โปรดให้ตรวจตราบรรดาพระภิกษุทั้งหลายในเมืองเวียงจันทน์ รูปใดที่ประพฤติไม่เหมาะสมให้จับสึก

อาณาจักราล้านช้างเมื่อเกือบ 500 ปีก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งดินแดนที่ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรือง ปรากฏความพยายามของฝ่ายบ้านเมืองในการดำรงรักษาพระพุทธศาสนา จับสึกพระสงฆ์นอกรีต ดังในสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช ซึ่งจากการศึกษาของ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ ผู้เขียนบทความ “รื้อหอผี-จับสึกพระ : การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2562 อธิบายไว้ว่า พระเจ้าโพธิสาลราชเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ก่อนย้ายราชธานีจากเมืองหลวงพระบางไปยังเมืองเวียงจันทน์) เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าวิชุลราช พระเจ้าโพธิสาลราชครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2063-90 ในรัชกาลของพระองค์ปรากฏการอุปถัมภ์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างมาก

ดร. ธีระวัฒน์ บรรยายเพิ่มว่า จากเนื้อหาในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางที่ระบุว่า พระองค์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีบุญญานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระแซกคำซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ก็ยังกระทำปาฏิหาริย์เสด็จไปสถิตอยู่เมืองหลวงพระบางในรัชกาลของพระองค์ ทำให้พระองค์ได้รับการถวายพระนามว่า “พระยาโพธิสาระมหาธรรมิกราชาธิราช”

ช่วงต้นรัชกาล ปรากฏคณะทูตเดินทางไปเมืองเชียงใหม่เพื่อขอพระสงฆ์จากพระเมืองแก้วแห่งอาณาจักรล้านนาให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านช้าง พงศาวดารโยนกปรากฏเนื้อหาว่า “…ในปีมะแม เบญจศก จุลศักราช 885 (พ.ศ. 2066) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต แต่งทูตเชิญราชสาส์นมายังเมืองนครเชียงใหม่ ขอพระสงฆ์และพระไตรปิฎกธรรม ไปสืบศาสนาในมลาประเทศ พระเจ้านครเชียงใหม่จึงให้อาราธนาพระเทพมงคลเถรกับภิกษุ พอคณะสงฆ์นำพระไตรปิฎก 60 พระคัมภีร์ ไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต…”

และยังพบว่าพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาองค์ต่อมายังได้พระราชทานนางยอดคำ พระราชธิดาให้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าโพธิสาลราชด้วย

พระองค์โปรดให้สร้างวัดหลายแห่ง เช่น วัดศรีสวรรคเทวโลก วัดอุโบสถ และวัดพูเหมือด ในเมืองหลวงพระบาง มีพระบรมราชโองการพระราชทานเขตที่ดินให้กับวัดหลายแห่ง เช่น วัดแดนเมือง (วัดปัจจันตบุรี) ในเมืองปากห้วยหลวง ซึ่งเป็นเมืองโบราณในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นต้น และทรงสร้างศาสนสถานอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา เช่น กลุ่มโบราณสถานสัตตมหาสถานวัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ ภายใต้อิทธิพลทางพระพุทธศาสนาจากล้านนา

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ในล้านช้างมีความเชื่อเรื่องผีแถนผีฟ้าในหมู่ชาวบ้านมายาวนานก่อนสถาปนาอาณาจักร เมืองต่างๆ สร้างหอผี ดังเช่น หอไหว้ผีแถนผีฟ้าที่สบดงในหลวงพระบาง กลุ่มผู้ปกครองเมืองหลวงพระบางในอดีตก็อ้างสถานะความสัมพันธ์ทางผีแถนหลวงเพื่อสร้างอำนาจ และเลี้ยงหรือส่งอาหารทำพิธีบูชาอยู่ไม่ขาด ความเชื่อเรื่องผีนี้เองทำให้การนำพระพุทธศาสนาขึ้นมาประดิษฐานยังเมืองหลวงพระบางในรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้มไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากขุนนางและพลเมืองที่ยึดความเชื่อเดิมต่อต้าน เมื่อผ่านมาถึงรัชกาลพระเจ้าหล้าแสนไท กระแสต่อต้านถึงลดลง

พระเจ้าโพธิสาลราชครองราชย์ได้ 7 ปี ทรงมีพระราชอาชญาประกาศให้บ่าวไพร่พลเมืองยกเลิกนับถือผีฟ้าผีแถนอันเคยมีมาแต่โบราณกาล และให้รื้อบรรดาหอโรงกว้านศาลผีแถนในเมืองหลวงพระบางนั้น แล้วสร้างพระอารามขึ้นแทนที่ เพราะในทางพุทธศาสนา ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการนับถือผีแถนถือเป็นมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อหลักการทางพระพุทธศาสนาและอาจมีผลต่อการปกครองของราชสำนักล้านช้าง

