ถอดรหัส อาร์เซนอล ทีมบอลแชมป์ไร้พ่ายครั้งแรกในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ไม่แพ้นานสุด 49 นัด

(ซ้าย) การฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ของอาร์เซนอล ฤดูกาล 2003-04 ภาพจาก JIM WATSON / AFP (ขวา) อาร์แซน เวงเกอร์ ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ระหว่าง 1996-2018 (ภาพจาก AFP)

อังกฤษขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่วัฒนธรรมลูกหนังเฟื่องฟูมากอีกแห่งในยุโรป นับตั้งแต่ลีกสูงสุดของอังกฤษรีแบรนด์เป็นพรีเมียร์ลีก สโมสรที่สร้างสถิติลงเล่นตลอดทั้งฤดูกาลโดยที่ไม่แพ้ใครเลย (เฉพาะเกมในลีก) ทีมแรกที่ทำได้คืออาร์เซนอล แห่งลอนดอน ในฤดูกาล 2003-04 แต่กว่าจะถึงฤดูกาลประวัติศาสตร์ในยุคนั้น พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง และเกิดอะไรในฤดูกาลนั้นที่ทำให้พวกเขาสร้างสถิติครั้งแรกในอังกฤษ

ฟุตบอลจากอังกฤษ

กีฬาที่เรียกกันว่าฟุตบอลนี้ปรากฏการเล่นลักษณะคล้ายกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่หากเอ่ยถึงพัฒนาการที่นำมาสู่ฟุตบอลสมัยใหม่ดังเช่นปัจจุบัน ก็ต้องยกให้ดินแดนอังกฤษเป็นแหล่งวางมาตรฐานและกฎเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเชื่อกันว่า ยุคแรกถือกำเนิดจากฟุตบอลโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกันในการแข่งขันระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จนเกิดเป็น “กติกาเคมบริดจ์” ในปี ค.ศ. 1848

ภายหลังถูกนำไปปรับใช้ในสโมสรระดับมณฑลและสโมสรสุภาพบุรุษในลอนดอน ต่อมาก็พัฒนากลายเป็นรากฐานของการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่มาจนถึงวันนี้ ขณะที่ฟุตบอลลีก เกิดขึ้นตามหลังมาในช่วง 3 ทศวรรษหลังของศตวรรษที่ 19

ขณะที่ลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษในปัจจุบันถูกเรียกว่า “พรีเมียร์ลีก” (Premier League) ซึ่งถูกรีแบรนด์เมื่อปี 1992 โดยเป็นการแยกตัวออกจาก “ลีกฟุตบอลอังกฤษ” (English Football League-EFL) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1888

แชมป์ไร้พ่ายในวัฒนธรรมฟุตบอลลีก

ฤดูกาล 1888-89 อันเป็นปีแรกของการแข่งขันในลีก เพรสตัน นอร์ธ เอนด์ (Preston North End) เป็นแชมป์ทีมแรก และเป็นแชมป์โดยไม่แพ้ใครใน 22 แมตช์ที่ลงแข่งขันเกมลีก โดยในยุคนั้น ลีกยังมีทั้งหมด 12 ทีม ส่วนลีกอื่นในยุโรปไปจนถึงภูมิภาคอื่นต่างทยอยปรากฏทีมที่ทำสถิตินี้ได้เช่นกัน ในยุโรปมีทีมอย่างเอซี มิลาน, ยูเวนตุส และเซลติก ที่เคยทำสถิติไร้พ่ายตลอดฤดูกาลได้เช่นกัน (ไทยเคยมีเมืองทองฯ และบุรีรัมย์ฯ ทำได้)

