ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | อ.ท.ต. นิยม |
เผยแพร่ |
การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของกรุงสยามเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผลให้ความต้องการเงินตราสยามทวีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญเงินบาทที่พ่อค้าชาวต่างชาติต้องการนำไปใช้ชำระค่าสินค้าที่ซื้อจากชาวสยาม ทำให้มีเงินตราต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาสู่ท้องตลาดกรุงสยามเป็นจำนวนมากกว่าปีละ 100,000 ชั่ง
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2431 เป็นต้นมา ความต้องการเหรียญเงินบาทสำหรับนำไปใช้ในการซื้อขายสินค้าในกรุงสยามมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสยามจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องรีบดำเนินการผลิตเงินเหรียญบาทให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าชาวต่างประเทศ จนกระทั่งเกินขีดความสามารถของเครื่องจักรผลิตเหรียญของโรงกระษาปณ์สิทธิการจะตอบสนองได้อีกต่อไป
สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินกิจการอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด (The Hongkong and Shanghai Banking Corporation) ก็มีความต้องการในการนำเหรียญเงินบาทไปแลกเปลี่ยนกับเงินเหรียญต่างประเทศจำนวนมากมายของบรรดาลูกค้า แม้จะมีการออกบัตรธนาคาร (Bank Note) ใช้แทนเงินตราโลหะตั้งแต่ พ.ศ. 2432 แล้วก็ตามที
กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของกรุงสยามเอง ก็ต้องการนำเหรียญเงินบาทจำนวนมากไปเป็นค่าใช้จ่ายตามงวดเงินงบประมาณ รวมถึงการพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีของข้าราชการอีกประการด้วย ทำให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแลกเหรียญเงินบาทจากพระคลังข้างที่ส่วนพระองค์ สำหรับนำไปใช้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนเหรียญเงินบาทในท้องตลาดอยู่เสมอๆ
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงพิจารณาเห็นว่า การค้าขายในกรุงสยามเจริญรุดหน้าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ บัตรธนาคารของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ก็มีลักษณะเป็นเงินตรา จึงเห็นสมควรที่พระคลังมหาสมบัติจะจัดพิมพ์ตั๋วเงินกระดาษออกใช้แทนเหรียญกระษาปณ์เสียเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วในระบบการชำระหนี้ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ครั้นพระองค์ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นพิจารณาดำเนินการจัดเตรียม “เงินกระดาษหลวง” (Treasury Note) สำหรับนำออกใช้ในระบบเงินตราสยาม
หลังจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติปรึกษาหารือเพื่อกำหนดรูปแบบ ขนาด สี ชนิดราคา และจำนวนที่ ต้องการจะจัดพิมพ์เงินกระดาษหลวงในแต่ละชนิดราคา ตลอดจนการตัดสินใจที่จะติดต่อกับบริษัทผู้รับจ้างพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศจนเป็นที่ตกลงกันแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ก็ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน ร.ศ.23 109 (พ.ศ. 2433) เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสั่งพิมพ์ตั๋วเงินกระดาษจากบริษัท กีเซคเก แอนด์ เดวรีเอนท์ (Giesecke & Devrient) เมืองไลป์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงมอบหมายให้มิสเตอร์แอร์วิน มุลเลอร์ (Erwin Wilhelm Müller) ชาวออสเตรียผู้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปฏิบัติราชประสงค์ กงสุลเยเนอราลสยามประจำกรุงเบอร์ลิน เป็นผู้ติดต่อดำเนินการทำหนังสือสัญญาว่าจ้างจัดพิมพ์เงินกระดาษหลวงกับบริษัท กีเซคเก แอนด์ เดวรีเอนท์ เป็นจำนวนทั้งหมด 3,951,500 ฉบับ เป็นเงินมูลค่าสูงถึง 240,000 ชั่ง คิดเป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 