เมื่อ พ.ศ. 2070 พระเจ้าโพธิสาลราชประกาศไปยังเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านช้างให้ยกเลิกนับถือผี ทั้งผีเหย้าผีเรือน และผีฟ้าผีแถน เนื่องจากการนับถือผีถือเป็นความเชื่อนอกรีตหรือเป็นมิจฉาทิฐิตามพระพุทธศาสนา ให้สร้างเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาขึ้นแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอไหว้ผีฟ้าผีแถนที่สบดง เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเจ้าผู้ปกครองทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านช้างจะมาทำพิธีไหว้ผีฟ้าผีแถนทุก 3 ปี ก็โปรดให้รื้อหอ แล้วสร้างเป็นวัดขนาดใหญ่แทน ตั้งชื่อวัดว่า “วัดศรีสวรรคเทวโลก” หรือที่ชาวหลวงพระบางเรียกว่า “วัดสังคโลก”

ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ อธิบายว่า นโยบายการรื้อหอไหว้ผีต่างๆ เป็นความพยายามประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและรุ่งเรือง อย่างไรก็ดี ยังมีผู้วิเคราะห์ว่า การรื้อหอผีในรัชกาลของพระองค์เป็นความพยายามที่จะดึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในท้องถิ่นให้เกี่ยวโยงกับพระพุทธศาสนา ด้วยความเชื่อว่าพุทธานุภาพสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามท้องถิ่นให้เข้ากับพระพุทธศาสนาได้

นอกเหนือจากการประกาศรื้อหอผี พระองค์พยายามทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย เพื่อให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงในอาณาจักร

พระเจ้าโพธิสาลราช มีพระราชอาชญาให้พระยาแสนสุรินทราชัยฯ พระยากลางกรุงราชธานี ขุนนางและราชบัณฑิต พร้อมด้วยพระมหาสามีสารสิทธิมังคละ ตรวจตราสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์ในเมืองเวียงจันทน์ หากพบว่าพระภิกษุรูปใดประพฤตินอกรีต ขัดต่อพระธรรมวินัยก็ให้สึกหรือลาสิกขาเสีย ดังข้อความในจารึกวัดแดนเมือง 2 จารึกด้วยอักษรไทยน้อย ภาษาไทย จารึกเมื่อ พ.ศ. 2078 พบที่วัดปัจจันตบุรี ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ใจความตอนหนึ่งว่า

“…ศักราชได้ 897 ปีมะแม ในภัทรมาส 27 คํ่า วันอังคารได้ฤกษ์บุษยสมเด็จบพิตร พระโพธิสาละราช ตนประกอบด้วยอาจุละประสาทศรัทธาในพุทธศาสนา จึงปลงพระอาตานาติย แต่ชุมพระยาทั้งปวง มีพระยาแสนสุรินทราชัยไกรเสนาธิบดีศรีสรราชสงครามและพระยากลางกรุงราชธานีเป็นประธาน เพื่อจักให้ขัดศาสนาพระพุทธเจ้าให้รุงเริง เมื่อหน้าจึงให้ข้าทหมื่นใต้เหนือ ทั้งราชบัณฑิตชื่อนันทกุมาร จำทูลพระราชอาชญาลงไปชำนิในพระพิหารทั้งปวงในจันทบุรีราชธานี มีมหาสามีสารสิทธิมังคละเป็นประธาน จักดูชาวเจ้าสมณพราหมณ์พระจารย์ตนเป็นสรมูดสุภาพรสิกขากามแท้ก็ให้แจ้ง ฝูงใดเป็นโจรสงฆ์ จักให้สึก…”

ความพยายามประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงภายในอาณาจักรล้านช้าง พยายามอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง เพื่อยกสถานะของพระองค์ให้เป็นพระมหาธรรมิกราชาธิราช

ในอีกด้านหนึ่ง ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ อธิบายว่า การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระองค์แฝงด้วยแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่อาศัยสถาบันทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมและเสริมอำนาจให้แก่สถาบันกษัตริย์ ทำให้พระภิกษุสงฆ์เป็นเครื่องมือของราชสำนักในการรวมศูนย์อำนาจและพิธีกรรมทางศาสนาไว้ที่ราชธานี

แม้จะเป็นผลสำเร็จ แต่ด้วยความเชื่อดั้งเดิมที่ฝังรากมายาวนาน การเลิกโดยเด็ดขาดนั้น เป็นไปได้ยาก เหตุนี้จึงมักเห็นการนับถือผีเข้าทรงลงเจ้ายังคงมีอยู่ในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย ปรากฏในประเพณีสำคัญต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “รื้อหอผี-จับสึกพระ : การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง” เขียนโดย ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2563