“เฮมมิงเวย์” นักเขียนดังกักตัวกับลูกที่ป่วย-ภรรยา และ “กิ๊ก” ในบ้านเดียวกันได้อย่างไร?

เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ นักเขียนอเมริกันชื่อดัง กับพอลลีน ไฟเฟอร์ ภรรยาคนที่ 2 ถ่ายเมื่อ 1927 ภาพจาก Ernest Hemingway Photograph Collection, John F. Kennedy Presidential Library, and Museum, Boston - Public Doamain

เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นักเขียนดังชาวอเมริกันซึ่งมีผลงานทรงอิทธิพลมากมายเคยต้องผ่านการกักตัวพร้อมภรรยาและบุตรชาย ขณะที่ลูกชายวัยเด็กป่วยในช่วง ค.ศ. 1926 แต่ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีสตรีนอกสมรสซึ่งพัวพันกันอยู่เข้ามาร่วมอาศัยในบ้านพักด้วย

เวลานั้นมีอุปกรณ์ไฮเทคไม่มากนัก สำหรับคนในยุคที่มีอุปกรณ์ไฮเทคมากมายเมื่อกักตัวเองในบ้าน นานวันเข้า บางรายเริ่มรู้สึกเบื่อบ้างแล้ว สำหรับเฮมมิงเวย์ ที่กักตัวในยุคไม่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยก็สามารถรอดมาได้ทั้งที่เขาต้องกักตัวพร้อมกับภรรยา(คนแรก)คือแฮดลีย์ ริชาร์ดสัน (Hadley Richardson) ลูกชายชื่อแจ๊ค และยังมีพอลลีน ไฟเฟอร์ (Pauline Pfeiffer) สตรีอีกราย(เวลานั้นยังเป็น “คนสนิท” ที่อยู่นอกสมรส)มาช่วยดูแลด้วย

เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ สร้างผลงานเขียนไว้ในยุค 20-50s ผลงานส่วนหนึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลทั้งพูลิตเซอร์ (The Old Man and the Sea สาขาบันเทิงคดีปี 1953) และโนเบล (สาขาวรรณกรรมปี 1954) ในช่วงกลางยุค 20s เฮมมิงเวย์ ยังแต่งงานอยู่กับแฮดลีย์ ริชาร์ดสัน ภรรยาคนแรกที่คนทั่วไปรับรู้ว่าเธอเปรียบเสมือนภาพตัวอย่างของภรรยาที่น่ารักน่าเอ็นดู คอยปรนนิบัติเฮมมิงเวย์ ตลอด ทั้งคู่มีลูกชายชื่อแจ๊ค ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 3 ขวบ พวกเขาเรียกบุตรชายวัยแรกเริ่มนี้ว่า “บัมบี้” (Bumby)

ก่อนหน้าเหตุการณ์ในปี 1926 ไม่กี่ปี เฮมมิงเวย์ และแฮดลีย์ เดินทางมาถึงปารีสแล้ว เฮมมิงเวย์ วางเป้าสร้างผลงานอันลือลั่นในวงการ เลสลีย์ เอ็มเอ็ม บลูม (Lesley M.M. Blume) นักเขียนหญิงเจ้าของผลงานหนังสือ “Everybody Behaves Badly: The True Story Behind Hemingway’s Masterpiece The Sun Also Rises” อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับเบื้องหลังผลงานชิ้นโบว์แดงของเฮมมิงเวย์ อย่าง The Sun Also Rises ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ HistoryNet เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเฮมมิงเวย์ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในอาชีพนักเขียนของเขาว่า ภายหลังเดินทางมาที่ปารีส ในช่วงที่เฮมมิงเวย์ กำลังสร้างผลงาน The Sun Also Rises เลสลีย์ ให้ความเห็นว่า ช่วงเวลานั้น เฮมมิงเวย์ รู้สึกว่าเขาต้องไขว่คว้าไปสู่ความยิ่งใหญ่

เขาใกล้ปล่อยผลงานนิยายที่สร้างชื่อให้เขาอย่างเรื่อง The Sun Also Rises กำลังจะเป็นนักเขียนที่มีสถานะโด่งดัง ขณะที่พวกเขาอาศัยในปารีส พวกเขาพบกับพอลลีน ไฟเฟอร์ (Pauline Pfeiffer) หญิงสาวที่ดูมีเสน่ห์ มีสไตล์ เธอทำงานสายนิตยสารกับแวนิตี้ แฟร์ (Vanity Fair) และ โวก (Vogue)

