“กางเกงทาทา” ถึงร้อยกรองกลอนคาราโอเกะโดย ทาทา ยัง สาวน้อยมหัศจรรย์ดังทั่วเมือง

ทาทา ยัง (ภาพจาก หนังสือ "สาวน้อยมหัศจรรย์". ข่าวสด, 2539)

ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมดนตรีร่วมสมัยในไทยช่วงเดือนกรกฎาคม กว่า 20 ปีก่อน ปี พ.ศ. 2538 เป็นช่วงที่ชื่อ “ทาทา ยัง” ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเชิงผลงานเพลงจนถึงแฟชั่นเครื่องแต่งกาย ระหว่างการขึ้นโชว์บนเวที เธอมักมีเซอร์ไพรส์แฟนเพลงด้วยการพกกลอนขึ้นเวทีไปอ่านให้ “เพื่อนๆ” (ทาทา เรียกแฟนเพลงว่า “เพื่อนๆ)

ในช่วงต้นยุค 2530 บริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ถูกจับตาอย่างมากในฐานะบริษัทหน้าใหม่ซึ่งมีอายุเฉียด 10 ปีแต่ประสบความสำเร็จในงานด้านอุตสาหกรรมบันเทิงสายดนตรี เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกที่งานศิลปะผสมผสานกับแนวคิดด้านการตลาดในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย จากเดิมที่ประชาชนคุ้นกับแนวเพลงของสุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์ และธานินทร์ อินทรเทพ แม้ว่านักฟังเพลงจะได้สัมผัสกับผลงานแนวใหม่ที่แตกต่างไปจากกลุ่มข้างต้นบ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ในเชิงพาณิชย์ งานเพลงแนวใหม่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จจนมาปรากฏชื่อ “บริษัทแกรมมี่”

บริษัทแกรมมี่เริ่มต้นจากบุคคลอย่างเต๋อ เรวัต, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, บุษบา ดาวเรือง และยังมีกิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ นิเทศศาสตร์บัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านสื่อและงานเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทแกรมมี่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมดนตรีในช่วงเวลานั้น

เต๋อ เรวัต แหย่เทปชุดแรกเข้าไปในตลาดโดยเทป “พญ.พันทิวา” เป็นการทดลองตลาดอย่างแท้จริง ช่วงทดลองตลาดนี้ พี่เต๋อ เล่าว่า ใช้ 2 ชุด ก่อนที่จะตามมาด้วยการลุยตลาดกับ เต๋อ 1 เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นการลงสู่ตลาดอย่างจริงจัง หลังจากนั้นจึงเริ่มปล่อยอัลบั้ม “เต๋อ 1” ซึ่งถูกนิยามจากเจ้าของผลงานว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคเก่ามาสู่ยุคใหม่ ทั้งในแง่โครงสร้างบทเพลง แนวคิดการนำเสนอ และการตลาดของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงทั้งหมด หลังจากนั้นแกรมมี่ ก็มีศิลปินอย่าง นันทิดา แก้วบัวสาย, เบิร์ด ธงไชย, อัสนี-วสันต์, สามารถ พยัคฆ์อรุณ และอีกหลายคนตาม Segment ที่ขยายออกไปเรื่อยๆ

ช่วงกลางปีพ.ศ. 2538 จนถึงต้นปี 2539 อุตสาหกรรมบันเทิงไทยมี “สาวน้อยมหัศจรรย์” (ที่ไม่ใช่ลินดา คาร์เตอร์) แต่เป็น “อมิตา ยัง” หรือ “ทาทา” นักร้องวัยรุ่นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อายุ 14 ปี (เมื่อพ.ศ. 2539) ช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากผลงานอัลบั้ม “อมิตา ทาทา ยัง” ที่วางจำหน่ายต้นปี 2538 อัลบั้มนี้ทำให้บริษัทแกรมมี่มียอดขายเทปพุ่งขึ้นและผลิตป้อนตลาดได้เกินล้านตลับอย่างรวดเร็ว ผลงานเพลงของเธอไม่ได้มาแรงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องแฟชั่นที่ทำให้มีคำเรียกกางเกงทรง “ทาทา ยัง” วางขายกันทั่วเมือง

