ปัง เป๊ะ เว่อร์!!! แพทย์ชี้! คนไทยมีแนวโน้มป่วย “โรคหมกมุ่นรูปลักษณ์” ในความสวยความงาม

เรื่องความสวยความงามไม่ได้เพิ่งมีเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนแล้วเพียงแต่ยังไม่เด่นชัดอย่างในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงคนไทยที่ชื่นชอบความสวยงามจะว่าไปต่างชาติเองไม่ว่าคนประเทศไหนๆ ก็อยากให้ตัวเองดูดี จากบทความเรื่อง ความงามตามอุดมคติของผู้หญิงมอญ จีน ยุโรป และอื่นๆ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559 กล่าวถึงว่า “แฟชั่นหน้าขาวด้วยเครื่องสำอางนี้มีต้นกำเนิดมาจากกรีกโบราณกว่า 2,000 ปีมาแล้ว และมานิยมในฝรั่งเศสเมื่อราวศตวรรษที่ 14-19 เป็นการทำให้หน้าขาวที่สุดเท่าที่จะทำได้”  ฝรั่ง (โบราณ) คลั่งขาวไม่แพ้คนไทย

ในปัจจุบันตามสื่ีอโฆษณาต่างๆ นับเป็นตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้คนดูเสพความสวยงามตามแบบสังคมกำหนด ไม่ว่าเรื่องผิวขาว หุ่นดี บุคลิคที่ดี ซึ่งตัวกำหนดสิ่งเหล่านั้นออกมาในรูปแบบสื่อโฆษณาที่มีนางแบบ ดาราเป็นพรีเซนเตอร์ปรากฏให้คนได้เสพและสะสมอย่างต่อเนื่องจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมไปแล้ว

(Body Dysmorphic Disorder: BDD) หรือโรคคิดหมกมุ่นในรูปลักษณ์ของตนเองมาเกินไป จนเกิดความทุกข์ เครียด วิตกกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มติชนออนไลน์ (พฤศจิกายน 2560) เคยเผยแพร่ผลวิจัยในข่าว คนโสดระวัง! ผลวิจัยชี้หมกมุ่นรูปลักษณ์เกิน ‘ไม่ปัง-เป๊ะ-เว่อร์’ เสี่ยงป่วย ‘โรคบีดีดี’ สูง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในขณะนั้น กล่าวถึงว่า “ทางจิตวิทยาเชื่อว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมความงาม และความเชื่อทางสังคม ประเด็นที่น่าห่วงอย่างมากและอาจทำให้โรคนี้มีอัตราเพิ่มคือมีการโฆษณาตามสื่อต่างๆจำนวนมาก ทำให้เห็นตัวกระตุ้นอยากให้ตัวเองดูดี หรือที่นิยมพูดกันว่า ปัง เป๊ะ เว่อร์ ความเครียดจากการคิดหมกมุ่นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ลงท้ายด้วยภาวะซึมเศร้า เก็บตัว หลีกหนีสังคม”

นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จ.นครสวรรค์ ในขณะนั้น กล่าวถึง ในช่วง 10 ปี ผลการวิจัยในแถบยุโรป อเมริกา ประชาชนทั่วโลกมีความคิดหมกมุ่นกังวลเกี่ยวกับร่างกายตัวเองแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยเฉลี่ยร้อยละ 34 ในผู้หญิงพบได้ร้อยละ41 ผู้ชายพบร้อยละ 27 เป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มผู้ชายพบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า จะพบมากสุดในกลุ่มคนโสดอายุ 15-30 ปี ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในไทยมีสถิติไม่แตกต่างกัน โดยมีความกังวลปัญหา เกี่ยวกับ จมูก สุขภาพผิว สีผิว สิว ปาน ไฝ

การสังเกตว่าตัวเองเป็นโรคบีดีดีหรือ (Body Dysmorphic Disorder: BDD) หรือไม่ ให้พิจารณาจากความกังวล 1.กังวลว่าคนอื่นจะเห็นความผิดปกติของตัวเอง 2.พยายามปกปิดส่วนนั้นของร่างกายไว้ 3.ส่องกระจกตรวจสอบความผิดปกติบ่อยครัง 4.หลีกเลี่ยงการส่องกระจกหรือเงาสะท้อน 5.พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขความผิดปกติ หากพบแสดงว่าเริ่มเป็นแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์


อ้างอิง

“คนโสดระวัง! ผลวิจัยชี้หมกมุ่นรูปลักษณ์เกิน ‘ไม่ปัง-เป๊ะ-เว่อร์’ เสี่ยงป่วย ‘โรคบีดีดี’ สูง”. มติชนออนไลน์

ฝรั่ง (โบราณ) คลั่งขาวไม่แพ้คนไทย (ในปัจจุบัน) ยอมเสี่ยงตายใช้สารตะกั่วทาหน้า


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2560