เลสลีย์ บลูม อธิบายว่า เฮมมิงเวย์ กับพอลลีน ไฟเฟอร์ สปาร์กกันในแบบที่เฮมมิงเวย์ ไม่สามารถรู้สึกได้กับแฮดลีย์ ทั้งในแง่ภายนอก และภายในซึ่งกรณีของไฟเฟอร์ เธอเป็นนักเขียนด้วย

ดังนั้น เฮมมิงเวย์ จึงสานสัมพันธ์ในขณะที่เขายังมีสถานะสมรสกับแฮดลีย์ ความสัมพันธ์ระหว่างเฮมมิงเวย์ กับไฟเฟอร์ พัฒนากลายมาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอาจพอกล่าวได้ว่าเป็นรักสามเส้า

เมื่อแฮดลีย์ รู้ความสัมพันธ์นี้เข้า เฮมมิงเวย์ กับเธอก็มาเผชิญหน้ากัน พวกเขาทะเลาะกันรุนแรง แต่ตัดสินใจว่าจะยังอยู่ในสถานะสมรสกันอยู่ เฮมมิงเวย์ มีกำหนดเดินทางไปสเปนเพื่อชมการสู้วัว ซึ่งเดิมทีแล้วแฮดลีย์ ต้องเดินทางไปพร้อมกัน แต่ด้วยลูกชายของพวกเขามีอาการไอ พวกเขากังวลว่าสเปน จะมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับลูกชายของเขา แฮดลีย์ ได้รับคำเชิญให้ไปพักที่ Cap d’Antibes ย่านของซาราห์ และเจรัลด์ เมอร์ฟีย์ เพื่อนที่มีฐานะร่ำรวยของพวกเขาซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักกันในนาม “วิลลา อเมริกา”

อาการไอของแจ๊ค เริ่มต้นมาก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึง Cap d’Antibes แล้ว เมื่อมาถึงก็ยิ่งแย่ลง เมื่อพวกเมอร์ฟีย์ พบเห็นเด็กน้อยเล่นกับลูกของพวกเขาทั้ง 3 คนก็ยิ่งกังวล จึงเรียกแพทย์มาตรวจอาการ แพทย์พบว่าแจ๊ค มีอาการไอกรน โรคทางเดินหายใจที่ติดต่อได้ง่าย

ด้วยคำแนะนำของแพทย์ พวกเมอร์ฟีย์ ย้ายแฮดลีย์ และแจ๊คจากที่พำนักของเขา โชคดีที่เอฟ สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) นักเขียนชื่อดังและภรรยาของเขาปล่อยเช่าบ้านหลังเล็กๆ ในละแวกใกล้กันจึงเสนอให้ใช้เป็นที่พักกักตัวของแฮดลีย์ และลูกชาย

ภายหลังจากนั้นมีพี่เลี้ยง ของแจ๊คเดินทางมาสมทบจากปารีส และมีผู้หญิงอีกรายมาด้วย เธอคือพอลลีน ไฟเฟอร์ นั่นเอง

เลสลีย์ บลูม เล่าว่า มีข้อมูลหลายแหล่งบอกเล่าถึงที่มาของซึ่งทำให้ไฟเฟอร์ เดินทางมาด้วย ในหนังสือชีวประวัติของแฮดลีย์ เล่มหนึ่งระบุว่า เธอส่งโน้ตข้อความบางอย่างไปให้พอลลีน เธอจึงเดินทางมา บางแหล่งก็บอกว่า เฮมมิงเวย์ อาจเขียนโน้ตไปถึงพอลลีน ร้องขอให้เธอเดินทางมาช่วยดูแลพวกเขา (ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าพิกลที่ผู้ชายส่งโน้ตไปถึงผู้หญิงนอกสมรสให้มาดูแลภรรยาของตัวเอง) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด พอลลีน เสนอตัวมาทำหน้าที่เป็นพยาบาล ขณะที่เธอเองก็เคยเป็นไอกรนมาก่อนจึงมีภูมิต้านทาน

ในภายหลัง แฮดลีย์ แสดงท่าทีสับสนกับการเดินทางมาของพอลลีน ไฟเฟอร์ เธออ้างกับผู้เขียนหนังสือรายหนึ่งว่า เฮมมิงเวย์ เป็นคนร้องขอให้พอลลีน เดินทางมา อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงแล้ว มีข้อความปรากฏในจดหมายจากแฮดลีย์ ไปถึงเฮมมิงเวย์ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม บอกกับสามีของเธอว่า เธอจะเสนอให้ไฟเฟอร์ “หยุดแวะที่นี่ถ้าเธอต้องการ”

