ถามหาความหมาย “บุคคโล” และ “บางโคล่” ชุมชนมอญต้นรัตนโกสินทร์

“เรื่องเล่าจากมหาดเล็ก” (นานมีบุ๊คส์, 2546) ที่เขียนโดย พลตรีเดช ตุลวรรธนะ และได้รับการบรรณาธิการโดย ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ เล่าถึงเชื้อสายและชุมชนมอญถิ่นกำเนิดไว้น่าสนใจว่า

“ได้รับคำชี้แจงจากบรรพบุรุษว่า เป็นชาวมอญ อพยพหนีการรุกรานของพม่ามาจากเมืองทวาย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นับเวลานานถึงร้อยปีจนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายมอญพวกหนึ่ง ทางการจึงยกขุมชนแถบนี้ขึ้นเป็นอำเภอบ้านทวาย (ปัจจุบันคือเขตยานนาวา) พวกคนไทยเชื้อสายมอญเหล่านี้อยู่รวมกลุ่มกันทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ และเรียกตัวเองว่า ชาวบางโคล่ ส่วนพวกที่อยู่ทางริมแม่น้ำฝั่งธนบุรีเรียกตัวเองว่า ชาวบุคโล เมื่อสืบเชื้อสายต่อขึ้นไปถึงชั้นปู่ย่าตาทวดจึงรู้ว่า เป็นลูกหลานที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน เรามีญาติห่างๆ โดยนัยนี้มากมาย…”

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนซึ่งมีเชื้อสายมอญทางมารดาชาวสวนบ้านทวาย ทว่ากลืนกลายไปกับชุมชนคนไทยจนไม่สามารถใช้ภาษามอญได้อีกแล้ว จึงตั้งคำถามเพื่อยืนยันความเป็นเครือญาติที่มีบรรพบุรุษเดียวกัน อีกทั้งเคยคลุกคลีอยู่กับเครือญาติทั้งสองฟากฝั่งเจ้าพระยา กับ “ชาวบุคคโล” และ “ชาวบางโคล่” ว่า

“ใครที่รู้ภาษามอญ ช่วยหาหลักฐานคำว่า “บุคคโล” กับ “บางโคล่” นี่แปลเป็นไทยว่าอะไร เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อไป”

สมัยผู้เขียนเด็กๆ สายใต้ มันอยู่ตรงดาวคะนอง บุคคโล ตรงนั้นจะเป็นจุดต่อรถขึ้นเหนือลงใต้ที่สำคัญ คึกคัก เจริญมาก เวลามาจากสมุทรสาคร จะไปไหนๆ ก็ต้องมาตั้งต้นตรงนี้ แม่เล่าว่า สมัยสาวๆ (แม่อายุ 89 ขวบละ) มีคนมอญสมุทรสาครมาทำงาน เป็นลูกจ้าง จนเป็นเจ้าของกิจการ เป็นสามี เป็นภรรยาของเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะร้านทอง อาชีพทำทอง ย่านสำเหร่ (สำเหร่ ก็เชื่อกันว่ามาจากภาษามอญว่า “สำแล” ทุกวันนี้ในเมืองมอญยังมีหมู่บ้านมอญชื่อ สำแล อยู่ รวมทั้งบางส่วนที่อพยพเข้าไทยสมัยรัชกาลที่ 2 มาอยู่ที่ปทุมฯ ก็ยังตั้งชื่อหมู่บ้านว่า สำแล – บ้านเกิดครูไพบูลย์ บุตรขัน) บุคคโล ดาวคะนองเยอะมาก (เป็นลักษณะดึงๆ ญาติคนรู้จักต่อๆ กันมาเพราะอาชีพทำทองต้องอาศัยความเชื่อใจกันสูง) เดี๋ยวนี้ลูกหลานก็กลายเป็นไทยกันไปหมด

ผู้เขียนยอมรับโดยดุษณีว่า ยังไม่สามารถค้นย้อนหาความหมายของคำมอญ“บุคคโล” และ “บางโคล่” ทั้งสองก่อนที่จะกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองในเวลานี้ได้ คงต้องฝากให้ผู้อ่านทุกท่านช่วยกันให้ข้อมูลหรืออย่างน้อยก็เสนอศัพท์สันนิษฐานที่ดูจะเป็นไปได้ที่สุดตามข้อจำกัดของความรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2562