เบื้องหลังของแฟชั่นการแต่งกายที่กลายเป็นกระแสในเมืองไปทั่วกรุง ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของสไตลิสต์ของทาทา ยัง ซึ่งถูกเปิดเผยว่า คือ “แอน” ศศินี รุ่งทนต์กิจ

“แอน” ให้สัมภาษณ์กับทีมเฉพาะกิจบันเทิง หนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งรวบรวมข้อมูลมาเผยแพร่ในหนังสือฉบับพิเศษชื่อ “สาวน้อยมหัศจรยย์” ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2539 แอน จบสื่อสารมวลชน เอกโฆษณาจากราชภัฏสวนสุนันทา เข้าทำงานในบริษัทแกรมมี่ ต้นสังกัดของทาทา ยัง เมื่อ 5 ปีก่อนทาทา จะแจ้งเกิดในตำแหน่งจัดหาเสื้อผ้ามิวสิกวิดีโอ ผลงานที่ทำปรากฏกับนักร้องดังหลายคน

เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบเสื้อผ้าให้ทาทา ยัง “แอน” ให้สัมภาษณ์ว่า มาจากการประชุมงานและได้บทสรุปว่าจะให้เป็น “นักร้องที่ดูติดดิน” ที่สุด สัมผัสได้ ขณะเดียวกัน นักร้องก็ต้องมีลูกเล่นให้เล่นได้ต่างจากคนทั่วไป นำมาสู่การหาเสื้อผ้าลายการ์ตูน จนพบการ์ตูน “โซนิค” ที่วิ่งเร็วซึ่งเชื่อว่า เข้ากับคาแรกเตอร์ของทาทา ยัง จึงเอามาใช้

คำศัพท์แฟชั่นอีกคำที่ติดปากสำหรับวัยรุ่นเมื่อ 20 ปีก่อนยังมีคำว่า “กางเกงทาทา” (ขาใหญ่ๆ ที่แฟนเพลงพบเห็นทาทา สวมใส่บ่อย) สไตลิสต์ของนักร้องสาวน้อยมหัศจรรย์เล่าถึงกางเกงรุ่น “คุณพ่อยังหนุ่ม” ว่า

“เป็นกางเกงเก่า แอนขอรุ่นพี่เค้ามา เป็นกางเกงที่ซื้อต่อรุ่นพี่นานแล้ว มาเจอน้องเค้าก็คิดว่าเค้าน่าจะเอามาใช้ เพราะมันเป็นกางเกงเก่าๆ ขาดตรงๆ เป็นทรงคาเพนเตอร์ แล้วน้องเค้าขายาว คิดว่าเค้าใส่แล้วสวย ก็เลยกลายเป็นฮิตขึ้นมา ที่ฮิตก็คงเป็นเพราะว่าน้องเค้าใส่แล้วสวย ก่อนหน้านี้เป็นความปิ๊งส่วนตัวของเราอยู่แล้ว ทาทาเค้าก็ชอบที่ได้ใส่ เพราะเข่ามันขาดข้างนึง”

แอน ยังเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงที่มาบุญครอง ขายกางเกง “ทาทา” กันว่า

“คือทาทา จะชอบมากไอ้กางเกง ไอ้อย่างเนี้ย (พร้อมจับขากางเกงตัวเอง) มันจะสบายมันจะนิ่มใช่มั๊ยคะ ทาทาก็อุ๊ย…เจอเต็มเลย และเขาก็เขียนป้ายว่ากางเกงทรงทาทา ยัง เราก็ปลาบปลื้มใจมาก และเราก็ หา..ตัวละ 200 กว่าบาท ทาทาแทบจะกวาดทุกร้านเลย เพราะถูกมาก ถูกแบบไม่ไหวแล้ว และหยิบมาเอาตัวนี้ๆๆๆๆๆๆ ชี้ใหญ่เลยนะฮะทุกสีแทบจะทุกสี พอพลิก (เงียบ) ยี่ห้อทาทา

เคยเห็นกางเกงยีนส์ลีวายส์มั๊ยฮะ แต่นี่ยี่ห้อทาทา ก็เลยบอกพี่ไม่เอาหมดทุกตัวเลยรับไม่ได้ใส่กางเกงยี่ห้อตัวเอง โอ้โห…สุดยอดแล้ว…”