และมีข้อความต่อมาว่า “มันคงเป็นเรื่องตลกครั้งใหญ่เท่าที่โลกเคยพบเห็นถ้าคุณ (เฮมมิงเวย์) และฟิฟ (ไฟเฟอร์) และฉัน ใช้เวลาอยู่ร่วมกันในหน้าร้อน” ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ไฟเฟอร์ เข้ามาพำนักในบ้านจริงๆ อีกไม่นานนัก เฮมมิงเวย์ ก็ตามมาสมทบด้วย

แฮดลีย์ ตกอยู่ในสถานการณ์อยู่ร่วมกับสามีนักเขียน ลูกชาย พี่เลี้ยง และสตรีนอกสมรสของสามีในบ้านพักที่มี 2 ห้องนอนในช่วงการกักตัว แม้แต่เลสลีย์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการทำงานของเฮมมิงเวย์ ยังแสดงความคิดเห็นว่า แม้แต่เธอกักตัวกับสามีและลูกชายที่ไม่ป่วยยังทำให้เธอหัวหมุน

แต่สำหรับเฮมมิงเวย์ แล้ว เขาน่าจะเป็นคนที่จัดระเบียบก่อนหลังได้เป็นเลิศ ในภายหลังยังปรากฏเฮมมิงเวย์ เขียนอธิบายสภาพแวดล้อมนั้นว่า “เป็นสภาพบรรยากาศสถานที่อันยอดเยี่ยมซึ่งเหมาะแก่การเขียนงาน” นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า เขาไม่เพียงรอดจากช่วงกักกันตัวที่คนภายนอกแค่คิดก็ปวดหัวแล้ว เขายังสร้างผลงานไปในเวลาเดียวกันได้ด้วย

เลสลีย์ เล่าว่า สำหรับแฮดลีย์ เมื่อเธอมีแขกที่เธอไม่ต้องการ บางครั้งเธอออกไปเดินเล่นในเมืองเพื่อจิบวิสกี้บ้าง

เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ นักเขียนอเมริกันชื่อดัง กับพอลลีน ไฟเฟอร์ ภรรยาคนที่ 2 ถ่ายเมื่อ 1927 ภาพจาก Ernest Hemingway Photograph Collection, John F. Kennedy Presidential Library, and Museum, Boston – Public Doamain

ขณะเดียวกันครอบครัวเมอร์ฟีย์ และฟิตซ์เจอรัลด์ ก็ยังพักอาศัยในละแวกใกล้เคียง เลสลีย์ ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขามักส่งเสบียงไปให้เฮมมิงเวย์ และยังเดินทางมาเยี่ยมและร่วมวงดื่มแทบทุกวัน สกอตต์ และเซลด้า (Zelda) ภรรยาของเขาชื่นชอบเรื่องซุบซิบเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อมีตั๋วแถวหน้าขนาดนี้ก็ไม่แปลกที่จะเป็นเช่นนั้น

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ การกักตัวได้ผล แจ๊คหายจากอาการ และไม่มีใครในบ้านป่วย หลังจากนั้นอีกหลายสัปดาห์ ทั้งสามคนย้ายไปพักในโรงแรมใกล้เคียง แจ๊คและพี่เลี้ยงพักในบ้านแยกต่างหากอีกหลัง หน้าที่ของพอลลีน ในบทบาท “พยาบาล” จบลงเนื่องจากมีพี่เลี้ยงแล้ว แต่เธอไม่ได้จากไป พอลลีนยังเช็กอินในโรงแรมด้วย

เลสลีย์ อธิบายว่า แฮดลีย์ เล่าให้กับนักเขียนรายแรกที่เขียนหนังสือชีวประวัติของเธอว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา กิจกรรมต่างๆ มักทำกันแบบ “ทริโอ” (เป็นสาม) แฮดลีย์ ไม่เคยอยู่กับสามีตามลำพัง พอลลีน ไฟเฟอร์ ติดตามไปด้วยทุกแห่ง วันหนึ่งที่เฮมมิงเวย์ สั่งให้ส่งอาหารเช้าขึ้นไปบนห้อง คนที่ตามหลังพนักงานนำส่งอาหารก็เป็นพอลลีน เธอยังตามมาคลานขึ้นเตียงและร่วมรับประทานอาหารเช้าด้วย

แม้กระทั่งภายหลังจากพอลลีน เดินทางกลับไปปารีสแล้ว เฮมมิงเวย์ และแฮดลีย์ ยังได้รับจดหมายส่งมาจากเธอเป็นรายวัน เลสลีย์ เล่าว่า จดหมายฉบับหนึ่งเธอเขียนข้อความว่า “ฉันจะต้องได้ในสิ่งที่ฉันอยากได้” และเธอก็ได้จริงๆ แฮดลีย์ และเฮมมิงเวย์ แยกทางกันหลังจากนั้นไม่นาน นักเขียนดังไปแต่งงานกับพอลลีน ไฟเฟอร์ เป็นภรรยาคนที่ 2

