ละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางทีวี สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไรบ้าง

สังข์ทอง เวอร์ชั่น พ.ศ. 2561-62 ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มาแรงมาก ออกอากาศถึง 110 ตอน (ภาพจาก สามเศียร)
สังข์ทอง เวอร์ชั่น พ.ศ. 2561-62 ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มาแรงมาก ออกอากาศถึง 110 ตอน (ภาพจาก สามเศียร)

ถ้าพูดถึงละครทีวีกระแสดี เรตติ้งพลุ่งกระฉูด แบบเร็ว หลายคนคงคิดนึก “บุพเพสันนิวาส” ละครทีวีที่ออกอากาศทางเมื่อปี 2561 เป็นละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยในตอนที่ 15 ซึ่งเป็นตอนจบ มีเรตติ้งทั่วประเทศสูงสุดกว่าทุกตอน ที่ 18.6 หรือมีคนดูเฉลี่ย 12.2 ล้านคน และเรตติ้งเฉลี่ยทุกตอนอยู่ที่ 13.247 หรือมีคนดูเฉลี่ย 8.8 ล้านคนต่อตอน

แต่ละครเรื่องนี้ก็มีเพียง 15 ตอน ขณะที่ละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 30-40 ตอน

หากเป็นเรื่องดังความยาวอาจเพิ่มเป็น 70-80 ตอน และบางเรื่องที่กรแสแรงจริงๆ อาจเพิ่มถึง 100 ตอนก็มีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น  แก้วหน้าม้า 2558 มี 102 ตอน, สังข์ทอง 2550-51 มี 106 ตอน, สังข์ทอง 2561-62 มี 110 ตอน แถมเรตติ้งไม่ขี้เหร่เสียด้วย สังข์ทอง 2561-62 มีเรตติ้งเฉลี่ย 6.310 ของตนเอง และตอนที่ 69 (21 ตุลาคม 2561) เรตติ้งสูงสุดถึง 8.472

จากการเก็บข้อมูลวิกิพีเดียรวบรวมรายชื่อละครจักรๆ วงศ์ๆ ไว้หลายสิบเรื่อง เรื่องในลำดับแรกคือ “ปลาบู่ทอง”  ออกอากาศเมื่อปี 2510 ถึงวันนี้ละครจักรๆ วงศ์ๆ ออกอากาศมาประมาณ 50 ปี อะไรทำให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่สร้างจากตำนานปรัมปรา หรือนิทานพื้นบ้าน ทำไมยังยืนย่งมาถึงทุกวันนี้ได้

ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง อธิบายเรื่องนี้ไว้ ใน “ละครนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ในโทรทัศน์ : กระจกสะท้อนความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” (ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่นฯ สนพ.มติชน กรกฎาคม 2537)

ผู้เขียน (ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง) เสนอว่ารายการทีวีคือ กระจกที่สะท้อนสภาพครอบครัวหรือสภาพสังคม เราจึงสามารถศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากรายการโทรทัศน์ได้ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ที่ดำเนินไป 2 กระแส

1. ความต้องการสืบทอดวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ถ้าดูจากรายการทีวีก็คือ จดหมายเหตุกรุงศรีฯ, สืบสานงานศิลป์, ความรู้คือประทีป ฯลฯ 2. ความต้องการก้าวไปตามโลกสมัยใหม่ เช่น รายการข่าวต่างประเทศ, ภาพยนตร์บิ๊กซีเนม่า, การ์ตูนทอมกับเจอรี่, ภาพยนตร์จีนกำลังภายใน ฯลฯ

แล้วเหตุใดคนไทยจึงชอบละครจักรๆ วงศ์ๆ

ต้องเริ่มดูจากโครงเรื่อง ที่ส่วนมากเป็นเรื่องชีวิตรักของเจ้าชายที่ออกเดินทางแสวงหาคู่ครอง เจอแล้วก็ต้องพลัดพราก ได้พบอีกนาง สุดท้ายเจ้าชายก็มีชายาหลายคน จนเกิดปัญหาหึงหวงในหมู่ชายาขึ้น นี่คือเรื่อง เมียน้อยเมียหลวง ที่เห็นใน แก้วหน้าม้า, จำปาสี่ต้น หรือปัญหาจากประเพณีไทยเมื่อผู้ชายแต่งงานจะย้ายเข้ามาอยู่บ้านผู้หญิง ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างพ่อตากับลูกเขย เช่น สังข์ทอง, สุวรรณหงส์, การะเกด

