Pengsoo เพนกวินที่ดังเบียดดารา ทำไมมันคือวัฒนธรรมและไอดอลใหม่ของคนเกาหลีใต้

ภาพ Pengsoo เพนกวินของ EBS เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่กำลังมาแรงในเกาหลีใต้ (ภาพจาก YouTube / 자이언트 펭TV)

สัตว์ในเชิงสัญลักษณ์เป็นเครื่องมือที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อเก่าแก่ของคนรุ่นก่อนล้วนเกี่ยวข้องกับสัตว์บ้างไม่มากก็น้อย ในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น หากแต่เปลี่ยนบริบทมาสู่ความนิยมในรูปแบบอื่น ดังเช่นกรณีมาสคอตที่เป็นสัตว์น่ารักทั้งหลาย และในช่วงปลายปี 2019 ไม่มีมาสคอตตัวไหนที่เป็นม้ามืดและกำลังได้รับความนิยมเหมือนเพนกวิน “Pengsoo”

รายงานข่าวจากสำนักข่าวบีบีซี เผยว่า เพนกวิน Pengsoo เป็นมาสคอตไม่มีเพศ ถูกอธิบายว่าอายุ 10 ปี รูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้ดูน่ารักชวนหลงมากนัก แต่มันมาพร้อมเสียงกวนๆ (ที่เหมือนกับคนวัยกลางคน) ใจกล้า ห้าวไม่อายฟ้า ไม่อายดิน (ภาษาวัยรุ่นสมัยหนึ่งคงเรียกว่า “เปรี้ยว”) เดิมทีแล้วมาสคอตกลุ่มนี้ก็อยากเข้าถึงกลุ่มเด็ก แต่ทำไปมากลับได้ใจกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ (Millennials) หรือคนอายุระหว่าง 25-35 ปี (นิยามของมิลเลนเนียลส์ อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแห่ง)

เจ้า Pengsoo เป็นกระแสขั้นได้รับตำแหน่ง “บุคคลแห่งปี” ของเกาหลีใต้ (ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว มันไม่ใช่ “บุคคล” ด้วยซ้ำ) เรื่องราวภูมิหลังของคาแรกเตอร์ม้ามืดที่มาแรงแซงโค้งนักร้องเค-ป๊อปหลายกลุ่มถูก Education Broadcasting System (EBS) ผู้สร้างคาแรกเตอร์ของมันเขียนไว้ว่า เป็นเพนกวินวัย 10 ปีที่มาจากแอนตาร์กติก เดินทางรอนแรมมาไกลจนถึงเกาหลีใต้เพื่อมาเป็นคนดัง

เป้าหมายของเจ้าเพนกวินกวนๆ รายนี้คือ มาเพื่อดับความดังของ Pororo อีกหนึ่งคาแรกเตอร์การ์ตูนสัตว์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลีใต้ และเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งคือ อยากดังกว่า BTS วงเค-ป๊อปชื่อดังที่มีฐานแฟนทั่วโลก

Pororo เป็นตัวการ์ตูนที่โด่งดังอย่างมากในช่วงทศวรรษหลัง แทบพบเห็นได้รอบกายตั้งแต่เคสโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงลวดลายบนตะเกียบ สื่อต่างประเทศมองว่า Pororo เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ซึ่งถูกส่งออกมากที่สุด

ความดังของเจ้าเพนกวินตัวใหม่นี้สะท้อนผ่านตัวเลขผู้กดติดตามช่องในยูทูบ (YouTube) ที่มีเจ้า Pengsoo รายนี้อยู่ด้วย มีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว ด้วยความแรงขนาดนี้ทำให้เจ้า Pengsoo มีโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้มาแล้ว

บริษัทผู้สร้างคาแรกเตอร์ Pengsoo เชื่อว่า เคล็ดลับเบื้องหลังความสำเร็จนี้มาจากการวางตัวตนที่ไม่ยึดติดกับระดับสูงต่ำตามลำดับชั้นทางสังคม แต่ก็ยังสามารถแสดงออกถึงภาวะความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ได้อยู่ อธิบายเพิ่มเติมคือ เมื่อเจ้าเพนกวินปรากฏตัวในรายการทีวี เมื่อมันเอ่ยถึงหัวหน้าของ EBS ก็ไม่ได้เอ่ยคำว่า “Sajangnim” อันเป็นคำที่ใช้เมื่อจะเอ่ยถึงชื่อคนผู้มีตำแหน่งสูงกว่า (ถ้าเป็นภาษาไทยอาจใกล้เคียงกับคำว่า “ท่าน”)

ไม่เพียงเท่านั้น มันยังลามปามไปถึงการหยอกล้อหรือพาดพิงคนระดับสูงกว่า เช่น เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็ตาม มันก็จะบ่งชี้ว่าต้นเหตุความผิดมาจากบอสของมันนั่นเอง กล่าวให้ง่ายกว่านั้น เจ้าเพนกวินรายนี้ปฏิบัติกับทุกคนแบบเท่าเทียมกัน ซึ่งลักษณะนี้เองทำให้มันแฟนที่ติดตามคิดว่ามันมี “เสน่ห์” โดยเฉพาะสำหรับเหล่าแรงงานหรือพนักงานออฟฟิศ บางรายให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น อธิบายเหตุผลที่พวกเขาชื่นชอบคาแรกเตอร์นี้ว่า คำพูดของมันเป็นตัวแทนที่คนทำงานวัย 20-30 ปีไม่สามารถพูดได้ (นึกถึงพฤติกรรมโทษบอสไปเสียทุกเรื่องไงล่ะ)

นอกจากนี้ Pengsoo ที่ถูกออกแบบให้มีความทะเยอทะยานอยากโด่งดังแซงหน้าซูเปอร์สตาร์เกาหลีก็เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคติทางสังคมในเกาหลี ซึ่งมาตรฐานทางสังคมเกาหลีโดยรวมแล้วมักสอนให้คนนอบน้อมและสุภาพ The Diplomat สื่อดังยังรายงานโดยอ้างอิงการคาดการณ์ของศูนย์อุตสาหกรรมและการแลกเปลี่ยนทางการค้าของเกาหลีที่มองว่า Pengsoo มีศักยภาพกลายเป็นไอดอลที่ได้รับความนิยมทั่วโลกได้


อ้างอิง:

“Pengsoo: The rude giant penguin that South Korea fell in love with”. BBC. Online. Published 13 DEC 2019. Access 13 DEC 2019. <https://www.bbc.com/news/world-asia-50753454>