“ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5

ภาพวาดสีน้ำมัน (จากซ้าย) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 ศิลปวัฒนธรรมจัดกิจกรรมสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ในหัวข้อ “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ มาเป็นวิทยากร พร้อมกับคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

อ.ธงทองและคุณธงชัย อธิบายให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับสยามในหลายแขนงไว้มาก ซึ่งเป็นประโยชน์ผู้สนใจศึกษาสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในต้นยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์เรื่อง “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม”

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายเมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระมหานคร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกไปรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประทับคอยอยู่ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2445

“ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” พ.ศ. 2421 แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการศึกษาตำราโบราณและกฎมณเฑียรบาล ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาศาสตร์แขนงต่าง ๆ จากครูอาจารย์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งพระบรมราชชนกทรงกวดขันในฐานะ “ผู้อำนวยการหลักสูตร” ตามที่คุณธงชัยได้เปรียบเปรยไว้

ธรรมเนียม “เจ้านาย” ของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นแตกต่างกับเจ้านายราชวงศ์อื่น ยกตัวอย่างเจ้านายฝ่ายเหนือไม่ว่าจะสืบเชื้อสายมากี่รุ่นจะยังคงรักษาความเป็น “เจ้า”  ไว้เสมอ ในขณะที่เจ้านายของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นแตกต่างออกไป กล่าวคือ เชื้อพระวงศ์ที่ถือเป็นเจ้านายชั้นสุดท้ายคือ “หม่อมเจ้า” และในชั้นรองลงมาคือ “หม่อมราชวงศ์” และ “หม่อมหลวง” นั้นให้ถือเป็นสามัญชน

อ.ธงทอง เน้นย้ำว่าการจะเข้าใจในเรื่องธรรมเนียมเหล่านี้ต้องเข้าใจบริบทของสังคมในขณะนั้น เพราะในพระราชนิพนธ์นี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก แม้แต่การเฉลิมพระยศของวังหน้ากับวังหลวงก็มีรูปแบบต่างกันอีกด้วย อ.ธงทองจึงกล่าวโดยสรุปให้เห็นเป็นภาพกว้าง ๆ โดยแบ่งธรรมเนียมการเฉลิมพระยศเจ้านายออกเป็น 2 ประการคือ “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ”

สกุลยศ

“สกุลยศ” คือพระยศที่ได้มาตั้งแต่ประสูติ หากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่ “เจ้าจอมมารดา” หรือ “สามัญชน” จะได้พระยศชั้น “พระองค์เจ้า” (พระองค์เจ้ายังมีอีกหลายแบบ) และหากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่พระมารดาที่เป็น “เจ้า” จะได้พระยศชั้น “เจ้าฟ้า”

พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้ายังแบ่งออกเป็นอีกสองชั้นคือ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” และ “เจ้าฟ้าชั้นโท” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพระยศของผู้เป็น “แม่” อีกว่ามีสายสัมพันธ์อย่างไรกับพระเจ้าอยู่หัวฯ

หาก “แม่” เป็น “ลูก” ของพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน ๆ กรณีนี้คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี

ซึ่งทั้ง 4 พระองค์เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ดังนั้นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาจึงจัดอยู่ในชั้น “เจ้าฟ้าชั้นเอก” ชาววังจะขานพระนามว่า “ทูลกระหม่อมชาย” หรือ “ทูลกระหม่อมหญิง”

หาก “แม่” เป็น “หลาน” ของพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน ๆ ในกรณีนี้คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ

ซึ่งทั้ง 3 พระองค์เป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 3 ดังนั้นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาจึงจัดอยู่ในชั้น “เจ้าฟ้าชั้นโท” ชาววังจะขานพระนามว่า “สมเด็จชาย” หรือ “สมเด็จหญิง”

พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อิสริยยศ

“อิสริยยศ” คือพระยศที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือการเลื่อนพระยศ เช่น เลื่อนพระยศจากชั้นพระองค์เจ้าเป็นเจ้าฟ้า และการ “ทรงกรม” ซึ่งการทรงกรมนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา การทรงกรมเป็นพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แก่เชื้อพระวงศ์เพื่อเป็นพระเกียรติยศเนื่องจากได้ช่วยเหลืองานราชการแผ่นดิน

การเฉลิมพระยศเจ้านายทั้งแบบ “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ” นั้นไม่ได้ตายตัวหรือยึดติดกับประเพณีและกฎมณเฑียรบาล โดยจะขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยหรือพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล เช่น

รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริจะพระราชทานพระอิสริยยศแก่พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของเจ้าจอมสองพระองค์ที่เป็น “เจ้านายต่างชาติ” คือพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง (เขมร) และเจ้าจอมตนกูสุเบีย (มลายู) จากชั้นพระองค์เจ้าเป็นชั้นเจ้าฟ้า แต่เจ้าจอมทั้งสองก็มิได้มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา

รัชกาลที่ 5 มีพระราชนิยมจากการเฉลิมพระยศในต่างประเทศ โดยการนำชื่อเมืองมาต่อท้ายพระนาม เช่น Prince of Wales ของสหราชอาณาจักร จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยนำชื่อเมืองในสยามมาทรงกรมให้เจ้านาย เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นต้น

รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชวินิจฉัยเลื่อนพระยศเจ้านายในชั้นหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระโอรสหรือพระธิดาในพระเชษฐาของพระองค์ เช่น เลื่อนพระยศหม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และหม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทั้งนี้ อ.ธงทองอธิบายว่าเหตุที่รัชกาลที่ 7 ทรงเลื่อนพระยศเจ้านายนั้น เนื่องจากรัชกาลที่ 7 ทรงเล็งเห็นว่าเจ้านายในสมัยนั้นเหลือน้อยเต็มทีแล้ว

รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชวินิจฉัยทรงกรมเจ้านายให้สอดคล้องกับพระบิดาของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ ทรงกรมล้อกับ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงกรมหลวงสงขลานครินทร์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ทรงกรมล้อกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นพระบิดา

ดังนั้นแล้วธรรมเนียมการเฉลิมพระยศ-พระอิสริยยศในแต่ละรัชกาลจึงเปลี่ยนแปลงไปตามพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาล

ตอนที่ 1

Live เสวนา “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ดำเนินรายการโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพุธที่ 30 มกราคม 2019

ตอนที่ 2

Live เสวนา “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ดำเนินรายการโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (ช่วง 2)

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2019


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2562