ละครจักรๆ วงศ์ๆ ทำหน้าที่เป็นทางออกให้กับสมาชิกคู่ที่มีความขัดแย้งในครอบครัว

หากลองวิเคราะห์ละครจักรๆ วงศ์ๆ หลายๆ เรื่อง เราจะพบว่า ละครจักรๆ วงศ์ๆ ให้พอใจและให้ความ ‘ยุติธรรม’ กับบุคคลคนทุกๆ ฝ่ายดังสังเกตได้ว่า นางเอกในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมียหลวงเสมอไป บางเรื่องก็เป็นเมียน้อย บางเรื่องพ่อตาก็ฆ่าลูกเขย ผู้ชมก็จะเลือกชมตอน หรือเรื่องที่ตัวละครที่สวมบทบาทเดียวกับที่ตนเป็นฝ่ายชนะ เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมียหลวง เมียน้อย พ่อตา ลูกเขย ก็ชอบละครจักรๆ วงศ์ๆ ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะบางเรื่องบางตอนก็ให้ความ ‘สะใจ’ ในขณะที่ชีวิตจริงทุกฝ่ายต้องอดทน

นอกจากนี้เวลาออกอากศของละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ ในยุคแรก ที่มีเพียงสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 คือ หลังข่าวภาคค่ำ ศึ่งเป็นเวลาที่ดีของทีวี  โดยมีสมาชิกแต่ละวัยในครอบครัวตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก เป็นกลุ่มเป้าหมาย เมื่อผนวกกับเนื้อหาของละครที่สัมพันธ์กับชีวิตและความขัดแย้งในครอบครัวไทยจึงทำให้ได้รับความนิยม

ต่อมาในปี 2528 ทางสถานีได้เปลี่ยนแปลงเวลาออกอากาศมาเป็นเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00-9.00 น. กลุ่มเป้าหมายเดิมจึงเปลี่ยนเป็นกลุ่มเด็กแทน ผู้ผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็ปรับเปลี่ยนรายละเอียดของเรื่องและการนำเสนอเรื่องเพื่อตอบสนองผู้ชมรุ่นเยาว์ เช่น การเพิ่มตัวละครเด็กเข้าไปทั้งที่เนื้อเรื่องเดิมไม่มี

ขณะเดียวกันการแข่งขันก็มีเพิ่มขึ้น เมื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็เริ่มเข้ามาบุกเบิกละครจักรๆ วงศ์ๆ บ้าง ซึ่งแม้จะเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ มีเจ้าชาย เจ้าหญิงเหมือนกัน แต่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มักใช้การแต่งนิทานใหม่ในบรรยากาศโบราณ ขณะที่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ยังเป็นนิทานไทยที่มีมาแต่โบราณ

ละครจักรๆ วงศ์ๆ ยังมีกล้า “ฉีกแนว” ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงเรื่อง จากเดิมที่เป็นการสะท้อนความขัดแย้งของคนในครอบครัว ระหว่างเมียหลวงเมียน้อย พ่อตาลูกเขย ฯลฯ  มาเป็นแนว “ปราบมาร” ที่สะท้อนความัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ที่ขัดกัน

ในส่วนของตัวละครเองก็มีการเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน พระเอกหรือเจ้าชายที่เคยมีชายาหลายคนก็เปลี่ยนเป็นมีชายาคนเดียว,  เปลี่ยนจากเรื่องของผู้มีบุญญาธิการเป็นผ็มีความสามารถ, เปลี่ยนให้ตัวละครผู้หญิงมีวิชาความรู้ ไม่ใช่มีแค่ความงาม

แม้ละครจักรๆ วงศ์ๆ จะสร้างจากนิทานปรัมปรา และนำเสนอเรื่องราวย้อนยุคกลับไปหาอดีต ที่ดูเสมือนเรื่องเชยๆ แต่ในความจริงละครจักรๆ วงศ์ๆ กลับร่วมสมัยกับสังคม และผู้คนในเวลานั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่มันสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง


ข้อมูลจาก

คนมองหนัง. อวสาน “สังข์ทอง” และ “ตัวละครนำ LGBT” รายแรกของสามเศียร, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 – 28 มีนาคม 2562

คนมองหนัง.เมื่อ “สังข์ทอง 2561” ออกฉายเกิน 100 ตอน! เตรียมตัวต้อนรับ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2562

ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง. “ละครนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ในโทรทัศน์ : กระจกสะท้อนความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย”  ในท้องถินมีนิทานและการละเล่น…การศึกษาคติชนในบริบททางสังคมไทย สนพ.มติชน กรกฎาคม 2537)


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2562