ภายหลังสโมสรในลีกอังกฤษแยกตัวออกมาเป็นพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1992 นับมาจนถึงฤดูกาล 2019-20 สโมสรฟุตบอลในอังกฤษที่เล่นเกมลีกจนจบฤดูกาล (ไม่นับรายการอื่น) โดยที่ไม่แพ้ทีมในลีกเลย มีเพียงอาร์เซนอล จากลอนดอนทีมเดียวเท่านั้นที่คว้าแชมป์โดยทำสถิตินี้ในฤดูกาล 2003-04 (ชนะ 26 เสมอ 12 มี 90 แต้ม) สถิติไม่แพ้ใครในลีกติดต่อกันนานที่สุดนับเฉพาะในลีกอังกฤษจนถึงปัจจุบัน (2020) ก็ยังเป็นของอาร์เซนอล สถิติอยู่ที่ 49 เกม โดยในช่วงเวลานั้นเป็นยุคที่ลีกอังกฤษมีคู่อริอย่าง อาร์เซนอล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขับเคี่ยวอย่างดุเดือด ผสมกับทีมที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างเชลซี

กว่าที่สโมสรอย่างอาร์เซนอล จะก้าวมาถึงความสำเร็จอันเป็นสถิตินั้นได้ พวกเขาเคยผ่านช่วงเวลาที่ลิเวอร์พูล ครองความยิ่งใหญ่ใน “ลีกฟุตบอลอังกฤษ” จากยุค 70s มาจนถึง ปลายยุค 80s ช่วงปลายยุค 80s สโมสรอาร์เซนอล ยังอยู่ภายใต้บังเหียนของจอร์จ เกรแฮม ทีมพลังหนุ่มของเกรแฮม คว้าแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 18 ปีแบบใจหายใจคว่ำที่สุดด้วยประตูนาทีสุดท้ายในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลที่ทีมปืนใหญ่พบกับลิเวอร์พูล ที่แอนฟิลด์ บ้านของลิเวอร์พูลเอง

ฤดูกาลนั้นคือช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับสโมสรอย่างยิ่ง และช่วงไล่เลี่ยกันนั้นเอง เดวิด ดีน (David Dein) รองประธานสโมสรตั้งแต่ปี 1983-2007 และผู้บริหารคนสำคัญพบกับอาร์แซน เวงเกอร์ (Arsène Wenger) กุนซือชาวฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก

เวงเกอร์ กับอาร์เซนอล

วันที่ 2 มกราคม ช่วงกลางฤดูกาล 1988-89 เวงเกอร์ อยู่ระหว่างเดินทางต่อจากอิสตันบูล ไปโมนาโก หลังจากไปดูเกมที่กาลาตาซาราย ในตุรกีลงเล่นเพื่อสำรวจนักเตะที่น่าสนใจ เขาต้องแวะที่อังกฤษด้วยในทริปนั้น สิ่งเดียวที่เวงเกอร์ สนใจทำในเวลาว่างระหว่างแวะอังกฤษคือสำรวจดูว่ามีแมตช์ให้เขาได้ดูไหม กุนซือชาวฝรั่งเศสโทรศัพท์ไปหาเดนนิส โรช เอเยนต์ของเกล็น ฮอดเดิล ศูนย์หน้าชาวอังกฤษที่เป็นลูกทีมช่วงเวงเกอร์ ทำงานกับสโมสรโมนาโก โรช ตอบกลับมาว่าเขามีตั๋วของเกมอาร์เซนอล นั่นเป็นครั้งแรกที่เวงเกอร์ ได้สัมผัสไฮบิวรี่ (Highbury) สนามเหย้าเดิมของอาร์เซนอล ที่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นพื้นที่สารพัดประโยชน์

เวงเกอร์ ได้ดูเกมดาร์บี้แมตช์ที่อาร์เซนอล เก็บชัยด้วยสกอร์ 2-0 ยุคนั้นมีผู้เล่นอย่างสตีฟ โบลด์, ไนเจล วินเทอร์เบิร์น และโทนี่ อดัมส์ เป็นอีกครั้งที่ทักษะทางสังคมของเดวิด ดีน ผู้บริหารสโมสรแห่งลอนดอนสร้างประโยชน์ให้กับสโมสร เขามีโอกาสได้คุยกับเวงเกอร์ ในเลาจ์ และชักชวนกุนซือรายนี้ร่วมทานอาหารค่ำในบ้านของเพื่อนของดีน บทสนทนาวันนั้นวางเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตกลายเป็นประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา

