ตามรอยปริศนา “สะพานหัน” หันได้อย่างไร? เคยมีที่กรุงเก่า?

สะพานหันในสวนบางแวก ซ้ายสุดเห็นก้อนหินถ่วงปลายไม้ให้ยกหันได้สะดวก ทางขวาสุดเห็นไม้ยาวพาดรั้ว เป็นไม้สำหรับเกี่ยวสะพานมาหายามที่อยู่คนละฟาก (ภาพโดย เอนก นาวิกมูล)

มีหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงสะพานหัน ไม่บอกว่าสะพานหันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันหนึ่งผู้เขียนไปอ่านใมโครฟิมล์ ในหอสมุดแห่งชาติ พบว่านายกุหลาบเคยกล่าวถึงประวัติสะพานหันไว้ในสยามประเภท เล่ม 2 ตอน 14 วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน ร.ศ. 118 พ.ศ. 2442 โดยเขียนแทรกอยู่ในเรื่อง “ต้นเหตุภานเหล็กมีในกรุงสยาม” เก็บความมาเรียบเรียงใหม่ให้อ่านเข้าใจง่ายดังนี้

สะพานหันเคยมีที่กรุงเก่า สร้างข้ามคลองตะเคียน และคลองวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น

Advertisement

ในกรุงเทพฯ ร.1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานทำสะพานปักเสา “มีกระดานข้างบนหันได้” สำหรับคนเดินข้ามคลองรอบกรุงตรงแถวถนนหน้าวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิเข้ามาในกำแพงพระนคร ถ้ามีเรือเสาเข้ามาจากทะเล จะเข้าคลองนั้นก็จะได้หันหลีกให้เรือเสาลอดเข้าออกได้เหมือนเช่นสะพานหันที่กรุงเก่า

เมื่อสะพานหันชำรุด เจ้าพนักงานจึงทำสะพานขึ้นใหม่ในต้นรัชกาลที่ 2 ทว่าเป็นเพียงสะพานปูกระดานสองแผ่นเช่นสะพานธรรมดา หันไม่ได้ แต่แม้กระนั้นคนก็ยังเรียกสะพานนั้นว่าเป็น “สะพานหัน”

สมัย ร.4 มีการสร้างสะพานเหล็กตรงสะพานหันเดิมพร้อมๆ กับสะพานเหล็กในทีี่อื่นๆ แต่คนคงเรียกสะพานใหม่ตรงนั้นว่าสะพานหันอีก ไม่ยอมเปลี่ยนไปเรียกเป็นอื่นเลย นับว่าชื่อสะพานหันอยู่ทนมาก

นายกุหลาบกล่าวประวัติสะพานหันไว้เพียงแค่นี้ ไม่ได้บอกว่า ต่อมาสะพานหันกลายรูปไปอีก แสดงว่าสะพานหันแบบที่มีร้านค้าอยู่ข้างบน อย่างที่เห็นตามโปสการ์ดและหนังสือสมัย ร.5 เป็นสะพานแบบที่สร้างหลัง พ.ศ. 2442 สะพานอย่างที่ว่านี้ มักกล่าวกันว่าเหมือนสะพานริอัลโตที่เมืองเวนิซ

ปัจจุบันสะพานหันเป็นแค่สะพานคอนกรีตสั้นๆ หาความสวยงามไม่ได้ สะพานแบบริอัลโต ถูกรื้อทิ้งไปเสียเมื่อปีใดยังค้นไม่ได้

ผู้เขียนสงสัยเรื่องสะพานหันมานาน ประวัติศาสตร์สะพานหัน ค้นได้แล้วแต่สะพานหัน หันได้อย่างไรเป็นปัญหาติดขัดมาตลอด สะพานหันสูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีใครพรรณนาถูก

คุณชายสไบหันสะพานให้ดู (ภาพโดย เอนก นาวิกมูล)

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2541 ผู้เขียนพายเรือเที่ยวคลองรอบสวนข้างบ้าน คลองนี้อยู่ละแวกวัดชัยฉิมพลี พอเลี้ยวจากคลองหลังบ้านไปสู่อีกคลองเท่านั้นก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังหันสะพานข้ามคลองอยู่ ผู้เขียนร้องอย่างตื่นเต้นว่า “นี่ไงสะพานหัน สะพานหันโว้ย” แล้วผู้เขียนก็ยกกล้องขึ้นถ่ายอย่างรวดเร็ว

สะพานหันหันได้อย่างไร สะพานหันหันได้ก็เพราะมีแกน มีของหนักเช่นหินถ่วงให้หมุนได้ง่ายข้างหนึ่ง

“ผมเห็นพี่พายไป-มา นานแล้ว แต่พี่ไม่เห็นสะพานเพราะผมหันเก็บข้างคลอง” คุณสไบ ปิตะนีรวัตร์ เจ้าของสะพานกล่าวได้อย่างอารมณ์ดี “ผมเพิ่งสร้างสะพานหันนี้เมื่อต้นปีที่แล้ว อาศัยฟังจากแม่แล้วผมก็มาคิดเอาเองกว่าจะทำเสร็จก็เสียเวลาไม่น้อยเหมือนกัน”

ชายสไบให้ความรู้ต่อไปว่า แต่ก่อนในสวนเคยมีสะพานหันหลายแห่ง แต่เลิกใช้กันเสียหมด จึงไม่มีให้เห็น ทางอีสานก็นัยว่ามีสะพานหันแต่คนอีสานเรียกว่า “สะพานขาเดียว” เพราะไม่ต้องปักเสาสองฟาก สะพานขาเดียวมีที่อำนาจเจริญ เป็นต้น

สะพานหันของชายสไบมีไม้ยาวสำหรับเกี่ยวสะพานให้หันไปหายามข้ามฝั่งไปแล้วด้วย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้าเอาไม้มาเกี่ยวสะพานไปใช้ง่ายๆ เขาจึงคิดทำห่วงคล้องกุญแจไว้ที่ปลายสะพานอีกจุก นับว่าช่างคิดไม่เบา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2560