ด่าทอ… ว่าด้วยคำที่คนโบราณใช้ด่ากัน(และกัน)

ฉากทะเลาะหนึ่งในละครเรื่องไกรทอง (ภาพจากหนังสือ "ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏสิลป์ชาวสยาม")

ว่าด้วยเรื่องทะเลาะด่าทอกัน ไม่ว่าเข้าสู่ยุคสมัยไหนก็มีปรากฏในทุกพื้นที่ คำด่าเหล่านั้นโดยมากจะชัดเจน ตรงไปตรงมา มีความหมายอยู่ในตัวโดยที่คนถูกด่าไม่ต้องไปนั่งตีความ มีข้อน่าสังเกตอยู่ว่าในบรรดาหนังสือหลักฐานที่มีคำด่าปรากฏให้เราค้นนั้น มักเป็นคำด่าผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

หลักฐานตัวอย่างคำด่าที่เราพบในเอกสารสมัยอยุธยา คือ พระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน มาตรา ๓๖ เช่น ไอ้ (อี) ขี้ตรุ ขี้เมา ขี้ฉ้อ ขี้ขโมย ขี้ข้า ขี้ครอก ฯลฯ ไปจนถึง อีดอกทอง อีเยดซ้อน

Advertisement

คำด่าพวกนี้น่าจะเป็นเพียงตัวอย่างที่ท่านนำมาอ้างในกฎหมายเท่านั้น ในชีวิตจริงคงมีการประดิษฐ์ถ้อยคำสำนวนกันตามใจชอบเท่าที่จะสะใจคนด่า ใครสนใจลองหาบทละครเรื่องนางมโนห์ราครั้งกรุงเก่ามาดูก็ได้ โดยเฉพาะตอนที่นางมโนห์รากับแม่แดกดันและด่าทอกันอุตลุด

มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในบทละครนอกหรือบทเสภาก็มีคำด่าปรากฏอยู่ไม่น้อย หนักบ้างเบาบ้างตามแต่สถานการณ์ เช่น ในขุนช้างขุนแผน นางวันทองด่านางลาวทอง ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ในทำนองเหยียดหยามชาติกำเนิดว่า “ทุดอีลาวชาวดอนค่อนเจรจา อีกินกิ้งก่ากินกบจะตบมัน” หรือในพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ว่า “อีเอยอีคนคด ช่างประชดประชันน่าหมั่นไส้” นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้น

พจนานุกรม อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ มีบรรจุคำด่าสมัยนั้นไว้ไม่น้อย ในหมวด “ไอ้” “อ้าย” และ “อี”

คำจิกหัวเรียกว่า “อี” นั้น มีคำอธิบายว่า “เปนคำหยาบสำหรับเรียกชื่อหญิงคนยาก, ที่เปนหญิงทาษีนั้น” ส่วน “ไอ้” หรือ “อ้าย” อธิบายว่า “…เดี๋ยวนี้เขาเรียกชื่อผู้ชายเปนทาษเปนต้น” ความหมายที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ไว้ก็คือ ที่จริงแล้วคำว่า “ไอ้” (หรือ “อ้าย”) หรือ “อี” นั้นในสมัยก่อนยังใช้เป็นคำเรียกคนที่ต้องโทษด้วย

ตัวอย่างคำด่าใน อักขราภิธานศรับท์ ที่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับในพระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน เช่น “อีดอกทอง” “ไอ้บ้า” “ไอ้ชาติข้า” “อีขี้ข้า” “อีร้อยซ้อน” ส่วนมากนอกนั้นล้วนเป็นคำใหม่ๆ ที่คนเรียบเรียงพจนานุกรมฉบับนี้ไปรวบรวมมาจำนวนหนึ่งจากภาษาชาวบ้านร้านถิ่น บางคำถ้าเอามาใช้ในยุคนี้น่าจะไม่เข้าใจกันแล้ว เช่น “อีแดกแห้ง” “อีร้อยซ้อน” “อีทิ้มขึ้น” เป็นต้น แต่ก็มีอีกหลายคำที่ยังคงเป็นที่เข้าใจหรือยังใช้กัน เช่น “อีผีทะเล” “อีชาติชั่ว” “อีเปรต” “ไอ้ถ่อย” “ไอ้ระยำ” “ไอ้จังไร”

และที่เป็นอมตะมาตลอดก็คือ “อีดอกทอง” ส่วน “อีห่าฟัด” (หรือ “ไอ้ห่าฟัด” รวมไปถึงคำตระกูล “ห่า” ทั้งหลาย ที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในอักขราภิธานศรับท์ เช่น “ห่าจิก” “ห่าราก” “ห่ากิน”) คนชนบทรุ่นเก่าๆ ยังใช้กันอยู่

คำด่านั้นสะท้อนค่านิยมตามยุคสมัยของสังคม ไม่ว่าจะเรื่องสถานะชนชั้น เรื่องเพศ เรื่องอำนาจ ฯลฯ เอาคำด่าของสังคมหนึ่งวัฒนธรรมหนึ่งไปด่าคนในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง คนที่ถูกด่านอกจากจะไม่เจ็บแสบแล้วบางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนด่ากำลังพูดเรื่องอะไร


อ้างอิง :

1. “พระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน”.  ในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑. โดยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

2. อักขราภิธานศรับท์. โดย หมอปรัดเล. คัดแปลโดย อาจารย์ริย์ทัด


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2560