ภายหลังเวงเกอร์ อำลาโมนาโก และเลือกทำงานในญี่ปุ่นกับนาโกย่า แกรมปัส เอท (Nagoya Grampus Eight) ในปี 1995 ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าแปลกใจพอสมควร แต่ในแง่จังหวะเวลาแล้ว กลับเป็นช่วงที่เหมาะเจาะพอดี หนึ่งเดือนให้หลัง เกรแฮม ถูกปลดจากตำแหน่งจากกรณีรับเงินจากเอเยนต์นอร์เวย์ ชื่อที่เดวิด ดีน นึกถึงทันทีคือเวงเกอร์ และเขานำชื่อนี้ไปแนะนำให้บอร์ด

ทีแรกสมาชิกบอร์ดส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กุนซือรายต่อมาคือบรูซ ริอ็อก (Bruce Rioch) เขาทำงานกับทีมไม่นานนักก็ต้องพ้นตำแหน่งเนื่องจากไม่ลงรอยกับบอร์ด ขณะที่สโมสรมองหากุนซือรายต่อไป ดีน ยังคงมั่นใจในตัวเวงเกอร์ ที่รู้จักมา 5 ปี ท้ายที่สุดเวงเกอร์ ตกลงมาร่วมงานกับอาร์เซนอล ในช่วงกลางปี 1996 และการทำงานร่วมกันระหว่างเดวิด กับอาร์แซน ช่วยพัฒนาสโมสรอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา เวงเกอร์ เป็นสมองที่นำวิสัยทัศน์เรื่องฟุตบอลเข้ามา ขณะที่เดวิด ถือสมุดจดเบอร์โทรศัพท์และแทคติกการเจรจาติดต่อด้านต่างๆ เพื่อปิดดีลทางธุรกิจ

ผู้เล่นในทีมยุคนั้นอย่างลี ดิกสัน (Lee Dixon) หรือเอียน ไรท์ (Ian Wright) ต่างบรรยายความทรงจำที่เห็นเวงเกอร์ ในครั้งแรกว่า เขาเหมือนครูสอนภูมิศาสตร์ ในสภาพผอมสูง สวมแว่นตาใหญ่ๆ สูทตัวโคล่งๆ แต่เมื่อเวงเกอร์ เริ่มทำงานที่เกี่ยวกับฟุตบอล ทุกคนรู้ทันทีว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญ

เอมี ลอว์เรนส์ คอลัมนิสต์และแฟนบอลอาร์เซนอล เล่าว่า งานระยะเริ่มต้นที่เวงเกอร์ ต้องเอาชนะใจบุคลากรในสโมสรนั้นก็ทำได้ไม่ยาก เพราะลูกทีมที่มีคาแรกเตอร์หลากหลายนั้นล้วนเป็นคนที่เปิดกว้างพอ และสนใจรับรู้ซึมซับสิ่งต่างๆ มากพอ

“ธีมหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาทีมที่ประสบความสำเร็จของเวงเกอร์ คือ เขาชอบเลือกผู้เล่นที่มีไหวพริบมากพอจะเรียนรู้ ตัวเวงเกอร์ เองเป็นคนที่ฉลาดมากอยู่แล้ว ส่วนผสมระหว่างครูที่น่าเชื่อถือกับนักเรียนที่กระตือรือร้นก็ช่วยกระตุ้นเขาอย่างมาก”

ลี ดิกสัน (Lee Dixon) กองหลังคนดังในทีมยุครุ่งเรืองของอาร์เซนอล กล่าวคล้ายกันว่า “โดยทั่วไปแล้ว รากฐานการโค้ชของเขาวางอยู่บนเรื่องไหวพริบสติปัญญาของผู้เล่น และความสมัครใจของผู้เล่น”

ความเปลี่ยนแปลงแรกเริ่ม

ไม่นานนักความเปลี่ยนแปลงในสโมสรก็ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้น มาร์ติน คีโอว์น (Martin Keown) กองหลังที่อยู่กับสโมสรมายาวนานและยังค้าแข้งอยู่ในยุคทีมชุดไร้พ่ายด้วย (ลงเล่นตัวจริง 3 นัด ตัวสำรอง 7 นัด) เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มตั้งแต่สนามซ้อม (อาร์แซน เวงเกอร์ ไม่ชอบสนามซ้อมในทันทีตั้งแต่เริ่มงาน) โภชนาการ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบบบริหารจัดการ (เอียน ไรท์ หัวหอกคนดังเล่าว่า เขาเคยต้องขับรถบัสของทีมจากที่พักชั่วคราวไปสนามซ้อมเอง และเขาขับรถไปชนกลางทางด้วย)

