เมขลา-รามสูร กับ “ขวานรามสูร” ที่ “สนามหลวง 2”

เหตุที่ฟ้าแลบนั้นคนไทยเชื่อว่าเพราะนางมณีเมขลาหรือนางเมขลา (อ่านว่า เมก-ขะ-หลา) ผู้ดูแลรักษามหาสมุทร ถือแก้ววิเศษแกว่งไปแกว่งมาอยู่บนก้อนเมฆ สบเหมาะดีๆ ก็โยนเล่นเหมือนเดาะลูกบอล เก่งกว่านักเล่นกลเป็นร้อยๆ เท่า

แก้วนั้นเปล่งประกายวาววับ แวบ แวบ แวบ แวบ (ไม่ต้องใส่ไม้เอก เพราะอ่านอย่างไรก็แวบอยู่แล้ว) แปล๊บ แปล๊บ แปล๊บ แปล๊บ คนอยู่บนโลกมนุษย์ก็เห็นเป็นสายฟ้า แว็บ วับ แว็บวับ น่าตื่นเต้น น่าตื่นเต้น

ส่วนเสียงคำรามกึกก้องกัมปนาทที่ตามมาหลังฟ้าแลบก็คือเสียงของขวานเพชรที่ยักษ์รามสูร (อ่านว่าราม-มะ-สูน) ขว้างออกไปหวังประหารนางเมขลา เพราะรามสูรเห็นแก้วอันแวววาวแล้วอยากได้

ขอกันดีๆ ไม่ให้ ยื้อแย่งเท่าไรนางเมขลาก็ไม่ยอมให้ เมขลาเล่นบินฉวัดเฉวียนอยู่อย่างนั้นรามสูรโมโห แถมเวียนหัวด้วย ก็ต้องเอาขวานนี่แหละ(วะ) ขว้างออกไป !!

ขวานนี้มีศักดานุภาพนัก ขว้างออกไปทีไรก็เกิดเสียงสนั่นครั่นครื้น อึกทึกกึกก้อง กัมปนาทหวั่นไหว ตกอกตกใจกันทั้งสวรรค์

ภาพเมขลา ตามผนังโบสถ์หลายแห่งจะปรากฏในภาพทศชาติ ช่องพระมหาชนกเสมอ

เวลานั้นเป็นยามวัสสานฤดู ซึ่งแปลว่าหน้าฝน (คำว่าวัสสาน นี่ขอให้นึกถึงคำว่า พรรษา ที่แปลว่าฤดูฝน)ไม่ใช่วสันตฤดู ที่แปลว่าหน้าใบไม้ผลินะครับ-นะคะ-นะฮะ-นะจ๊ะ

ยามวัสสาน เหล่าเทวดาต่างออกมาเล่นน้ำฝนกันอย่างสนุกสนาน ฝ่ายนางเมขลาก็ร่วมออกมาเริงร่ายด้วย รามสูรยักษ์ร้ายอยากได้แก้วไปเล่นบ้างก็เลยทำอย่างที่เล่าไปแล้ว

เปรี้ยง! เปรี้ยง! เปรี้ยง! ครืน! ครืน! ครืน!

เปรี้ยง! ……..พสุธาแทบจะแตกแยก ผู้คนบนโลกมนุษย์วิ่งหลบเข้าที่กำบังกันจ้าละหวั่น คนบางคนหรือวัวบางตัวอยู่กลางทุ่งหลบไม่ทัน ก็ถูกสายฟ้าฟาดจนไหม้เป็นจุณอยู่ที่ตรงนั้น ดูสยดสยองยิ่งนัก

ฝ่ายครูนาฏศิลป์ท่านเห็นสายฟ้า และเสียงคำรามของรามสูรแล้วอดไม่ไหว ก็ประดิษฐ์ท่ารำรามสูร-เมขลา เมขลา-รามสูรขึ้น (เมื่อไรไม่ทราบ)

ข้างเบญจมินทร์ หรือตุ้มทอง โชคชนะ นักแต่งเพลงยุค 2500 ท่านเป็นคนสนุก ก็แต่งเพลงเมขลาล่อแก้ว ด้วยอีกคน ผมเป็นเด็กยุค 2500 เขียนถึงเมขลา-รามสูรแล้วก็ได้ยินเพลงเมขลาล่อแก้ว ของครูเบญจมินทร์ ลอยแว่วมาเป็นจังหวะตะลุงทันที…

เปิดยูทูบดู ได้ยินเสียงเต็มๆ ก็ต้องขอบคุณคนที่นำเพลงนี้มาปล่อยให้คนได้ฟัง เป็นบุญแท้ๆ

“เมขลาสิมาล่อแก้ว รามสูรเห็นแล้วก็ขว้างขวานออกไป…..”

