เหลียวมองราชพาหนะทางน้ำในราชสำนักพม่า ต่างกับเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง

กระบวนทัพหลวง เรือเหล่าแสนยากร และเรือคู่ชักกำลังเชิญแพขนานพระที่นั่งปีญ์จีโมนทางชลมารค (ภาพจาก The British Library. 19th century, Contains six scences on 20 sides: boat races.)

กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคถือเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้ปรากฏเฉพาะแต่ในราชสำนักไทยเท่านั้น ยังปรากฏให้เห็นทั้งในราชสำนักเขมรและโดยเฉพาะในราชสำนักพม่า ที่ในสมัยพระเจ้าสีป่อก็เคยมีพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค

ภาพลายเส้นพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต พระมเหสี

เรือหรือราชพาหนะทางน้ำในราชสำนักพม่าที่ปรากฏในบันทึกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ราชพาหนะประเภท หฺเล่-ด่อ” ได้แก่ “เรือหลวง” และ “ผ่าวง์-ด่อ” คือ “แพขนานหลวง”

1. เรือหลวง ส่วนใหญ่เป็นเรือขุด ยกตัวอย่างเช่น 1) “เรือรบหลวงหรือเรือกิ่งทรงหัวดั้งหางตะขาบ” เรียกว่า “หล่อกา-ด่อ” ตกแต่งโขนเรือเป็นรูปเขนบังอาวุธสำหรับเป็นเรือทหารกองหน้า 2) “เรือหลวง” เรียกว่า “หฺเล่-ด่อ” ตกแต่งโขนเรือเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ปราสาท สัตว์ มนุษย์หรือเทพในตำนานต่างๆ 3) “เรือกรรเชียงของหลวง” เรียกว่า “ขั๊ตหฺเล-ด่อ” มีท้ายเรือทรงหางตะขาบเชิดสูงเหมือนกันกับเรือ ๒ ชนิดแรกแต่โขนเรือจะมีลักษณะป้านขนานไปกับพื้นน้ำซึ่งใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ มักใช้เป็นเรือตำรวจราชองครักษ์หรือเรือคู่ชักแพพระที่นั่ง และ 4) “เรือสำปั้นหลวง” ที่พม่าได้รับอิทธิพลจากจีนแบ่งการใช้งานออกเป็น “เรือพระประเทียบฝ่ายใน” และ “เรือตำรวจ”

2. แพขนานหลวง เป็นราชพาหนะที่ต่อขึ้นจากแผ่นไม้ให้เป็นลานแล่นกลางกลางระหว่างแคมเรือลำเดียวและแคมเรือ 2 ลำ บริเวณตรงกลางลานไม้สร้างเป็นหมู่เรือนปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จัดเป็นราชพาหนะทางน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในขบวนเรือราชสำนักพม่า ตัวแพขนานเคลื่อนที่ได้ด้วยการลากจากเรือคู่ชักด้านหน้า บังคับทิศทางด้วยแจวด้านท้าย แพขนานหลวงของพระมหากษัตริย์จะเป็นแพที่ปิดทองทึบ มีหัวเรือรูปครุฑยุคนาค และพระอินทร์ซ้าย ขวา หรือรูปศีรษะนกการเวก ส่วนแพขนานลำเดียวปิดทองทึบ หัวสลักปัญจรูปนั้นเป็นของพระอัครมเหสี ถ้าเป็นหงส์นั้นเป็นของพระมหาอุปราช

“แพขนานหลวง” หรือ “ผ่าวง์-ด่อ” ชื่อปีญ์จีมอน สำหรับพระมหากษัตริย์ (ภาพจาก The British Library. 19th century, Depicting royal barges and boats.)

นอกจากนั้นยังมี “ตำหนักแพ” ที่เรียกว่า “กัตป์โจ่ผ่าวง์-ด่อ” ซึ่งผูกเป็นแพลูกบวบจากลำไผ่ปูพื้นด้านบนสร้างเป็นเรือน เป็นพระประเทียบฝ่ายใน หรือใช้เป็นที่ประทับริมน้ำตามรายทางเสด็จพระราชดำเนิน

ตัวอย่างการเสด็จฯ ทางชลมารคของกษัตริย์พม่าในปลายราชวงศ์คองบอง ขบวนเรือราชสำนักพม่านอกจากจะถูกใช้ไปเพื่อแสดงพระเกียรติยศของกษัตริย์แล้ว การจัดขบวนเรือก็ยังถูกนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของราชสำนักตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์ด้วยซึ่งในหนังสือพงศาวดารมหาราชวงศ์คองบองได้กล่าวถึงการจัดขบวนเรือของราชสำนักอันเนื่องด้วยพระราชภารกิจสำคัญของกษัตริย์ 3 พระองค์ คือ

  1. การจัดขบวนเรือในรัชกาลพระเจ้าตายาวดีมีง สมเด็จพระชนกาธิราชในพระเจ้าปะกันมีงและพระเจ้ามีงดงมีงเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลและตรวจตราพระราชอาณาเขต
  2. การจัดขบวนเรือในรัชกาลพระเจ้ามีงดงเพื่อเชิญเสด็จพระเชษฐาปะกันมีงไปประทับยังเมืองชเวโบ
  3. การจัดขบวนเรือในรัชกาลพระเจ้าสีป่อเพื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ลักษณะเรือในราชสำนักพม่ามีความคล้ายคลึงกับราชสำนักไทย โดยเฉพาะคติการสร้างโขนเรือที่มีการนำเอาสัตว์พาหนะหรือสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าตามคติพราหมณ์-ฮินดู มาสร้างเป็นโขนเรือในกระบวนเรือของราชสำนัก


อ้างอิง : 

“พยุหยาตราทางชลมารคในราชสำนักพม่า คติ ตำนานและประวัติศาสตร์โดยสังเขป” เขียนโดย สิทธิพร เนตรนิยม ในศิลปวัฒนธรรม ปี 41 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2562

อ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2562