เวงเกอร์ เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแบบ “ล้างสมอง” ลี ดิกสัน อีกหนึ่งแผงกองหลังมากประสบการณ์ของอาร์เซนอล เล่าว่า วิธีทำงานของเวงเกอร์ คือเข้ามาแนะนำสิ่งต่างๆ มากกว่า และอธิบายว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากใช้เจ้าสิ่งนั้น หรือยืดร่างกายแบบนี้

ที่สำคัญคือ เรื่องสไตล์การเล่น ก่อนหน้านี้อาร์เซนอล เป็นที่รู้จักในนามว่า “Boring Arsenal” พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องความน่าเบื่อ กองหน้าเดี่ยว เมื่อได้สกอร์ขึ้นนำแค่ประตูเดียวก็พากันลงไปเล่นเกมรับกันทั้งทีม เดนนิส เบิร์กแคมป์ หัวหอกชาวดัตช์จอมเยือกเย็นมองว่า ทีมที่จะเป็นแถวหน้าของยุโรปไม่ควรเล่นแบบนี้ เขามองว่า การเปลี่ยนแปลงของเวงเกอร์ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทีมจะอยู่ในระดับทวีป แต่เรื่องธรรมดานี้เองช่วยยกระดับทีมให้กลายเป็นสโมสรแถวหน้าได้

หากมองย้อนกลับไป เวงเกอร์ น่าจะอมยิ้มกับประสบการณ์ที่เขาพบเจอหลังคุมทีมนัดแรกเอาชนะแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส 2-0 ลอว์เรนส์ เล่าว่า ขณะนั่งรถบัสกลับลอนดอน มีเสียงเรียกร้องตะโกนในรถว่า “พวกเราต้องการแท่งช็อคโกแลต กลับคืนมา” นั่นคือปฏิกิริยาจากที่เวงเกอร์ สั่งระงับรับประทานช็อคโกแลตตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มงาน เดวิด ดีน ที่นั่งอยู่ในรถกับเวงเกอร์ เล่าว่า กุนซือชาวฝรั่งเศสมองเรื่องนี้แบบขำขัน แต่ก็ยังหันศีรษะกลับมาแล้วส่ายหัว

ความเปลี่ยนแปลงเบื้องหลังสโมสรตั้งแต่รากฐาน รายละเอียดเล็กน้อยในทีม ส่งผลมาถึงภาพใหญ่ของสโมสร สไตล์การเล่นของทีมเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่จะวัดผลได้จริงคือถ้วยแชมป์ที่จะทำให้พอบอกได้ว่า นอกเหนือจากชัยชนะและความเปลี่ยนแปลงแล้ว พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ หลังผ่านฤดูกาลแรกของเวงเกอร์ กับอาร์เซนอลแล้ว พวกเขาทำให้เห็นได้จริงในฤดูกาลต่อมา

1997-98 อาร์เซนอลคว้าดับเบิลแชมป์ (พรีเมียร์ลีกและเอฟเอ คัพ) พวกเขาสามารถขยับระดับขึ้นมาขับเคี่ยวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซึ่งครองหัวตารางฟุตบอลอังกฤษมาต่อเนื่อง ด้วยส่วนผสมระหว่างแนวหลังมากประสบการณ์ กับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างนิโคลาส์ อเนลก้า ซึ่งจากปากของผู้เล่นชุดนั้นอย่างดิกสัน อเนลก้า ที่เพิ่งย้ายมาไม่นาน แต่ดิกสัน เล่าว่า ปีนั้นอเนลก้า แทบไม่คุยกับใครเลยด้วยซ้ำ ปีนั้นเขาเป็นหนุ่มที่เงียบมากๆ โฟกัสแต่งานของตัวเองด้วยการกระซวกตาข่ายคู่แข่ง