14,500 ปอนด์ (ในสมัยนั้นอัตราแลกเปลี่ยนปอนด์ละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 145,000 บาท) โดยกำหนดให้ทางบริษัทต้องทำการส่งมอบเงินกระดาษหลวง แบบพิมพ์และเครื่องมือสำหรับทำตั๋วเงินกระดาษให้แก่รัฐบาลสยาม พร้อมกับดำเนินการฝึกสอนเจ้าพนักงานฝ่ายสยามให้สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างชำนาญ อันเป็นที่มาของพระราชดำริที่จะจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในกรุงสยามเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศใน พ.ศ. 2434
ในการจัดพิมพ์เงินกระดาษหลวงนั้น รัฐบาลสยามได้กำหนดชนิดราคาตามมาตราเงินไทยโบราณด้วยการเทียบค่าเป็นเงินบาท ตำลึง และชั่ง เช่น เงิน 40 บาท เท่ากับ 10 ตำลึง หรือกึ่งชั่ง, เงิน 80 บาท เท่ากับ 1 ชั่ง, เงิน 400 บาท เท่ากับ 100 ตำลึง หรือ 5 ชั่ง และเงิน 800 บาท เท่ากับ 10 ชั่ง เป็นต้น
เงินกระดาษหลวงแบ่งออกเป็น 8 ชนิดราคา ซึ่งจะมีสีสันและขนาดที่แตกต่างกันจากเล็กไปหาใหญ่ตามลำดับของแต่ละชนิดราคา ดังนี้
ชนิดราคา 1 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีฟ้า สีเหลือง และสีเขียว ขนาดกว้าง 9 เซนติเมตร ยาว 15.5 เซนติเมตร จำนวน 3,200,00 ฉบับ เป็นเงิน 40,000 ชั่ง
ชนิดราคา 5 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีชมพูและสีเขียว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 16 เซนติเมตร จำนวน 320,000 ฉบับ เป็นเงิน 20,000 ชั่ง
ชนิดราคา 10 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำตาลเข้ม ขนาดกว้าง 11 เซนติเมตร ยาว 17.5 เซนติเมตร จำนวน 320,000 ฉบับ เป็นเงิน 40,000 บาท
ชนิดราคา 40 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีส้ม ขนาดกว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 18.5 เซนติเมตร จำนวน 40,000 ฉบับ เป็นเงิน 20,000 ชั่ง
ชนิดราคา 80 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีเขียว ขนาดกว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 19.5 เซนติเมตร จำนวน 40,000 ฉบับ เป็นเงิน 40,000 ชั่ง
ชนิดราคา 100 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีส้ม สีฟ้า และสีเขียว ขนาดกว้าง 13.5 เซนติเมตร ยาว 20.5 เซนติเมตร จำนวน 24,000 ฉบับ เป็นเงิน 30,000 ชั่ง
ชนิดราคา 400 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีม่วงและสีเขียว ขนาดกว้าง 14.5 เซนติเมตร ยาว 22.5 เซนติเมตร จำนวน 5,000 ฉบับ เป็นเงิน 25,000 ชั่ง
ชนิดราคา 800 บาท พิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำตาลแดง ขนาดกว้าง 17 เซนติเมตร ยาว 24.5 เซนติเมตร จำนวน 2,500 ฉบับ เป็นเงิน 25,000 ชั่ง
เงินกระดาษหลวงทุกฉบับจะจัดพิมพ์แบบสอดสีประกอบด้วยลายเฟื่องงดงาม โดยแจ้งชนิดราคาเป็นเลขครุเรือนเงินตามมาตราเงินไทยโบราณไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังในที่ต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน ความว่า “เงินพระคลังมหาสมบัติกรุงสยาม ราคา … บาท หอรัษฎากรพิพัฒน์ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ”
ด้านหน้าของเงินกระดาษหลวงทุกชนิดราคาจะมีรูปตราแผ่นดินประกอบด้วยรูปเครื่องขัตติยราชอิสริยยศขนาดต่างๆ กัน มีอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคามากถึง 6 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายู (ตัวอักษรอาหรับ) ภาษาลาว และภาษาเขมร มีข้อความในลักษณะหนังสือสัญญาใช้เงินสดแก่ผู้ถือเงินกระดาษหลวงในทันทีเมื่อนำมาขึ้นเงินที่หอรัษฎากรพิพัฒน์