เรื่องรามสูร-เมขลา เป็นเรื่องสนุก คนที่เขียนเรื่องนี้ได้สนุกและได้สาระที่สุดคือ นายนาค ใจอารีย์ ซึ่งผมอยากเห็นหน้าตาและประวัติเหลือเกิน ไม่ทราบท่านเป็นอาจารย์หรือไม่ เข้าใจว่าต้องเป็นคนรู้เรื่องภาษาและวรรณคดีดีมาก

หนังสือชื่อ “อันเนื่องมาแต่วรรณคดี” ของท่านผมซื้อมาอ่านตั้งแต่ปีไหนไม่ทราบ แต่ว่านานมากแน่ๆ องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2507 ขายแค่ 10 บาทเท่านั้น ผมถือเป็นหนังสือชั้นครู เก็บอยู่หัวเตียงหรือพูดง่ายๆ ว่าข้างโต๊ะทำงาน ห้ามใครมาเอาไปเด็ดขาด ติดขัดเรื่องเทพเจ้า ยักษ์มาร เทวดา เมื่อไรก็มาเปิดค้นในหนังสือเล่มนี้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2561 ผมขับรถพาพรรคพวกคือคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ แห่ง สนพ.ต้นฉบับ กับคุณพงษ์ศักดิ์ ศรีสด แห่งเนชั่น ไปสนามหลวง 2 ตรงข้ามวัดศาลาแดง คลองทวีวัฒนา ไม่ได้ไปนานแล้ว ไปถึงก็ตื่นตาตื่นใจกับแผงสินค้าที่มีนับพันแผง คนหนึ่งตรงไปรับรูปเก่า คนหนึ่งมองหาประแจไขท่อประปา ไปเห็นร้านขายเครื่องมือช่างร้านหนึ่ง จัดร้านได้เป็นระเบียบสวยงามน่าถ่ายรูปมาก อดไม่ได้ก็ต้องขอถ่ายรูป และถ่ายตะไบเพื่อประกอบเรื่อง กราง ที่เขียนไปแล้ว แถมซื้อบุ้งเป็นการอุดหนุน

“นี่ไงครับขวานรามสูร คนทำอยู่นครศรีธรรมราช ผมเองก็เป็นคนนครศรีธรรมราช ชื่อบัง…” พี่บังแนะนำสินค้าและแนะนำตัว

“คนเขาเรียกผมว่าพี่บัง แต่ความจริงผมไม่ใช่แขก ผมขายเครื่องมือช่างมาตั้งแต่ยุคคลองหลอด แพร่งสรรพศาสตร์ และ ฯลฯ ที่สุดก็ย้ายมาอยู่ที่นี่…”

พี่บังพูดจาดี คนทำภาพยนตร์บางคนมาเห็นแล้วก็ชอบใจ มาขอเช่าสินค้าไปเข้าฉากหนัง ถ้าสินค้าราคา 100 บาท เอาของมาคืน พี่บังก็ได้ 30 บาท คือ 30 เปอร์เซ็นต์

ขวานรามสูร

ขวานรามสูรทำด้วยไม้และเหล็กอย่างดี นับเป็นงานฝีมือที่พิพิธภัณฑ์ไทยควรซื้อตุนเอาไว้เผื่อจัดแสดง ราคาราว 900-1,000 บาท ลูกขวานที่ผมเขียนไปแล้วก็มีขาย ราคาเท่ากัน

คำว่าขวานรามสูรไม่มีในพจนานุกรม มีแต่ขวานโยน-ขวานปูลู-ขวานหมู-ขวานผ่าฟืน-ขวานผ่าซาก และขวานฟ้า-ขวานหิน

ภาพรามสูร และเมขลา เป็นภาพที่ได้รับความนิยมไม่น้อย จิตรกรโบราณชอบวาดตอนสองคนทะเลาะกันตามผนังโบสถ์หลายแห่ง โดยเฉพาะเมขลานั้น จะปรากฏในภาพทศชาติ ช่องพระมหาชนกเสมอ

เพราะเมื่อเรือของพระมหาชนกอัปปาง หลังจากพระมหาชนกต้องเพียรพยายามว่ายน้ำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน… นางเมขลานี่แหละที่เหาะมาช่วยพระมหาชนกตามที่เราปรารถนา…


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2561