ยุคทองของอาร์เซนอล เริ่มต้นขึ้นแต่ปี 1997 ลากมาจนถึงปีที่พวกเขาได้แชมป์ลีกโดยไม่แพ้ใครเลย สร้างสถิติแรกนี้ในลีกอังกฤษในฤดูกาล 2003-04

แชมป์ไร้พ่าย 2003-04

อาร์แซน เวงเกอร์ เขียนในคำนำของหนังสือ “Invincible” เล่าว่า แชมป์ไร้พ่ายเป็นความฝันของเขาเสมอมา เนื่องจากเขามีทัศนคติส่วนตัวว่า ทำงานของตัวเองแบบเต็มกำลังที่สุด แน่นอนว่า การได้แชมป์อาจเป็นความสำเร็จแล้ว แต่ถามว่า เป็นการทำเต็มที่สุดๆ แล้วหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่า “ไม่” เนื่องจากมีความสำเร็จในเพดานสูงสุดมากกว่านั้น นั่นคือการสร้างสถิติแรกในอังกฤษด้วยการเป็นแชมป์ไร้พ่าย

ฤดูกาล 2002-03 กุนซือชาวฝรั่งเศสเล่าว่า ได้เปิดเผยชัดเจนว่า เป้าหมายของเขาคือเล่นทั้งฤดูกาลโดยไม่แพ้ใคร ในฤดูกาล 2001-02 อาร์เซนอล ได้แชมป์โดยไม่แพ้เกมทีมเยือนเลย แต่ในปีต่อมาพวกเขาก็แพ้จนได้ เนื้อหาที่เวงเกอร์ เล่าไว้มีใจความส่วนหนึ่งว่า

“ในช่วงพรีซีซั่น (เตรียมพร้อมก่อนเริ่มลีก) ฤดูกาล 2003-04 ผมมีประชุมกับผู้เล่น และบอกกับพวกเขาว่า ‘เรามาวิเคราะห์ว่าทำไมเราไม่ได้แชมป์กัน’ ลูกทีมบางคน อย่าง มาร์ติน คีโอว์น บอกว่า ‘มันเป็นความผิดของคุณ’

ผมบอกว่า ‘ใช่ ผมยินดีรับผิดชอบ แต่ทำไมถึงคิดแบบนั้น’ เขาบอกว่า ‘คุณปล่อยให้พวกเรารู้สึกกดดันเกินไป ไอเดียที่ว่าจะได้แชมป์โดยไม่แพ้ใครมันกดดันเกินไป มันเป็นไปไม่ได้’

ผมบอกว่า ‘ฟังนะ ที่ผมพูดแบบนั้นเพราะคิดว่า คุณทำได้ แต่คุณต้องอยากทำมันจริงๆ มันจะเป็นความสำเร็จที่เหลือเชื่อมากหากเป็นทีมแรกที่ทำได้’ ผมรู้สึกว่า ทีมชุดนี้มีทุกอย่าง ทั้งในแง่ไหวพริบความชาญฉลาด สภาพจิตใจที่ไปได้พร้อมๆ กัน และสภาพร่างกายที่มีศักยภาพเพียงพอ…

พวกเขามีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ทุกคนแตกต่างกันหมด แต่เมื่อมารวมกันพวกเขายิ่งเป็นทีมที่พิเศษมากขึ้นไปอีก

พวกเขาทำให้ผมเห็นว่า คุณสามารถทำสิ่งที่คิดว่าคุณจะไม่สามารถทำมันได้แน่ๆ ให้ออกมาสำเร็จได้”

ใครบางคนบอกว่า ความสำเร็จมาพร้อมความสามารถ และโชคชะตา เรื่องนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่บางคนเชื่อถือนัก แต่หากดูตัวอย่างกรณีของอาร์เซนอล บางทีอาจคิดเหมือนกันว่า โชคชะตาคงมีส่วนบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับเกมสุดเดือดในตำนานที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อ 21 กันยายน 2003 เกมนัดที่ 6 ของฤดูกาล 2003-04 เกมนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่แฟนบอลว่า “Battle of Old Trafford”

“Battle of Old Trafford”