ความว่า “ตั๋วสำคัญนี้เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติได้ออกโดยพระบรมราชโองการ” และ “ตั๋วสำคัญนี้เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติรับสัญญาจะให้เงินสดแก่ผู้ถือมา ในเวลาที่มาขึ้นที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ กรุงเทพฯ ในทันทีตามราคามีในตั๋วนี้” และมีช่องว่างสำหรับลงเลขหมายที่และวันที่ (ระบุเดือนเมษายน) รวมถึงปีรัตนโกสินทรศกของการออกใช้เงินกระดาษหลวง และช่องว่างสำหรับลงพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้บัญชาราชการหอรัษฎากรพิพัฒน์แทนเสนาบดีในฐานะเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ
ด้านหลังของเงินกระดาษหลวงพิมพ์ข้อความสัญญาว่า รัฐบาลสยามยินยอมรับแลกเงินกระดาษหลวง เป็นเหรียญเงินบาทแก่ผู้นำมาขอขึ้นเงินที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ความว่า “เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สัญญามั่นคงแก่ผู้ได้รับตั๋วนี้ไว้ตลอดทั่วพระราชอาณาจักรสยามรัฐสิมามณฑล ถ้าผู้ใดนำเงินกระดาษฉบับนี้ สำคัญมีทุกอย่างแล้ว มาขึ้นที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ กำหนดเวลา 4 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นแล้ว จะรับใช้เงินให้แก่ผู้นั้นในทันทีเปนเงินสยาม ราคา … บาท” ยกเว้นชนิดราคา 1 บาท, 5 บาท, 10 บาท และ 40 บาท ซึ่งด้านหลังจะไม่ปรากฏตราแผ่นดิน โดยชนิดราคา 40 บาท จะพิมพ์เป็นภาพพระไอราพต (ช้างสามเศียร) หนุนพระเกี้ยวยอด (พระจุลมงกุฎ) อันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หากนำเงินกระดาษหลวงยกขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง ก็จะเห็นลายน้ำบริเวณตรงกลางตั๋วเงินกระดาษเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านข้างครึ่งพระองค์ทรงผินพระพักตร์ไปทางด้านซ้ายในกรอบวงกลมคล้ายกับตราเหรียญเงินบาท โดนมีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษล้อมรอบ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ว่า “รัชกาลที่ 5 กรุงสยาม” และบอกชนิดราคาเป็นเลขไทยอยู่ทางด้านซ้ายและเลข อารบิกอยู่ทางด้านขวา ยกเว้นแต่เพียงชนิดราคา 1 บาทที่ไม่มีลายน้ำแจ้งชนิดราคาระบุไว้
ครั้นรัฐบาลสยามได้รับเงินกระดาษหลวงจากการส่งมอบงวดแรกของบริษัท กีเซคเก แอนด์ เดวรีเอนท์ ใน พ.ศ. 2435 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ก็ทรงตระเตรียมความพร้อมในการนำ เงินกระดาษหลวงออกใช้ ด้วยการทรงร่างพระราชบัญญัติเงินกระดาษหลวง รัตนโกสินทรศก 112 กฎข้อบังคับสำหรับการใช้เงินกระดาษหลวง และประกาศใช้เงินกระดาษหลวง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ที่ประชุมเสนาบดีพิจารณาในเรื่องนี้
หลังจากที่ประชุมเสนาบดีพิจารณาเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติเงินกระดาษหลวง รัตนโกสินทรศก 112 กฎข้อบังคับสำหรับการใช้เงินกระดาษหลวง และประกาศใช้เงินกระดาษหลวง ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) จึงมีกำหนดการให้เริ่มนำเงินกระดาษหลวงออกใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) โดยจะค่อยๆ ผ่อนออกสู่ท้องตลาด เพื่อมิให้เกินตัวเงินที่มีอยู่ในพระคลัง ซึ่งพ่อค้าชาวต่างชาติและราษฎรสามารถนำเงินกระดาษหลวงไปติดต่อขอแลกเหรียญเงินบาทได้ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์และที่ทำการศุลกากร
ก่อนรัฐบาลสยามจะนำเงินกระดาษหลวงออกใช้ได้เพียง 1 วัน กรุงสยามก็เกิดกรณีพิพาทกับรัฐบาลฝรั่งเศส กองทหารฝรั่งเศสได้บุกเข้ายึดด่านบงขลา แขวงเมืองเชียงแตง กับด่านเสียมโบก จึงเกิดการปะทะกันกับกองทหารสยามอยู่ประปราย รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบแองคองสตัง (Inconstant) และเรือรบโคเม็ต (Comete) เข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเกิดปะทะกันกับทหารเรือสยามที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำได้ล่องเข้ามาทอดสมออยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส เมอซิเยอร์ออกุส ปาวี (Auguste Mission Pavie) ราชทูตฝรั่งเศส ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลสยามให้ยินยอมสละสิทธิในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ราชอาณาจักรลาว) พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5,000,000 แฟรงค์
