เทพอัปสรเป็นใคร? ทำหน้าที่อะไร?

เทพอัปสร
ภาพแกะสลักหินรูปเทพอัปสร (ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2536)

ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีร่องรอยอยู่ในอนิรุทธคำฉันท์ ตอนหนึ่งว่า “นางสนม” ทั้งหลายก็คือ “เทพอัปสร” นี่แหละ ซึ่งล้วนเป็น “ลูกสาวไท้” หมายถึงลูกสาวเจ้านาย และลูกสาวขุนนางที่ถวายตัวเป็น “เทพอัปสร” ดังกาพย์ตอนหนึ่งว่า

๏ ย่อมลูกสาวไท้
สมบูรณบัวใส   วิไลยอาภา
ลออเอววรรณ   ลวาดเอวลา
พิศเพี้ยนพักตรา   เปรียบตรูบูรณ์จันทร์
๏ ยอกรประยม
เหนือเกล้าบังคม   บังคัลเคียมคัล
สาวศรีอัปสร   อาจอับสาวสวรรค์
ถึงถวายกำนัล    กำหนดนานา
๏ บ้างจับระบำ
แออวยนวยรำ   ปรีด์เปรมพักตรา
ยิ้มแย้มโอษฐ   ม่ายเมียงหางตา
เห็นหื่นหรรษา   สุดสิ้นใจรัก
๏ คือเทพอัปสร
สรรพสรรพาภรณ์   เรืองรองตระศักดิ์
เสด็จลงจากฟ้า   ยาตรหล้าเลิศลักษณ์
ค่าใครเชยชัก   ทราบสิ้นสุดสมอง

ภาพแกะสลักหินรูปเทพอัปสร (ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2536)

แต่เรื่องนี้มีคัมภีร์​อธิบายความเป็นมาและหน้าที่ไว้หลายกระบวน ท่านอาจารย์มหาหรีด เรืองฤทธิ์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่อธิบายว่าบรรดาเทพอัปสรเป็นนางฟ้าพวกหนึ่ง รูปสวย เสียงเพราะ จริตกิริยากระชดกระช้อย เดินงามฉลาด ยั่วชายให้เกิดความรักได้ง่าย ๆ แล้วอ้างถึงคัมภีร์รามายณะเล่ากำเนิดของนางอัปสรพวกนี้ว่า

เมื่อพระเป็นเจ้าสั่งเทวดาอสูรใก้กวนเกษียรสมุทรเพื่อได้น้ำอำมฤต สิ่งทั้งหลายอื่น ๆ ผุดขึ้นมาก่อน แล้วสิ่งหนึ่งคืออัปสรมีเครื่องประดับพร้อมสรรพผุดตามขึ้นมา ล้วนเป็นหญิงรูปงาม ๆ รับได้หลายโกฏิ แต่ไม่มีเทวดาหรืออสูรรับไปเป็นคู่ครองเลย จึงเป็นเหมือนของกลางอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อผู้ใดมีบุญวาสนาได้ไปเกิดเป็นเทวดา นางพวกนี้ก็เข้ามาบำเรอมากบ้างน้อยบ้างตามแต่วาสนาบารมี ครั้นผู้นั้นสิ้นบุญวาสนาแล้ว นางก็อันตรธานไป

กล่าวโดยเฉพาะพวกนางอัปสรที่เป็นเมียเทวดาทั่ว ๆ ไป ถึงความประพฤติจะไม่เรียบร้อยสุภาพเหมือนสตรีอื่น แต่นางพวกนี้ก็ไม่เป็นที่รังเกียจของเทพนิกร

ถึงตรงนี้อาจารย์มหาหรีด เรืองฤทธิ์ มีความเห็นใส่วงเล็บไว้ว่า – “หญิงนครโสเภณีของเรารับบำเรอชายเหมือนพวกนางอัปสร” (วรรณคดีไทย เล่ม 1 ของ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ พิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพนายหรีด เรืองฤทธิ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2513)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คือเทพอัปสร สรรพสรรพาภรณ์ เรืองรองตระศักดิ์เสด็จลงจากฟ้ายาตรหล้าเลิศลักษณ์ค่าใครเชยชักทราบสิ้นสุดสมอง” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2561