ยุคนั้นคือช่วงเวลาแห่งคู่อริที่ต่างอยู่ในช่วงพีกด้วยกันทั้งคู่ ทีมของอาร์เซนอล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่างมีขุมกำลังอันแข็งแกร่ง อาร์เซนอล นำมาโดยแพทริค วิเอร่า (Patrick Vieira) และเธียร์รี่ อองรี (Thierry Henry) สองดาวเตะฝรั่งเศสกำลังหลักของทีม พร้อมแนวรุกอย่างเฟรดดี้ ลุงเบิร์ก (Freddie Ljungberg) และโรแบร์ ปิแรส (Robert Pires) ปีกความเร็วสูง ขณะที่ปีศาจแดงแข็งแกร่งทุกพื้นที่ มีปราการหลังอย่างแกรี่ เนวิลล์ (Gary Neville), ริโอ เฟอร์ดินานด์ (Rio Ferdinand) มิดฟิลด์พันธุ์ดุอย่างรอย คีน (Roy Keane) คู่ปรับในแดนกลางที่มักเดือดทุกทีเมื่อเผชิญหน้ากับวิเอร่า กัปตันอาร์เซนอล ตามมาด้วยแนวรุกที่อันตรายทั้งแผง ไรอัน กิ๊กส์ (Ryan Giggs), คริสเตียโน โรนัลโด้ (Cristiano Ronaldo) และศูนย์หน้าล่าสกอร์อย่าง รุด ฟาน นิสเตลรอย (Ruud van Nistelrooy)

บรรยากาศในเกมดุเดือดตามสไตล์คู่ปรับมาพบกัน แต่ในแง่สกอร์และรูปเกมในสนาม จากปากของมาร์ติน คีโอว์น พวกเขาไม่คิดว่าเกมนี้เล่นยาก จนกระทั่งเหตุการณ์พลิกผันในท้ายเกม แพทริค วิเอร่า (Patrick Vieira) มิดฟิลด์กัปตันทีมอาร์เซนอล เข้าปะทะกับรุด ฟาน นิสเตลรอย ในช่วง 10 นาทีสุดท้ายของครึ่งหลัง มีจังหวะที่วิเอร่า สะบัดเท้าตามน้ำใส่หัวหอกปีศาจแดง แม้ภาพช้าจะแสดงให้เห็นในภายหลังว่า เท้าของมิดฟิลด์ฝรั่งเศสไม่ได้โดนฟาน นิสเตลรอย แต่สตีฟ เบนเน็ตต์ ผู้ตัดสินเกมนั้นแจกใบเหลืองที่ 2 ให้และทำให้วิเอร่า โดนไล่ออกจากเกม

อาร์เซนอล ที่เหลือ 10 คน กลายสภาพเป็นป้อมอลาโม่ และมาเสียท่าในช่วงนาทีสุดท้ายของเกม มาร์ติน คีโอว์น เสียฟาวล์ในกรอบเขตโทษจากจังหวะปะทะกับดิเอโก้ ฟอร์ลัน (Diego Forlán) ผู้ตัดสินในเกมเป่าให้จุดโทษกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

มาร์ติน คีโอว์น เล่าว่า เกมนั้นไม่มีอะไรเครียดเป็นพิเศษจนกระทั่งใน 10 นาทีสุดท้าย และยิ่งมาเสียจุดโทษนาทีสุดท้าย เขาคิดว่า จะซ้ำรอยเดิมที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะในท้ายเกมอีก และมันจะเป็นความผิดของเขาที่ทำให้เสียจุดโทษ

อย่างไรก็ตาม ผู้สังหารจุดโทษอย่างรุด ฟาน นิสเตลรอย (Ruud van Nistelrooy) ซัดบอลโด่งไปชนคานดังสนั่น เมื่อผู้เล่นอาร์เซนอล เคลียร์บอลออกไปได้ มาร์ติน คีโอว์น ออกท่าทางที่จะทำให้เป็นภาพจำในวงการฟุตบอลอังกฤษมาจนถึงวันนี้ เขาวิ่งเข้าไปกล่าวโจมตีกองหน้าคู่อริ ทันทีที่เสียงนกหวีดหมดเวลาดังขึ้น เกมจบลงด้วยสกอร์ 0-0 มาร์ติน คีโอว์น วิ่งเข้าไปกระโดดทำท่าเยาะเย้ย ฟาน นิสเตลรอย ไม่ใช่แค่คีโอว์น แต่ยังมีผู้เล่นอาร์เซนอล อีกหลายรายที่กรูเข้าไปรุมล้อม ผลัก และแหย่หัวหอกเนเธอร์แลนด์กันยกใหญ่ กลายเป็นความวุ่นวายหลังเกมครั้งใหญ่อีกหนในเกมอันดุเดือดระหว่างทั้งคู่