ด้วยแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ ทางการสยามยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ทำให้กรุงสยามต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและต้องชำระค่าปรับเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนที่เท่ากับ 3,000,000 แฟรงค์ (ในขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยน 1 แฟรงค์ เท่ากับ 0.516 บาท) บรรจุลงในถุงๆ ละ 10 ชั่ง ขนขึ้นรถม้าจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติไปมอบให้กับสถานทูตฝรั่งเศส โดยอีกส่วนหนึ่งชำระเป็นดราฟต์ (Draft) สั่งจ่ายที่ธนาคารเมืองไซ่งอน เป็นเงินจำนวน 2,000,000 แฟรงค์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานทางการเงินของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลสยามต้องคอยระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินตรานับแต่นั้นมา จึงมิใช่ช่วงเวลาอันเหมาะสมที่จะนำเงินตราชนิดใหม่ที่พิมพ์ด้วยกระดาษออกใช้ในท้องตลาด อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้รัฐบาลสยามตัดสินใจสั่งยกเลิกการนำเงินกระดาษหลวงออกใช้ โครงการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในกรุงเทพฯ ก็มีอันต้องถูกระงับไปโดยปริยาย เงินกระดาษหลวงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในคลังของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
แม้รัฐบาลสยามจะจำเป็นต้องมีเงินตราให้เพียงพอต่อความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงมีอยู่ แต่ด้วยเหตุที่มีภาระต้องแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก กอปรกับสาขาธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยามให้นำบัตรธนาคารออกใช้ชำระหนี้แทนเหรียญเงินบาทแก่ผู้ที่ยอมรับตามความสมัครใจ ซึ่งมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าชาวต่างชาติ ส่วนราษฎรเองก็ยังไม่เคยชินกับการใช้ตั๋วเงินกระดาษแทนเงินตราโลหะและไม่เชื่อว่ารัฐบาลสยามจะมีเหรียญเงินบาทเท่ากับมูลค่าของเงินกระดาษหลวงตามที่ประกาศไว้ เนื่องจากต้องเสียค่าปรับจำนวนมากให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลสยามจึงยังไม่พร้อมในการดำเนินการนำเงินกระดาษหลวงออกใช้
ราษฎรต่างก็โจษจันกันหนาหูว่า การที่รัฐบาลสยามไม่นำเงินกระดาษหลวงออกใช้นั้น ก็ด้วยเพราะบนแผ่นเงินกระดาษหลวงได้ลงพระนามพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้ทรงเป็นรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะนำเงินกระดาษหลวงออกใช้นั้น พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ซึ่งนับว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการผลิตเงินตราโลหะให้เพียงพอต่อความต้องการทางเศรษฐกิจของกรุงสยามที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คงเป็นปัญหาเรื้อรังเรื่อยมา จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2443 เมื่อมิสเตอร์ ซี. ริเวตต์ คาร์แนค (Charles James Rivett Carnac) ชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ก็ได้รื้อฟื้นความคิดเรื่องการใช้ตั๋วเงินกระดาษแทนเงินตราโลหะขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอแนะความคิดเห็น 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 การจัดทำตั๋วเงินของพระคลังมหาสมบัติ คือ เตรเชอริโน้ต (Treasury Note) สำหรับใช้แทนเหรียญเงินบาทได้ตามกฎหมาย โดยรัฐบาลสยามไม่ต้องเตรียมตัวเงินอย่างอื่นไว้รองรับการขอขึ้นเงิน นอกจากเงินในท้องพระคลัง ซึ่งเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงอยู่มากทีเดียว
วิธีที่ 2 การจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นมา ให้มีเอกสิทธิในการจัดพิมพ์และนำตั๋วเงินออกใช้ โดยมีข้อบังคับไว้ตามสมควร