เฮมมิงเวย์ มีภรรยา 4 คน คนแรกคือแฮดลีย์ ริชาร์ดสัน เขาหย่าและแต่งงานกับพอลลีน ไฟเฟอร์ ทั้งคู่หย่ากันหลังสงครามกลางเมืองในสเปนซึ่งเขาไปทำงานในบทบาทผู้สื่อข่าว

ภรรยาคนที่ 3 คือมาร์ธา เกลล์ฮอร์น (Martha Gellhorn) ในปี 1940 และคนที่ 4 คือแมรี่ เวลช์ (Mary Welsh)

สำหรับผลงาน The Sun Also Rises ในปี 1926 เฮมมิงเวย์ ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปสเปน กับแฮดลีย์ และกลุ่มเพื่อนในปี 1925 ในช่วงต้นยุค 20s เฮมมิงเวย์ เดินทางมาอยู่ในปารีสแล้วโดยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวต่างชาติให้กับโตรอนโต สตาร์ เขาใช้ประสบการณ์ในการทำงานข่าวสงครามมาเขียนนิยายด้วย

ในช่วงที่เขาเขียนเรื่องนี้คือกลางปี 1925 ช่วงปลายปีเดียวกันขณะที่เฮมมิงเวย์ เดินทางจากออสเตรียไปนิวยอร์กเพื่อพบกับสำนักพิมพ์ ช่วงขากลับ เชื่อกันว่าเขาเริ่มสัมพันธ์กับพอลลีน ไฟเฟอร์ และภายหลังจากช่วงกักตัวในปี 1926 เมื่อเขาเดินทางถึงปารีส แฮดลีย์ ริชาร์ดสัน จึงขอแยกทาง เมื่อเฮมมิงเวย์ อยู่ตัวคนเดียวในปารีสราวเดือนสิงหาคม เขาเริ่มตรวจต้นฉบับและอุทิศงานเขียนชิ้นนี้ให้กับภรรยาและลูก

กระทั่งภายหลังเดือนตุลาคม ที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว แฮดลีย์ จึงขอหย่า เฮมมิงเวย์ มอบค่าลิขสิทธิ์ในตัวหนังสือให้กับเธอ ช่วงนั้นคาดว่าเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

แฮดลีย์ มีข้อดีของเธอ แต่ขณะเดียวกันมีนักเขียนที่ศึกษาประวัติของเธอก็เล่าจุดบกพร่องของเธอจากเหตุการณ์อย่างเรื่องที่เธอทำกระเป๋าซึ่งเก็บเรื่องที่เฮมมิงเวย์ ไว้เกือบทั้งหมดหายไปในปี 1922

ภายหลังแฮดลีย์ แต่งงานกับพอล สกอตต์ โมว์เรอร์ (Paul Scott Mowrer) กวีและนักหนังสือพิมพ์ในปี 1933 ชีวิตการแต่งงานของเธอในครั้งนี้ก็มีความสุขดี ภายหลังเธอยังให้สัมภาษณ์กับคาร์ลอส เบ็คเกอร์ (Carlos Becker) นักเขียนหนังสือชีวประวัติเฮมมิงเวย์ เธอยังเล่าว่า เฮมมิงเวย์ ปฏิบัติกับเธอดี แต่ความสัมพันธ์มีอันต้องจบลง และปฏิเสธเสียงวิจารณ์ที่ว่าเฮมมิงเวย์ เป็นคนยึดติดกับความเป็นชาย โดยเอ่ยว่า เฮมมิงเวย์ มีทั้งความเป็นชายและความอ่อนโยน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Barrett, Claire. “Ernest Hemingway Once Survived a Quarantine with His Wife – and His Mistress”. HistoryNet. Online. Access 30 MAR 2020. <https://www.historynet.com/ernest-hemingway-once-survived-a-quarantine-with-his-wife-and-his-mistress.htm>

Donaldson, Scott. “HADLEY AND HEMINGWAY”. Chicago Tribune. Online. Published 22 MAR 1992. Access 30 MAR 2020. <https://www.chicagotribune.com/news/ct-xpm-1992-03-22-9201260738-story.html>

LESLEY M.M. BLUME. “Hemingway Was Once Quarantined with his Wife… and Mistress”. Town & Country. Online. Published 24 MAR 2020. Access 30 MAR 2020. <https://www.townandcountrymag.com/leisure/arts-and-culture/a31827643/hemingway-quarantine-wife-mistress/>

https://en.wikipedia.org/wiki/Ernest_Hemingway


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2563