ภายหลังนักเตะอาร์เซนอล และกุนซือต่างออกมาขอโทษกับพฤติกรรมดังกล่าว นักเตะหลายคนที่มีส่วนในเหตุชุลมุนรับโทษปรับเงินจากเอฟเอ และโดนแบนหลายนัด ควันหลงเกมนี้ถูกพูดถึงต่อมาอีกหลายสัปดาห์ (หรืออาจหลายปีด้วยซ้ำ)

หลังม่านหลังศึกที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

ขณะเดียวกัน หลังผ่านศึกแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดไป อาร์เซนอล สามารถรวมตัวรวมใจกลับมาได้ และเก็บชัยในเกมสำคัญหลายเกม อาทิ ชนะนิวคาสเซิล 3-2 ชนะลิเวอร์พูล 2-1 และชนะเชลซี 2-1 ลอว์เรนส์ รำลึกถึงประตูสำคัญที่แอนฟิลด์ซึ่งโรแบร์ ปิแรส ปีกฝรั่งเศสปั่นโค้งส่งบอลเข้าไปก้นตาข่ายได้อย่างสวยงาม นั่นก็เป็นประตูสำคัญในฤดูกาลนั้นเช่นกัน

ไม่ใช่แค่เฉพาะบุคลิกเฉพาะตัวที่พิเศษของทีม โชคชะตา และความสามารถ ปัจจัยที่น่าสนใจอีกอย่างที่ทำให้เกิดสถิติประวัติศาสตร์ในอังกฤษ ย่อมเป็นเรื่องทักษะในการปรับตัว และอาร์เซนอล ยุคนั้นก็มีทักษะที่ต้องงัดมาใช้ตั้งแต่เกมแรกของฤดูกาล เกมที่เปิดฤดูกาลรับการมาเยือนของเอฟเวอร์ตัน โซล แคมป์เบลล์ (Sol Campbell) เล่นไปได้แค่ 25 นาทีก็โดนไล่ออก อาร์เซนอล เล่น 10 คนและเอาตัวรอดมาด้วย 3 แต้ม โดยชนะ 2-0

ผลพวงจากศึกแห่งโอลด์ แทรฟฟอร์ด ยังไม่ทันห่างหาย ปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บก็รุมเร้า โลร็อง (Lauren) แบ็กขวาตัวหลักเจ็บเข่า วิเอร่า พัก 6 สัปดาห์ ประกอบกับเบิร์กแคมป์ แนวรุกตัวเก่งของทีมที่กลัวการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ยิ่งทำให้ตัวเลือกน้อยลงเมื่อเอ่ยถึงรายการฟุตบอลถ้วยสโมสรยุโรป ส่วนผสมระหว่างผู้เล่นที่เป็นตัวแทน กับผู้เล่นดาวรุ่งของอาร์เซนอล ที่อาร์แซน เวงเกอร์ เลือกเข้ามาก็ถือว่าช่วยงานทีมได้ในระดับน่าพอใจ

ไม่ว่าจะเป็นมาร์ติน คีโอว์น กับปาสกาล ซีกอง (Pascal Cygan) และกาเอล คลิชี (Gael Clichy) แบ็คซ้ายพลังหนุ่มที่ช่วยแบ่งเบาภาระได้ แดนกลางมีเอดู (Edu) และเรย์ พาร์เลอร์ (Ray Parlour) ซึ่งไว้ใจได้ แนวรุกมีตัวเลือกที่ดีอย่าง เอ็นวานโก คานู (Nwankwo Kanu) และซิลแวง วิลตอร์ด (Syvain Wiltord) ขณะที่ช่วงมกราคมยังมีโฮเซ่ อันโตนิโอ เรเยส (Jose Antonio Reyes) ปีกดาวรุ่งฝีเท้าจัดจ้านชาวสเปนเข้ามาเสริมทีมอีกราย (เรเยสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อปี 2019)