วิธีที่ 3 รัฐบาลเป็นผู้ออกตั๋วเงิน คือ เคอเรนซิโน้ต (Currency Note) โดยเก็บตัวเงินของผู้ที่มาขอแลก ตั๋วเงินไว้เป็นหลักประกันสำหรับการจ่ายคืน ซึ่งเป็นวิธีที่รัฐบาลอินเดียของอังกฤษใช้ได้ผลมาก่อน
ในที่ประชุมกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเห็นว่า วิธีที่ 3 เป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าวิธีอื่น เนื่องจากมีหลักประกันอันมั่นคง ทำให้มีความพร้อมที่จะรับขึ้นธนบัตรเป็นตัวเงินได้ในทันที ซึ่งจะสร้างความเชื่อถือให้แก่ราษฎร ยังผลให้กิจการมีความมั่นคงถาวรและสำเร็จเรียบร้อยสืบไป จึงเริ่มดำเนินการปรับปรุงแบ่งส่วนงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเสียใหม่ โดยมีดำริที่จะจัดตั้งกรมธนบัตรขึ้นใหม่อีกกรมหนึ่ง สำหรับรับผิดชอบดูแลการออกธนบัตรและรับจ่ายขึ้นเงินธนบัตร เมื่อที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ดำเนินการตามคำกราบบังคมทูลแล้ว รัฐบาลสยามก็ได้มอบหมายให้กรมท่าแจ้งไปยังรัฐบาลอินเดียของอังกฤษ เพื่อขอยืมตัวเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการควบคุมการออกธนบัตรของกระทรวงการคลังอินเดียเข้ามาช่วยงานเป็นผู้วางกฎระเบียบของกรมธนบัตรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
รัฐบาลอินเดียของอังกฤษได้พิจารณาเลือกมิสเตอร์ ดับเบิลยู. เอฟ. เจ. วิลเลียมซัน (W.F.J. Williamson) ชาวอังกฤษ ให้เข้ามาช่วยราชการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2443 เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางการจัดการเกี่ยวกับการออกธนบัตร
มิสเตอร์วิลเลียมซันได้ร่วมกับเจ้าพนักงานฝ่ายสยามในการร่างกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการออกธนบัตร ตลอดจนกำหนดแบบอาคารสถานที่ทำการและรูปแบบธนบัตรตามแบบฉบับของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งยึดหลักตามแบบฉบับของประเทศอังกฤษ จนเป็นผลให้รัฐบาลสยามสามารถจัดตั้ง “กรมธนบัตร” ขึ้นได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445)
ในระหว่างเตรียมการออกธนบัตรอยู่นั้น รัฐบาลสยามก็มีดำริที่จะนำเงินกระดาษหลวงออกใช้เป็นธนบัตร จึงมอบหมายให้มิสเตอร์วิลเลียมซันทำการตรวจสอบจำนวนเงินกระดาษหลวงที่เก็บไว้ในพระคลังมหาสมบัติ แล้วให้ทำรายงานเสนอต่อพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ว่าเงินกระดาษหลวงเป็นเพียงตั๋วเงินที่พระคลังมหาสมบัติออกใช้เป็นตัวเงิน ซึ่งจะออกเท่าใดก็ได้ ไม่มีข้อกำหนด ส่วนตั๋วเงินที่กำลังเตรียมการจะออกใหม่นั้นเป็นตั๋วที่ใช้แทนตัวเงิน จะออกได้ก็ต่อเมื่อมีตัวเงินมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น สำหรับเงินกระดาษหลวงคงจะใช้ยาก เนื่องจากไม่เป็นที่ไว้วางใจของราษฎร และมีสีสันลวดลายต่างๆ กันไปตามแต่ชนิดราคา ย่อมเป็นการยากที่จะสังเกตจดจำ ยิ่งเป็นชาวต่างชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมจะรู้สึกสับสน คำสัญญาในเงินกระดาษหลวงก็ไม่ชัดเจนเพียงพอ กอปรกับถูกเก็บไว้เป็นเวลาช้านาน การเก็บรักษาก็ไม่สู้เข้มงวดนัก อาจมีการสูญหายตกไปอยู่ในมือของผู้ทุจริตก็เป็นได้ จึงเห็นสมควรให้รัฐบาลสยามดำเนินการทำลายเงินกระดาษหลวงเหล่านี้เสีย แล้วสั่งพิมพ์ธนบัตรชนิดใหม่จากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) เช่นเดียวกับธนบัตรของรัฐบาลอินเดีย
เมื่อรัฐบาลสยามทำการตรวจสอบจำนวนเงินกระดาษหลวงเสร็จสิ้นแล้ว ก็มอบหมายให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติดำเนินการทำลาย และให้เก็บไว้เป็นตัวอย่างแต่เพียงเล็กน้อย ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้เงินกระดาษหลวงเหล่านี้จะมีลวดลายวิจิตรบรรจงและมีสีสันงดงามกว่าธนบัตรชุดใดๆ ของกรุงสยาม แต่ก็ต้องประสบกับชะตากรรมอันร้ายกาจอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นั่นเอง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2562