ทาทา ยัง ช่วงแฟชั่น “กางเกงทาทา” ได้รับความนิยม (ภาพจาก หนังสือ “สาวน้อยมหัศจรรย์. ข่าวสด, 2539)

ช่วงที่ทาทา เดินสายโชว์ แฟนเพลงย่อมเห็นการแต่งกายของทาทา และไม่เพียงแต่แฟชั่นเท่านั้น โชว์ของทาทา ยังมี “เซอร์ไพรส์” แฟนเพลงด้วย เซอร์ไพรส์ที่ว่าคือ ทาทา มักพกกลอนขึ้นเวทีไปอ่านให้ “เพื่อนๆ” (แฟนเพลง) กลอนเหล่านั้นทาทา แต่งขึ้นเอง อาจไม่ถูกตามกฎเกณฑ์ของร้อยกรอง แต่ใช้สื่อสารความรู้สึกไม่ต่างจากกลอนของ “กวี” รายอื่น

หนังสือ “สาวน้อยมหัศจรรย์” ยังยกกลอนชิ้นหนึ่งที่เธอแต่งเอง ซึ่งทาทา เล่าว่า เป็นบทที่เธอประทับใจที่สุด ชื่อบทว่า “ฉันรักเธอ” มีใจความว่า

“..วันนี้ ที่ฉันบอกรักเธอ เพราะมีความรู้สึกดี ๆ ในใจ

ความรักนี้อาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ในใจ หมายถึงความรักที่ใสสะอาด

วันนี้ ความรักนี้ที่ให้ไป ก็ได้รู้คุณค่าของความหมาย

เพราะทุกคนช่างดีกับฉันเสียมากมาย จะนานเท่าไหร่ ฉันก็จะรักเธอ…”

กลอนบทนี้เอง ทาทา นำไปอ่านในคอนเสิร์ตที่ใช้ชื่อว่า “ไอเลิฟยู” ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ (ช่วงนั้น เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ ถือเป็นเวทีที่ใหญ่และสมบูรณ์สุดในเมืองไทย) ทาทา ยังเล่าว่า แต่งเองระหว่างช่วงหนึ่งอาทิตย์ก่อนคอนเสิร์ต แต่งระหว่างรถติด ช่วงที่แต่งคิดว่า คิดถึงเพื่อนๆ ที่ดีต่อตัวเธออย่างมาก

ทีมงานที่สัมภาษณ์ยังขอให้ทาทา เขียนกลอนบท “ฉันรักเธอ” ด้วยลายมือ ทาทา เขียนกลอนให้เป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้

“Wan nee tee chan bok rak thur (วัน นี้ ที่ ฉัน บอก รัก เธอ)

Praw mee kwam roo suk dee dee nai jai (เพราะ มี ความ รู้ สึก ดี ดี ใน ใจ)

Kwam rak nee ard ja mai mak tow rai (ความ รัก นี้ อาจ จะ ไม่ มาก เท่า ไหร่)

Teh nai jai maye tung kwam rak nai jai tee sai sa ard (แต่ ใน ใจ หมาย ถึง ความ รัก ใน ใจ ที่ ใส สะอาด)

Wan nee kwam rak nee tee haye paye (วัน นี้ ความ รัก นี้ ที่ ให้ ไป)

Ko dai roo koon ka kong kwam maye (ก็ ได้ รู้ คุณ ค่า ของ ความ หมาย)

Prow took khon chang dee kub chan seeya mak maye (เพราะ ทุก คน ช่าง ดี กับ ฉัน เสีย มาก มาย)

ja nan thow raye chan kor ja rak thur (จะ นาน เท่า ไหร่ ฉัน ก็ จะ รัก เธอ)”

ทาทา ยังเอ่ยว่า อยากเขียนเป็นภาษาไทย แต่เขียนไม่ได้ แต่กล่าวว่า อีกไม่นาน จะเขียนกลอนเป็นภาษาไทยให้อ่านกันอย่างแน่นอน บทความในหนังสือฉบับพิเศษเมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งลงท้ายด้วยการยกประโยคทิ้งท้ายของทาทา ในการสนทนาหัวข้อนี้ว่า

“ตอนนี้เขียนไม่ได้ แต่พูดได้ ด่าได้นะคะ”

ทาทา ยัง (ภาพจาก หนังสือ “สาวน้อยมหัศจรรย์”. ข่าวสด, 2539)

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562