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นในทีมอาร์เซนอล ในยุคนั้นเป็นไปอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าแต่ละรายจะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง และมีจุดร่วมกันที่กระหายชัยชนะ เกลียดความพ่ายแพ้จนถึงไขกระดูก มาร์ติน คีโอว์น เล่าว่า พวกเขาไม่ต้องรอให้ผู้จัดการทีมมาถึง พวกเขาเริ่มคุยกันเองว่า มีจุดไหนที่ต้องปรับ ใครต้องทำอะไรกันบ้าง

ขณะที่เวงเกอร์ มักเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนให้ผู้เล่นแต่ละรายงัดศักยภาพที่สูงที่สุดของตัวเองออกมาได้ เดิมทีโลร็อง เล่นเป็นมิดฟิลด์ แต่ในทีมของเวงเกอร์ เขามาเล่นเป็นแบ็กขวา ซึ่งก็กลายเป็นตำแหน่งที่เขาทำได้ดีไปโดยปริยาย ฟอร์มอันยอดเยี่ยมของเธียร์รี่ อองรี ดาวซัลโวของฤดูกาล 2003-04 ที่ยิงไป 30 ประตู ส่วนหนึ่งเพราะบุคลิกเฉพาะตัวที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความชื่นชมจากคนรอบข้าง ที่สำคัญคือเขาขึ้นมาเป็นผู้นำได้ด้วยบุคลิกพิเศษที่ตัวเขาเองมองว่า เป็นความรับผิดชอบของเขาที่ต้องดูแลผู้เล่นคนอื่นในทีมด้วย

วิเอร่า เล่าว่า การมีส่วนผสมของผู้เล่นระดับแนวหน้าของลีกในทีมทำให้เขาคิดว่า แม้สกอร์จะตามหลังคู่แข่ง แต่พวกเขามั่นใจเสมอว่า จะต้องทำสกอร์ตีเสมอได้โดยอัตโนมัติ ทีมรู้เสมอว่า อองรี หรือเบิร์กแคมป์ จะทำประตูได้ หรือไม่ก็เป็นเบิร์กแคมป์ ผ่านบอลให้ใครก็ตามใส่สกอร์

เวงเกอร์บอล

ลอว์เรนส์ และนักฟุตบอลในทีมชุดแชมป์ไร้พ่ายมองว่า การคืนชีพแนวทางเล่นแบบมีชีวิตชีวาของอาร์เซนอล ยุคใหม่ เริ่มต้นจากเดนนิส เบิร์กแคมป์ ก่อนหน้าการมาของเวงเกอร์ เขาเสมือนโน้ตแรกที่วงออเคสตราเริ่มบรรเลง การเข้ามาของเขาทำให้ตัวตนของทีมเปลี่ยนไป นำเอาสไตล์ฟุตบอลแบบดัตช์อันเต็มไปด้วยเทคนิค ความสร้างสรรค์ และเล่นแบบมีส่วนร่วมทั้งทีม เข้ามามีอิทธิพลสู่ทีม

เมื่อเวงเกอร์ เข้ามาก็สามารถผสมผสานวิสัยทัศน์ด้านฟุตบอลของเขาเข้ากับส่วนผสมในทีมทั้งเก่าและใหม่ ต่อยอดมาจนถึงต้นยุค 2000s ซึ่งถือเป็นยุคทองของสโมสรแห่งลอนดอนเหนือ ดังเช่นผลงานแชมป์หลักไมล์สำคัญของฟุตบอลอังกฤษเมื่อ 2003-04


อ้างอิง :

Lawrence, Amy. Invincible Inside Arsenal’s Unbeaten 2003-2004 Season. Penguin Books, 2014.

“ความเป็นมาของ “ฟุตบอล” กีฬายอดฮิต ที่แรกเริ่มดุเดือด เลือดพล่าน”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 8 มกราคม 2563. เข้าถึง 4 มีนาคม 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_43806>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2563